เอกสารแนบ: รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนกันยายน 2555 และไตรมาสที่ 3 ของปี 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 29, 2012 14:00 —กระทรวงการคลัง

เอกสารแนบ

"เศรษฐกิจไทยในเดือนกันยายน 2555 และไตรมาสที่ 3 ปี 2555 ได้รับแรงสนับสนุนหลักจากการใช้จ่ายในประเทศทั้งจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวได้ดี ขณะที่การส่งออกและภาค การผลิตอุตสาหกรรมที่เน้นการส่งออกยังคงมีสัญญาณชะลอตัว สะท้อนผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจยูโรโซนและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก"

1. การบริโภคภาคเอกชนในเดือนกันยายนและไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 ยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือนกันยายน 2555 ขยายตัวร้อยละ 32.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 9.5 ทำให้ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 ขยายตัวร้อยละ 20.2 เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 6.3 ขณะที่ปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในเดือนกันยายน 2555 พบว่าขยายตัวร้อยละ 0.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -1.3 ทำให้ไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 ขยายตัวร้อยละ 3.3 ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 7.5 ขณะที่การบริโภคสินค้าคงทนสะท้อนได้จากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนกันยายน 2555 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 67.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 71.7 ทำให้ไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 ขยายตัวร้อยละ 78.6 จากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 77.0 โดยได้รับปัจจัยบวกจากการเพิ่มกำลังการผลิตของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ต่างๆ เพื่อตอบสนองอุปสงค์ของรถยนต์ที่ยังคงขยายตัวในอัตราเร่ง และความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือนกันยายน 2555 หดตัวร้อยละ -1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -5.7 ทำให้ไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 ขยายตัวร้อยละ 0.4 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 4.4 นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนกันยายน 2555 อยู่ที่ระดับ 67.5 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 68.4 โดยมีปัจจัยหลักจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มที่จะได้รับความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกมากขึ้น และความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำท่วม เนื่องจากฝนตกชุกหนาแน่นในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับค่าครองชีพที่มีแนวโน้มสูงขึ้น

           เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน                              2555
                                              Q1    Q2      Q3     ส.ค.    ก.ย.    YTD
ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ (%yoy)                 12.0   6.3    20.2     9.5    32.6    12.7
ปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค (%yoy)             14.1   7.5     3.3    -1.3     0.9     8.2
ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่ง (%yoy)                   -5.4  77.0    78.6    71.7    67.8    48.6
ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ (%yoy)            -0.6   4.4     0.4    -5.7    -1.3     1.2
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค                          65.3  67.7    68.4    68.4    67.5    67.0

2. การลงทุนภาคเอกชนในเดือนกันยายนและไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 ขยายตัวได้ดีต่อเนื่องเช่นกัน โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนในเดือนกันยายน 2555 ขยายตัวร้อยละ 24.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.9 ทำให้ปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนในไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 ขยายตัวร้อยละ 18.3 ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 22.0 ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนกันยายน 2555 ยังคงขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 39.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้า ที่ขยายตัวร้อยละ 57.4 ทำให้ไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 ขยายตัวร้อยละ 53.5 จากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 62.3 โดยได้รับปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวต่อเนื่องของการลงทุนรวม ประกอบกับภาคการผลิตสามารถกลับมาผลิตได้ตามปกติ และมีการเร่งผลิตเพื่อส่งมอบให้กับลูกค้าได้มากขึ้น สำหรับเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนในหมวดการก่อสร้างขยายตัวต่อเนื่องเช่นกัน ที่สะท้อนจากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนกันยายน 2555 ขยายตัวร้อยละ 6.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าจะขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 7.3 ทำให้ไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 ขยายตัวร้อยละ 7.2 ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 26.3 จากแนวโน้มความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภค ที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับด้านอุปทาน (Supply) ของภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง สะท้อนจากจำนวนที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเฉพาะอาคารชุดเป็นหลัก ในขณะที่ยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ในเดือนกันยายน 2555 ขยายตัวร้อยละ 11.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 11.9 ทำให้ไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 ขยายตัว ร้อยละ12.1 จากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 5.2

          เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน                                2555
                                            Q1      Q2      Q3      ส.ค.     ก.ย.    YTD
เครื่องชี้การลงทุนในเครื่องจักร
   ปริมาณนำเข้าสินค้าทุน (%yoy)                11.0    22.0    18.3      0.9     24.5    17.1
   ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ (%yoy)        33.5    62.3    53.5     57.4     39.4    48.9
เครื่องชี้การลงทุนก่อสร้าง
   ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ (%yoy)     4.2    26.3     7.2      7.3      6.6    12.6
   ปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ (%yoy)               5.3     5.2    12.1     11.9     11.4     7.5

3. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการคลังในเดือนกันยายนและไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 พบว่า การใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลมีบทบาทสนับสนุนเศรษฐกิจ โดยผลการเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือนกันยายน 2555 มีจำนวน 227.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 11.1 โดยรายจ่ายงบประมาณปีปัจจุบันจำนวน 217.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.9 แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 173.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.9 และ (2) รายจ่ายลงทุน 44.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.2 สำหรับรายจ่ายเหลื่อมปีเบิกจ่ายได้ 9.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้การเบิกจ่ายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 เบิกจ่ายได้ 566.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.9 สำหรับผลการจัดเก็บรายได้สุทธิของรัฐบาล (หลังหักการจัดสรรให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)) ในเดือนกันยายน 2555 เท่ากับ 122.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -1.5 ทำให้ไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 ผลการจัดเก็บรายได้สุทธิของรัฐบาล (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) เท่ากับ 545.7 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8.0 สะท้อนถึงเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวได้ดี สำหรับฐานะการคลัง พบว่า ดุลเงินงบประมาณในเดือนกันยายน 2555 เกินดุลจำนวน 28.6 พันล้านบาท ทำให้ดุลงบประมาณในไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 ขาดดุล -26.9 พันล้านบาท สะท้อนบทบาทนโยบายการคลังในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทย

   เครื่องชี้ภาคการคลัง                                         2555
                          Q1/FY55  Q2/FY55  Q3/FY55  Q4/FY55    ส.ค.    ก.ย.      YTD
รายได้สุทธิของรัฐบาล            398.4    412.9    620.5    545.7  295.9   122.8   1,977.5
(หลังหักการจัดสรรให้ อปท.)
(%y-o-y)                      0.7      4.8      3.9      8.0   -1.5    18.5       4.5
รายจ่ายรวม                   489.8    779.5    459.9    566.1  159.5   227.3   2,295.3
(%y-o-y)                    -18.1     39.0    -14.6     17.9   11.1    17.5       5.4
ดุลเงินงบประมาณ               -84.8   -372.4    169.4    -26.9   -3.6    28.6    -314.7

4. การส่งออกในเดือนกันยายนและไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 ยังมีสัญญาณของการชะลอตัวต่อเนื่องตามสัญญาณแผ่วลงของเศรษฐกิจคู่ค้า พบว่า การส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนกันยายน 2555 มีมูลค่า 20.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -6.9 ทั้งนี้ การส่งออกได้รับปัจจัยบวกจากตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะตลาดออสเตรเลีย แอฟริกา อินเดียและฮ่องกง ทั้งนี้ สินค้าส่งออกในเดือนกันยายนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นสินค้าในหมวดอุตสาหกรรม โดยเฉพาะหมวดยานพาหนะขยายตัวร้อยละ 9.5 วัสดุก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 48.8 อัญมณีและเครื่องประดับขยายตัวร้อยละ 161.1 เป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปตลาดส่งออกหลัก อาทิ จีน และกลุ่มสหภาพยุโรปยังคงหดตัวต่อเนื่อง จากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศยุโรปและการลุกลามของปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการผลิตและจำหน่ายสินค้าในหลายประเทศ ทำให้มีการนำเข้าสินค้าจากไทยลดลง และปัจจัยฐานสูงของประเทศจีน ทำให้ไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 มีมูลค่าการส่งออกทั้งสิ้น 60.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -3.8 จากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัว ร้อยละ 2.0 สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนกันยายน 2555 พบว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ อยู่ที่ 19.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ -7.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -8.8 โดยเป็นการลดลงในหมวดวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูปที่หดตัวร้อยละ -36.3 หมวดเคมีภัณฑ์หดตัวร้อยละ -10.6 หมวดวงจรไฟฟ้าหดตัวร้อยละ -20.5 และหมวดทองคำ หดตัวร้อยละ -87.8 ทำให้ไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 มีมูลค่าการนำเข้าสินค้า 61.7 พันล้านดอลลาร์ หดตัว ร้อยละ -1.7 จากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 9.5 ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐที่สูงกว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐทำให้ดุลการค้าในเดือนกันยายน 2555 เกินดุลอยู่ที่ 1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ไตรมาสที่ 3 ขาดดุลการค้าที่ -1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

       ประเทศคู่ค้าหลักของไทย                                        2555
        (สัดส่วนการส่งออก)                  Q1        Q2        Q3        ส.ค.      ก.ย.      YTD
มูลค่าการส่งออกรวม (%yoy)                 -1.4       2.0      -3.8       -6.9       0.2      -1.1
1. จีน (12.0%)                           1.4      13.7     -11.8      -12.9     -14.7       0.2
2. ญี่ปุ่น (10.5%)                         -6.3      -1.2      -6.3      -12.0      -3.1      -4.6
3. สหรัฐฯ (9.6%)                         2.1       4.6      -1.2       -4.8      -1.0       1.8
4. สหภาพยุโรป (9.4%)                   -16.9      -7.5     -19.2      -23.1     -12.9     -14.7
5. สิงคโปร์ (5.1%)                        2.7       1.0     -25.4      -37.4     -11.1      -8.9
6. ทวีปออสเตรเลีย (4.2%)                 -6.6      21.9      21.1       18.4      48.0      12.1
7. อาเซียน-5 (16.9%)                     4.8       6.8     -14.8      -16.8     -15.6      -1.9

5. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการผลิตในเดือนกันยายนและไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 พบว่า ดัชนีผลผลิตภาคการเกษตรและภาคบริการสะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีสัญญาณการฟื้นตัวได้ดี ขณะที่การผลิตในภาคอุตสาหกรรมมีสัญญาณหดตัวลงต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนกันยายน 2555 หดตัวเป็นเดือนที่ 4 โดยหดตัวร้อยละ -13.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -11.2 สาเหตุสำคัญมาจากกลุ่มอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อมุ่งเน้นการส่งออก โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ เนื่องจากบริษัทหลัก ที่ทำการผลิตยังคงชะลอการผลิตนับจากอุทกภัยเมื่อช่วงปลายปี 2554 ขณะที่อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องปรับอากาศได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นสำคัญ ทำให้ไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -10.2 จากไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -1.5 สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนกันยายน 2555 ที่อยู่ที่ระดับ 94.1 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 98.5 ซึ่งเป็นค่าดัชนีที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 100 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 และต่ำสุดในรอบ 9 เดือน โดยปัจจัยหลักมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย ประกอบกับต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาพลังงาน ราคาวัตถุดิบ และค่าจ้างแรงงาน รวมถึงปัญหาการขาดแคลนแรงงานในบางหมวดอุตสาหกรรม ในขณะที่เครื่องชี้ภาคการเกษตรวัดจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรยังสามารถขยายตัวได้ดี โดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือนกันยายน 2555 ขยายตัวร้อยละ 8.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 18.9 ตามการลดลงของผลผลิตในหมวดพืชผล และหมวดปศุสัตว์เป็นสำคัญ โดยเฉพาะผลผลิตข้าวที่ผลผลิตอยู่ในช่วงปลายฤดูกาลเก็บเกี่ยว ในขณะที่ผลผลิตปศุสัตว์ขยายตัวชะลอลงจากผลผลิตไก่เนื้อที่ขยายตัวร้อยละ 2.8 จากเดือนก่อน ที่ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 10.4 ทำให้ไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 ขยายตัวร้อยละ 14.2 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.4 สำหรับเครื่องชี้ภาคบริการที่สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนกันยายน 2555 มีจำนวนทั้งสิ้น 1.6 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 7.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวในไตรมาส 3 ของปี 2555 มีจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งสิ้น 5.3 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 8.4 โดยเป็นการขยายตัวได้ดีจากกลุ่มเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือเป็นหลัก โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน ที่ขยายตัวร้อยละ 47.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

            เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทาน                          2555
                                         Q1     Q2     Q3      ส.ค.    ก.ย.    YTD
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (%yoy)               -6.8   -1.5  -10.2    -11.2   -13.7    -6.3
ดัชนีผลผลิตเกษตรกรรม (%yoy)                3.6    3.4   14.2     18.9     8.9     6.8
นักท่องเที่ยวต่างชาติ (%yoy)                  7.1    8.2    8.4     11.5     7.9     8.7

6. เสถียรภาพเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศอยู่ในเกณฑ์ดีมาก โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนกันยายนอยู่ที่ร้อยละ 3.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 2.7 โดยมีสาเหตุหลักจากฐานต่ำในช่วงปีก่อนหน้า ประกอบกับมีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือ FT ในอัตรา 18 สตางค์ต่อหน่วย และการปรับเพิ่มอัตราเก็บภาษีสรรพสามิตสุราและบุหรี่เพิ่มขึ้น ทำให้อัตราเงินเฟ้อมีการเร่งตัวขึ้น สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 เร่งตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 1.8 ทำให้ไตรมาสที่ 3 ของปี 2555 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 2.9 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.8 สำหรับอัตราการว่างงานในเดือนสิงหาคม 2555 อยู่ที่ร้อยละ 0.6 ของกำลังแรงงานรวม ซึ่งคิดเป็นเป็นจำนวนผู้ว่างงานเท่ากับ 2.2 แสนคน สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2555 อยู่ที่ร้อยละ 44.9 ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60.0 สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจการเงินโลก สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2555 อยู่ในระดับสูงที่ 183.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 3.0 เท่า

     เครื่องชี้เสถียรภาพเศรษฐกิจ                             2555
                                Q1       Q2       Q3       ส.ค.      ก.ย.     YTD
ภายในประเทศ
   เงินเฟ้อทั่วไป (%yoy)           3.4      2.5      2.9       2.7       3.4      2.9
   เงินเฟ้อพื้นฐาน (%yoy)          2.7      2.0      1.8       1.8       1.9      2.2
   อัตราการว่างงาน (yoy%)        0.7      0.9      n.a.      0.6       n.a.     0.7
ภายนอกประเทศ
   ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้าน $)      0.6     -0.9      n.a.      0.9       n.a.    0.01
   ทุนสำรองทางการ (พันล้าน $)   179.2    174.7    183.6     179.2     183.6    183.6


ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ