รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 29 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 5, 2012 13:22 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary
Indicators this week
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนต.ค. 55 อยู่ที่ร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ต.ค. 55 ขยายตัวร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน ก.ย. 55 เกินดุลที่ 1,769.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนต.ค. 55 อยู่ที่ระดับ 68.1
  • สินเชื่อเดือน ก.ย. 55 ขยายตัวร้อยละ 15.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่เงินฝากสถาบัน

การขยายตัวที่ร้อยละ 25.0

  • ปริมาณจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศในเดือนก.ย. 55 หดตัวร้อยละ -4.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • GDP สหรัฐฯ ไตรมาส 3 ปี 55 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ไต้หวัน ไตรมาส 3 ปี 55 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 1.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • อัตราการว่างงานสหภาพยุโรป เดือน ก.ย. 55 ปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 11.6 ของกำลังแรงงานรวม
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมจีน จัดทำโดย ญ NBS เดือน ต.ค. 55 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ระดับ 50.2
Indicators next week
 Indicators                          Forecast             Previous
 Oct : Motorcycle sale  (%YoY)         18.0                 -1.3

ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยฐานต่ำจากเหตุการณ์น้ำท่วมในช่วงปลายปีที่แล้ว ประกอบกับการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของยอดขายรถจักรยานยนต์ในส่วนของภูมิภาค โดยเฉพาะภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากยังคงได้รับปัจจัยบวกจากนโยบายรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของรายได้เกษตรกร

Economic Indicators: This Week
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนต.ค. 55 อยู่ที่ร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย เนื่องมาจากราคาสินค้าประเภทเนื้อสัตว์ ไข่ ค่าเช่า และสิ่งทอสำหรับใช้ในบ้าน มีการปรับตัวลดลง อย่างไรก็ดี สินค้าประเภทผักสดมีการปรับตัวสูงขึ้น โดยเป็นผลจากเทศกาลกินเจ ทำให้มีความต้องการบริโภคในระดับสูง สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.8 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนเล็กน้อย
  • ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ต.ค. 55 ขยายตัวร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าลดลงร้อยละ -0.5 จากการลดลงของดัชนีในหมวดเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก (เหล็กเส้นเสริมคอนกรีต เหล็กตัวซี ตะแกรงเหล็ก) ลดลงร้อยละ -2.0 ต่อเดือน เป็นสำคัญ โดยมีปัจจัยหลักจากราคาเหล็กในตลาดโลกปรับตัวลดลงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง ทำให้ดัชนีราคาเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กในประเทศปรับตัวลดลงตาม ประกอบกับเป็นช่วงฤดูฝนทำให้ความต้องการใช้เหล็กเพื่อการก่อสร้างชะลอลง
  • ดุลบัญชีเดินสะพัดในเดือน ก.ย. 55 เกินดุลที่ 1,769.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่เกินดุล 857.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐโดยดุลการค้าเกินดุล 2,982.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการส่งออกที่หดตัวเล็กน้อยเพียงร้อยละ -0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงกว่าการนำเข้าที่หดตัวสูงถึงร้อยละ -7.2 ในขณะที่ดุลบริการ รายได้ปฐมภูมิ และรายได้ทุติยภูมิขาดดุล -1,213.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากการส่งกลับกำไรและเงินปันผลที่สูงขึ้น โดยเฉพาะจากธุรกิจโทรคมนาคมและธุรกิจยานยนต์ อีกทั้งรายรับด้านการท่องเที่ยวชะลอลง ทั้งนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วง 9 เดือนแรกของปี 55 เกินดุล 1,782.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนต.ค. 55 อยู่ที่ระดับ 68.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ระดับ 67.5 โดยมีปัจจัยบวกจาก 1. สถานการณ์เศรษฐกิจมีแนวโน้มเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศคงประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 55 ไว้ที่ร้อยละ 5.7 ประกอบกับ กนง.ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงร้อยละ 0.25 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และ 2. ราคาน้ำมันในประเทศปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคมีความกังวลเรื่องค่าครองชีพที่มีแนวโน้มสูงขึ้น รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก ที่ส่งผลต่อภาคการค้าระหว่างประเทศของไทย
  • สินเชื่อเดือน ก.ย. 55 ขยายตัวร้อยละ 15.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 16.0 ทั้งนี้หากวิเคราะห์ตามผู้ให้สินเชื่อพบว่า สินเชื่อสถาบันการเงินเฉพาะกิจและธนาคารพาณิชย์ต่างขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยทั้งสินเชื่อธุรกิจและสินเชื่อผู้บริโภคขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้า สอดคล้องกับอุปสงค์ในประเทศที่ยังคงขยายตัวได้ ทั้งนี้ การลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนที่คาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของสินเชื่อในระยะต่อไป อย่างไรก็ตาม ควรจับตามองปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะวิกฤตหนี้สาธารณะในยูโรโซน และการชะลอลงของเศรษฐกิจจีน ซึ่งอาจส่งผลลบต่อภาคการส่งออก รวมถึงภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในอนาคต
  • เงินฝากสถาบันการเงินเดือน ก.ย. 55 ขยายตัวที่ร้อยละ 25.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 22.6 โดยหากเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้า หลังขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้วพบว่า ขยายตัวเร่งขึ้นสูงถึงร้อยละ 2.4 จากเงินฝากธนาคารพาณิชย์ที่เร่งขึ้นมาก ส่วนหนึ่งจากการขยายระยะเวลาวงเงินคุ้มครองเงินฝาก 50 ล้านบาทออกไปอีก 3 ปี (จนถึงปี 58) และการแข่งขันระหว่างธนาคารพาณิชย์เพื่อรักษาฐานลูกค้า รวมถึงการเร่งระดมเงินฝากอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการขยายตัวของสินเชื่อตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ
  • ปริมาณจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศในเดือนก.ย. 55 หดตัวร้อยละ -4.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน หดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -0.8 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกพบว่าหดตัวร้อยละ -3.2 จากเดือนก่อนหน้า โดยปริมาณการจำหน่ายเหล็กเส้นข้ออ้อย (น้ำหนักร้อยละ 65.4 ของปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวม) หดตัวร้อยละ -5.0 ต่อปี เหล็กเส้นกลม (น้ำหนักร้อยละ 14.0) หดตัวร้อยละ -8.2 ต่อปี และเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี(น้ำหนักร้อยละ 12.7) หดตัวร้อยละ -2.8 ต่อปี ทั้งนี้ การหดตัวที่ชะลอลงสอดคล้องกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ที่หดตัวร้อยละ -13.7 ต่อปี ทำให้ในไตรมาสที่ 3 ของปี 55 ปริมาณจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมหดตัวร้อยละ -2.7
Economic Indicators: Next Week
  • ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน ต.ค. 55 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 18.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -1.3 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยฐานต่ำจากเหตุการณ์น้ำท่วมในช่วงปลายปีที่แล้ว ประกอบกับการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของยอดขายรถจักรยานยนต์ในส่วนของภูมิภาค โดยเฉพาะภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากยังคงได้รับปัจจัยบวกจากนโยบายรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของรายได้เกษตรกร

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend
  • GDP ไตรมาส 3 ปี 55 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 2.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือคิดเป็นร้อยละ 0.5 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ผลจากการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวดีที่ร้อยละ 9.5 และ 2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ ในขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.6 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ต.ค. 55 ปรับตัวสูงขึ้นมากมาอยู่ที่ระดับ 72.2 จุด สูงสุดในรอบ 56 เดือน จากระดับ 68.4 จุดในเดือนก่อนหน้า จากภาคการจ้างงานที่เริ่มฟื้นตัว ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (ISM Mfg PMI) เดือน ต.ค. 55 ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 57.7 สูงสุดในรอบ 5 เดือน จากระดับ 57.5 ในเดือนก่อนหน้า จากดัชนีคำสั่งซื้อสินค้าใหม่และดัชนีการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น
Eurozone: worsening economic trend
  • อัตราเงินเฟ้อ(ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน ต.ค. 55 ปรับลดลงจากร้อยละ 2.7 ในเดือนก่อน มาอยู่ที่ร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน อัตราการว่างงาน เดือน ก.ย. 55 ปรับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 11.6 ของกำลังแรงงานรวม จากภาวะเศรษฐกิจยูโรโซนที่หดตัว ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการผลิตยูโรโซน
Japan: worsening economic trend
  • ยอดค้าปลีก เดือน ก.ย. 55 ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ อัตราการว่างงาน เดือน ก.ย. 55 ทรงตัวอยู่ในระดับร้อยละ 4.2 ของกำลังแรงงานรวม ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน ก.ย. 55 หดตัวเร่งขึ้นมาที่ร้อยละ -4.1 จากเดือนก่อนหน้า ธนาคารกลางญี่ปุ่น ยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำที่ร้อยละ 0-0.1 ประกอบกับออกมาตรการ QE ในวงเงินเพิ่มเติมอีก 11 ล้านล้านเยน เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 55 ที่ผ่านมา ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 55 ลดลงจากระดับ 48.0 จุด มาที่ระดับ 46.9 จุด ซึ่งต่ำสุดในรอบ 18 เดือน สะท้อนภาคการผลิตญี่ปุ่นที่ยังคงอ่อนแอ ขณะที่คำสั่งซื้อภาคก่อสร้าง เดือน ก.ย. 55 ขยายตัวชะลอลงจากร้อยละ 8.7 ในเดือนก่อน มาที่ร้อยละ 3.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
China: worsening economic trend
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม จัดทำโดย NBS เดือน ต.ค. 55 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 50.2 สะท้อนภาคอุตสาหกรรมจีนที่กลับมาขยายตัว ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อจีนที่จัดทำโดย HSBC เดือน ต.ค. 55 ที่ปรับตัวสูงขึ้นมาที่ระดับ 49.5 จุด ที่แม้จะยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 จุด แต่สะท้อนสัญญาณการฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรม
South Korea: mixed signal
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 55 ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 55 อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 50.0 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ที่ระดับ 47.4 จากดัชนีคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกหดตัวเร่งขึ้น ขณะที่มูลค่าการส่งออก เดือน ต.ค. 55 ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือนที่ร้อยละ 1.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยังจีนและสหภาพยุโรปเป็นสำคัญ มูลค่าการนำเข้าเดือน ต.ค. 55 ขยายตัวครั้งแรกในรอบ 8 เดือนที่ร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน อัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. 55 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 2.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาอาหารสดที่สูงขึ้น
Taiwan: mixed signal
  • GDP ไตรมาส 3 ปี 55 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 1.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ในช่วง 3 ไตรมาสแรก ปี 55 GDP ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.4 จากการชะลอลงของอุปสงค์ภายนอกเป็นสำคัญ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 55 อยู่ที่ระดับ 47.8 จากการหดตัวของคำสั่งซื้อสินค้าส่งออก
Indonesia: mixed signal
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ เดือน ต.ค. 55 อยู่ที่ระดับ 51.9 จุด สูงสุดตั้งแต่มีการสำรวจมา จากคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกที่เพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 11 เดือน มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ย. 55 หดตัวชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ -9.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สะท้อนอุปสงค์ต่างประเทศที่ยังคงย่ำแย่ ขณะที่มูลค่าการนำเข้ากลับมาขยายตัวเป็นบวกร้อยละ 1.2 ทำให้ดุลการค้าเกินดุล 5.5 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ ด้านอัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. 55 อยู่ที่ร้อยละ 4.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สะท้อนอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังแข็งแกร่ง
Singapore: mixed signal
  • อัตราการว่างงาน (ตัวเลขเบื้องต้น) ไตรมาส 3 ปี 55 อยู่ที่ร้อยละ 1.9 ของกำลังแรงงานรวม ต่ำสุดในรอบ 19 ไตรมาส แม้ว่าการเลิกจ้างในภาคอุตสาหกรรมและบริการจะเพิ่มขึ้น แต่การจ้างงานภาครัฐเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้น
Hong Kong: improving economic trend
  • ยอดค้าปลีก เดือน ก.ย. 55 ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 9.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการเร่งขึ้นของยอดขายอาหารและเครื่องดื่มเป็นสำคัญ สะท้อนอุปสงค์ในประเทศที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง
India: mixed signal
  • วันที่ 30 ต.ค. 55 ธนาคารกลางอินเดียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 8.00 จากความเสี่ยงจากการชะลอลงของเศรษฐกิจโลก ขณะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง
Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับตัวสูงขึ้น แต่ยังคงต่ำกว่าระดับ 1,300 จุด โดย ณ วันที่ 1 พ.ย. 55 ดัชนีฯ ปิดที่ระดับ 1,297.99 จุด โดยดัชนีฯ ปรับตัวสูงขึ้นมากในช่วงกลางสัปดาห์ จากแรงซื้อของนักลงทุนสถาบันภายในประเทศเป็นสำคัญ จากเครื่องชี้เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าตลาดคาด โดยระหว่างวันที่ 29 ต.ค. - 1 พ.ย. 55 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ -583.96 ล้านบาท ในขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวลดลงทุกช่วงอายุตราสาร ตามทิศทางของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯโดยการซื้อขายส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในพันธบัตร ธปท. ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 29 ต.ค. - 1 พ.ย. 55 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ -29.1 ล้านบาท
  • ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย โดย ณ วันที่ 1 พ.ย. 55 ปิดที่ระดับ 30.71 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อนร้อยละ -0.16 สอดคล้องกับค่าเงินสกุลภูมิภาค โดยเฉพาะเงินริงกิตมาเลเซีย ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงในอัตราใกล้เคียงกับค่าเงินสกุลอื่นๆ ของคู่ค้าโดยเฉลี่ย ทำให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้ไม่เปลี่ยนแปลงจากสัปดาห์ก่อนหน้า
  • ราคาทองคำค่อนข้างทรงตัว โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 1 พ.ย. 55 ปิดที่ 1,714.09 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ใกล้เคียงกับต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,709.24 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ