รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 22 - 26 ตุลาคม 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 29, 2012 10:11 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary

Indicators this week
  • ผลการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือนก.ย.55 สามารถเบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 227.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • การส่งออกในเดือน ก.ย.55 ขยายตัวที่ร้อยละ 0.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การนำเข้า หดตัวที่ร้อยละ -7.7
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ก.ย.55 หดตัวที่ร้อยละ -13.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ขยายตัวที่ร้อยละ 8.9
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งเดือน ก.ย.55 ขยายตัวที่ร้อยละ 67.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 39.4
  • GDP เกาหลีใต้ ในไตรมาสที่ 3 ปี 55 ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 12 ไตรมาสที่ร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.2 จากไตรมาสก่อนหน้า
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Markit's Comp. PMI) สหภาพยุโรป เดือน ต.ค. 55 ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 39 เดือนที่ระดับ 45.8 จุด
  • การส่งออกญี่ปุ่น เดือน ก.ย.55 หดตัวต่ำสุดในรอบ 17 เดือนที่ร้อยละ -10.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • วันที่ 25 ต.ค.55 ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 3.50
Indicators next week
 Indicators                           Forecast            Previous
Oct: Headline Inflation (%YoY)          3.4                  3.4
  • โดยมีสาเหตุหลักจากราคาผักที่เร่งตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากเป็นเทศกาลกินเจ นอกจากนี้ จากเทศกาลกินเจยังส่งผลให้ราคาเนื้อสัตว์มีการปรับตัวลดลง รวมถึงราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศยังปรับตัวลดลงเล็กน้อยตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก จึงเป็นการลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้ออีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะขยายตัวที่ร้อยละ 0.18 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (%mom)
Economic Indicators: This Week
  • ผลการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือนก.ย. 55 สามารถเบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 227.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในเดือนก.ย. 55 มีการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบัน 217.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.9 แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 173.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.9 (2) รายจ่ายลงทุน 44.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.2 ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญ ได้แก่ รายจ่ายเพื่อชำระหนี้ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ 49.8 พันล้านบาท รายจ่ายของกระทรวงกลาโหม 8.1 พันล้านบาท รายจ่ายเงินอุดหนุนของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 6.8 พันล้านบาท เป็นสำคัญ สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณจากปีก่อนเบิกจ่ายได้ 9.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7 ทั้งนี้ ทั้งปีงบประมาณ 2555 สามารถเบิกจ่ายงบประมาณทั้งสิ้น 2,295.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 โดยการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีงปม.เบิกจ่ายได้ 2,148.5 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราการเบิกจ่ายร้อยละ 90.3 ของกรอบวงเงินงปม.55
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ก.ย. 55 พบว่า ดุลงบประมาณเกินดุลจำนวน 28.6 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุลจำนวน 36.3 พันล้านบาท จึงส่งผลให้ดุลเงินสดก่อนกู้เกินดุลจำนวน 64.9 พันล้านบาท ทั้งนี้ ฐานะการคลัง ณ สิ้นปีปีงบประมาณ 55 งบประมาณขาดดุลจำนวน -314.7 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุลจำนวน 9.6 พันล้านบาท ทำให้รัฐบาลขาดดุลเงินสดก่อนกู้จำนวน -305.0 พันล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นปีงบประมาณ 55 อยู่ที่ 560.3 พันล้านบาท
  • การส่งออกในเดือน ก.ย. 55 มีมูลค่าอยู่ที่ 20,788.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้งที่ร้อยละ 0.2 หลังจากหดตัวต่อเนื่อง 3 เดือน สาเหตุมาจากมีการส่งออกทองคำเป็นสำคัญ โดยขยายตัวสูงถึงร้อยละ 1,704.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และถ้าหากหักทองคำแล้วนั้น การส่งออกหดตัวที่ร้อยละ -7.50 ด้านมิติสินค้าหลัก พบว่าหดตัวเกือบทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรกรรมที่หดตัวร้อยละ -28.5 จากการหดตัวของข้าวเป็นสำคัญ รวมถึงสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร สินค้าแร่และเชื้อเพลิงที่หดตัวเช่นเดียวกันที่ร้อยละ -13.4 และ -11.0 ตามลำดับ ในขณะที่สินค้าในภาคอุตสาหกรรมกลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้งที่ร้อยละ 7.2 หลังจากหดตัวในเดือนก่อนหน้า โดยมีสาเหตุจากการขยายตัวดีของหมวดยานยนต์ที่ร้อยละ 9.5 อย่างไรก็ตาม สินค้าในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ยังคงหดตัวที่ร้อยละ -14.5 และ -6.1 ตามลำดับ ทั้งนี้ราคาส่งออกขยายตัวที่ร้อยละ 0.2 และปริมาณการส่งออกขยายตัวที่ร้อยละ 0.0
  • การนำเข้าในเดือน ก.ย. 55 มีมูลค่าอยู่ที่ 19,635.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวที่ร้อยละ -7.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน ของปีก่อน จากการหดตัวของสินค้าวัตถุดิบที่ร้อยละ -36.3 ประกอบกับสินค้าหมวดยานยนต์ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 34.1 ในขณะที่สินค้าเชื้อเพลิงขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 21.1 และสินค้าทุนที่ขยายตัวเร่งขึ้นเช่นกันที่ร้อยละ 25.9 จากการนำเข้าเพื่อทดแทนเครื่องจักรที่ได้รับความเสียหายจากปัญหาอุทกภัยเมื่อปลายปี 54 และเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคที่ขยายตัวกลับมาเป็นบวกที่ร้อยละ 1.6 หลังจากหดตัวในเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ ราคานำเข้าหดตัวที่ร้อยละ -0.2 และปริมาณการนำเข้าหดตัวเช่นเดียวกันที่ร้อยละ -7.5 และจากการที่มูลค่าการส่งออกสูงกว่ามูลค่าการนำเข้าทำให้ดุลการค้าในเดือน ก.ย. 55 เกินดุลที่ 1,15.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ก.ย. 55 หดตัวที่ร้อยละ -13.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ MPI ณ ไตรมาส 3 ปี 55 หดตัวร้อยละ -10.2 ต่อเนื่องจากไตรมาส 2 ที่หดตัวร้อยละ -1.5 โดยมีปัจจัยสำคัญจากการหดตัวของการผลิต Hard Disk Drive ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เสื้อผ้าสำเร็จรูป และผลิตภัณฑ์อาหารประเภทกุ้งแช่แข็งและอาหารทะเลกระป๋อง โดยมีสาเหตุสำคัญจากปัจจัยภายในประเทศที่การผลิตส่วนหนึ่งยังไม่ฟื้นตัวกลับมาเต็มที่ และปัจจัยต่างประเทศจากคำสั่งซื้อที่ชะลอลงโดยเฉพาะจากประเทศคู่ค้าหลักๆ ได้แก่ กลุ่มยูโร จีน ญี่ปุ่น และอาเซียน
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือน ก.ย. 55 ขยายตัวที่ร้อยละ 8.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 18.9 ตามการลดลงของผลผลิตในหมวดพืชผล และหมวดปศุสัตว์เป็นสำคัญ โดยเฉพาะข้าวและมันสำปะหลัง ที่ผลผลิตอยู่ในช่วงปลายฤดูกาลเก็บเกี่ยว ในขณะที่ผลผลิตปศุสัตว์ ขยายตัวชะลอลงจากผลผลิตไก่เนื้อที่ขยายตัวร้อยละ 2.8 จากเดือนก่อนที่ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 10.4 ส่วนผลผลิตยางพาราและปาล์มน้ำมัน แม้ว่าจะขยายตัวในอัตราชะลอลงจากเดือนก่อน แต่ผลผลิตยังคงออกมาอย่างต่อเนื่อง ตามพื้นที่เก็บเกี่ยวที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกปี 55 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ขยายตัวร้อยละ 6.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ ในเดือน ก.ย. 55 หดตัวร้อยละ -11.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -12.7 ตามการลดลงของราคาผลผลิตสำคัญ โดยเฉพาะยางพาราและปาล์มน้ำมันเป็นสำคัญ โดยมีสาเหตุหลักมาจาก 1) ปัจจัยฐานสูงในปี 54 ที่ราคาสินค้าเกษตรขยายตัวในอัตราเร่ง 2) อุปสงค์ในตลาดโลกที่ลดลง ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัว จากปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรปที่ส่งผลกระทบไปยังประเทศคู่ค้าหลักของไทยเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกปี 55 ดัชนีราคาสินค้าเกษตร หดตัวร้อยละ -11.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ก.ย. 55 มีจำนวน 68,282 คัน หรือขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 67.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 71.7 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่าขยายตัวร้อยละ 3.7 โดยได้รับปัจจัยบวกจาก 1. การฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง 2. การเร่งเพิ่มกำลังการผลิตของค่ายรถยนต์ต่างๆ เพื่อตอบสนองอุปสงค์ของรถยนต์ที่ยังคงขยายตัวในอัตราเร่ง และ 3. จากนโยบายสนับสนุนของภาครัฐ ในการสนับสนุนการซื้อรถคันแรก โดยผู้บริโภคได้รับการคืนภาษีสูงถึง 1 แสนบาท สำหรับรถที่มีการซื้อจนถึง 31 ธันวาคม 55 ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกปี 55 ยอดขายรถยนต์นั่งขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 48.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนก.ย. 55 มีจำนวน 64,592 คัน หรือขยายตัวร้อยละ 39.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 57.4 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากได้มีการเร่งส่งมอบรถยนต์จำนวนมากไปแล้วในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาหลังจากสถานการณ์การผลิตเข้าสู่ภาวะปกติ จากเหตุการณ์น้ำท่วมในช่วงปลายปี 54 อย่างไรก็ดี ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ ถือได้ว่ายังคงขยายตัวในระดับสูง โดยมีปัจจัยบวกจาก 1. การฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง และ 2. ความต่อเนื่องของนโยบายสนับสนุนของภาครัฐ ในการกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกปี 55 ยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 48.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
Economic Indicators: Next Week
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ต.ค. 55 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 3.4 อยู่ในระดับเดียวกับเดือนก่อนหน้า โดยมีสาเหตุหลักจากราคาผักที่เร่งตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากเป็นเทศกาลกินเจ นอกจากนี้ จากเทศกาลกินเจยังส่งผลให้ราคาเนื้อสัตว์มีการปรับตัวลดลง รวมถึงราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศยังปรับตัวลดลงเล็กน้อยตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก จึงเป็นการลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้ออีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะขยายตัวที่ร้อยละ 0.18 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (%mom)

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal
  • ยอดขายบ้านมือสอง เดือน ก.ย. 55 อยู่ที่ 4.75 ล้านหลัง (annual rate) ขยายตัวร้อยละ 2.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า หรือหดตัวร้อยละ -1.7 จากเดือนก่อนหน้า ยอดขายบ้านใหม่เดือน ก.ย. 55 อยู่ที่ 389,000 หลัง (annual rate) หรือขยายตัวสูงสุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 53 ที่ร้อยละ 5.7 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว)
Eurozone: worsening economic trend
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Markit's Comp. PMI) เดือน ต.ค. 55 (ตัวเลขเบื้องต้น) ปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 39 เดือนที่ระดับ 45.8 จุด จากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (Markit's Mfg. PMI) เดือน ต.ค. 55 (ตัวเลขเบื้องต้น) ที่ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 45.3 จุด ขณะที่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ (Markit's Serv. PMI) เดือน ต.ค. 55 (ตัวเลขเบื้องต้น) ปรับ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 46.2 จุด สะท้อนการหดตัวในภาคการผลิตนับตั้งแต่เดือน ก.ย. 54 จากผลกระทบของวิกฤตหนี้สาธารณะยูโรโซนที่ยังคงเรื้อรังต่อเนื่องขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ต.ค. 55 อยู่ที่ระดับ -25.6 จุด โดยปรับเพิ่มขึ้น 0.3 จุดจากเดือนก่อนหน้า
Japan: worsening economic trend
  • มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ย. 55 หดตัวต่ำสุดในรอบ 17 เดือนที่ร้อยละ -10.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 จากการส่งออกไปยังยูโรโซน และจีนที่หดตัวต่อเนื่อง สะท้อนว่ากรณีพิพาทเกาะเซนกากุ/เตียวหยูกับจีน รวมถึงการชะลอลงของเศรษฐกิจจีน ส่งผลกระทบต่อการส่งออกญี่ปุ่นชัดเจน มูลค่าการนำเข้า เดือน ก.ย. 55 กลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 4.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทำให้ดุลการค้าขาดดุลลดลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ -5.6 แสนล้านเยน
Taiwan: improving economic trend
  • คำสั่งซื้อสินค้าส่งออก เดือน ก.ย. 55 ขยายตัวเร่งขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน ที่ร้อยละ 1.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากคำสั่งซื้อไปยังจีน และสหรัฐที่กลับมาขยายตัวเร่งขึ้น ขณะที่คำสั่งซื้อสินค้าจากยุโรปยังคงหดตัวต่อเนื่อง อัตราการว่างงาน เดือน ก.ย. 55 ทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 4.3 ของกำลังแรงงานรวม โดยจำนวนผู้มีงานทำเพิ่มขึ้น 16,000 คน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 55 ขยายตัวเร่งขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 55 มาอยู่ที่ร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สะท้อนอุปสงค์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบาง
China: worsening economic trend
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม จัดทำโดย HSBC (ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน ต.ค. 55 อยู่ที่ระดับ 49.1 จุด เพิ่มขึ้นสูงสดในรอบ 3 เดือนแต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ติดต้อกัน 12 เดือน บ่งชี้ภาคอุตสาหกรรมของจีนที่หดตัวต่อเนื่อง
Philippines: mixed signal
  • วันที่ 25 ต.ค. 55 ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 มาอยู่ที่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 3.50 จากความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะที่แรงกดดันจากเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ มูลค่าการนำเข้า เดือนส.ค. 55 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ร้อยละ -0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการชะลอลงของการนำเข้าเครื่องมือเครื่องจักร และอุปกรณณ์ขนส่งสื่อสารเป็นสำคัญ
Singapore: worsening economic trend
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือน ก.ย. 55 อยู่ที่ร้อยละ 4.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สูงกว่าคาดการณ์ตลาด และเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 3.9 จากราคาขนส่งภาคเอกชน และราคาเช่าบ้านที่เร่งขึ้นขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 55 หดตัวร้อยละ -2.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการหดตัวของการผลิตอิเล็กทรอนิกส์ และเวชภัณฑ์เป็นสำคัญ
Australia: mixed signal
  • อัตราเงินเฟ้อ ไตรมาส 3 ปี 55 อยู่ที่ร้อยละ 2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 1.2 ส่วนหนึ่งจากการที่ภาครัฐเริ่มมีการจัดเก็บภาษีคาร์บอน ซึ่งส่งผลให้ระดับราคาในหมวดไฟฟ้าและก๊าซปรับเพิ่มขึ้น
Hong Kong: improving economic trend
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือน ก.ย. 55 อยู่ที่ร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 3.7 จากราคาค่าเช่าบ้านที่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ราคาในหมวดอาหารเริ่มชะลอลง มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ย. 55ขยายตัวร้อยละ 15.2 เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.6 จากการส่งออกไปยังจีนและสหรัฐฯ ที่ปรับตัวดีขึ้น มูลค่าการนำเข้าเดือน ก.ย. 55 ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 14.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Malaysia: mixed signal
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือน ก.ย. 55 อยู่ที่ร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ต่ำสุดในรอบ 2 ปี 7 เดือน จากการชะลอลงของราคาอาหาร ตามมาตรการควบคุมราคาสินค้าจำเป็นของรัฐบาล
South Korea: mixed signal
  • GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 55 ขยายตัวต่ำสุดในรอบ 12 ไตรมาสที่ร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.2 จากไตรมาสก่อนหน้า (หลังขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) โดยการส่งออกยังคงขยายตัว ขณะที่การลงทุนหดตัวต่อเนื่อง
Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับตัวลดลงต่อเนื่องมาอยู่ระดับ ต่ำกว่า 1,300 จุด โดย ณ วันที่ 25 ต.ค. 55 ดัชนีฯ ปิดที่ระดับ 1,297.39 จุด โดยดัชนีฯ ได้มีการปรับตัวลดลงค่อนข้างแรงในช่วงระหว่างสัปดาห์ และกลับมาปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในวันที่ 25 ต.ค. 55 จากแรงเทขายเพื่อทำกำไรของนักลงทุนต่างชาติ นอกจากนี้ ดัชนีฯที่ลดลงดังกล่าวยังได้รับผลกระทบจากเครื่องชี้เศรษฐกิจและการคลังของยูโรโซนที่ออกมาไม่ดีนัก โดยระหว่างวันที่ 22 - 25 ต.ค. 55 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ -6,638.9 ล้านบาทผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นปรับตัวลดลง ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรระยาวปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากสัปดาห์ก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่นักลงทุนมีการปรับพอร์ตเพื่อเข้าประมูลพันธบัตรรัฐบาลรุ่น Benchmark ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 22-25 ต.ค. 55 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 3,314.8 ล้านบาท
  • ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย โดย ณ วันที่ 25 ต.ค 55 ปิดที่ระดับ 30.67 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อนร้อยละ -0.16 สอคล้องกับค่าเงินสกุลหลักและภูมิภาค ยกเว้นค่าเงินวอน และค่าเงินหยวนที่แข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าร้อยละ 0.60 และ 0.14 ตามลำดับ ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงน้อยกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ ของคู่ค้า ทำให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อนเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.19
  • ราคาทองคำปรับตัวลดลง โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 25 ต.ค. 55 ปิดที่ 1,711.19 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ลดลงจากต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,720.40 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ