รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 2 พฤศจิกายน 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 2, 2012 11:58 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 2 พฤศจิกายน 2555

Summary:

1. พาณิชย์เผย เงินเฟ้อเดือน ต.ค. 55 อยู่ที่ร้อยละ 3.32

2. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมจีนเดือน ต.ค. 55 ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 50.2

3. มูลค่าการส่งออกเกาหลีใต้เดือน ต.ค. 55 ขยายตัวร้อยละ 1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Highlight:

1. พาณิชย์เผย เงินเฟ้อเดือน ต.ค. 55 อยู่ที่ร้อยละ 3.32
  • ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค เดือน ต.ค. 55 อยู่ที่ระดับ 116.82 จุด ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือน ต.ค. 55 อยู่ที่ร้อยละ 3.32 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.13 จากเดือนก่อนหน้า ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วง 10 เดือนของปี 55 อยู่ที่ร้อยละ 2.99 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เดือน ต.ค. 55 อยู่ที่ร้อยละ 1.83 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.02 จากเดือนก่อนหน้า ทำให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในช่วง 10 เดือนของปี 55 อยู่ที่ร้อยละ 2.15 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สศค. วิเคราะห์ว่า สาเหตุที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น เป็นผลมาจากดัชนีหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ที่ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 3.35 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยสินค้าสำคัญที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นคือ ผัก ผลไม้ เครื่องประกอบอาหาร อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน เนื่องจากเทศกาลกินเจที่เกิดขึ้นในช่วงเดือน ต.ค. 55 ส่งผลให้อุปสงค์พืชผักปรับตัวสูงขึ้นเป็นสำคัญ ในขณะที่ดัชนีราคาหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 3.28 จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นหลัก ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ว่า ทั้งปี 55 นี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน จะอยู่ที่ร้อยละ 3.3 และ 2.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ (คาดการณ์ ณ ก.ย. 55)
2. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมจีนเดือน ต.ค. 55 ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 50.2
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมจีนที่จัดทำโดยทางการ (NBS Mfg. PMI) เดือน ต.ค. 55 ปรับตัวสูงขึ้นจากระดับ 49.8 จุดในเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 50.2 จุด ซึ่งอยู่เหนือระดับ 50 จุด สะท้อนถึงภาคการผลิตภาคอุตสาหกรรมจีนที่กลับมาขยายตัว และส่งผลให้เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 55 ซึ่งสอดคล้องกับตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อจีนที่จัดทำโดย HSBC เดือน ต.ค. 55 ที่ปรับตัวสูงขึ้นมาที่ระดับ 49.5 จุด แม้จะยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 จุด แต่สะท้อนสัญญาณการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมจีน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ภาคการผลิตของจีนนั้นเริ่มส่งสัญญาณดีขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากกรณีพิพาทหมู่เกาะเตียวหยู/เซนกากุ ระหว่างจีนและญี่ปุ่น ส่งผลให้ทั้งสองประเทศต่างหันมาผลิตเพื่อตอบสนองการบริโภคภายในประเทศมากขึ้นทดแทนการนำเข้าสินค้าระหว่างกัน ผนวกกับตัวเลขสำคัญทางเศรษฐกิจจีนที่ปรับตัวดีขึ้นนับตั้งแต่เดือน ก.ย. 55 เป็นต้นมา บ่งชี้จากทั้งผลผลิตภาคอุตสาหกรรม มูลค่าการส่งออก และ ยอดค้าปลีก เดือน ต.ค. 55 ขยายตัวร้อยละ 9.2 4.5 และ13.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ อีกทั้ง อัตราเงินเฟ้อจีนที่อยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 2.0 ซึ่งเอื้อต่อการบริภาคภาคเอกชน ปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวน่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มฟื้นตัวในไตรมาส 4 ปี 55 นี้ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจจีนปี 55 จะขยายตัวร้อยละ 7.8 (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ย. 55)
3. มูลค่าการส่งออกเกาหลีใต้เดือน ต.ค. 55 ขยายตัวร้อยละ 1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • มูลค่าการส่งออกเกาหลีใต้ เดือน ต.ค. 55 ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือนที่ร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -2.0 ขณะที่การนำเข้าเดือน ต.ค. 55 ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 8 เดือนมาอยู่ที่ร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -6.1 ทั้งนี้ มูลค่าส่งออกที่ขยายตัวดีและอยู่ในระดับสูงกว่ามูลค่านำเข้า ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุลสูงสุดในรอบ 4 เดือนที่ 3.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การขยายตัวเร่งขึ้นของภาคการส่งออกเกาหลีใต้ดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวเร่งขึ้นของการส่งออกไปยังตลาดสำคัญ อาทิ จีนและสหภาพยุโรป ซึ่งสอดคล้องกับผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือน ก.ย. 55 ที่ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนหน้า มาอยู่ที่ร้อยละ 0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน อย่างไรก็ตาม ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมเดือน ต.ค. 55 อยู่ที่ระดับ 47.4 สะท้อนการหดตัวในภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 จากดัชนีคำสั่งซื้อสินค้าส่งออก ซึ่งปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 10 เดือนมาอยู่ที่ระดับ 47.0 บ่งชี้อุปสงค์นอกประเทศที่ยังคงเปราะบาง ทั้งนี้ คาดว่าปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกรวมถึงเศรษฐกิจเกาหลีใต้โดยรวมในระยะต่อไป โดย สศค. คาดว่าในปี 55 เศรษฐกิจเกาหลีใต้จะขยายตัวร้อยละ 3.3 (คาดการณ์ ณ ก.ย. 55)

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ