รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 5 พฤศจิกายน 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 5, 2012 13:25 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 5 พฤศจิกายน 2555

Summary:

1. รมว.กระทรวงคมนาคมชี้ เร่งสานต่อนโยบายการพัฒนาระบบราง

2. ธปท. คาดปี 55 จะมีเงินทุนไหลเข้าจากต่างชาติเพียง 5,000-6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

3. สื่อพม่าตีพิมพ์กฎหมายการลงทุนต่างชาติฉบับใหม่

Highlight:

1. รมว.กระทรวงคมนาคมชี้ เร่งสานต่อนโยบายการพัฒนาระบบราง
  • รมว.กระทรวงคมนาคม ชี้แจงว่าจากนี้จะเร่งสานต่อนโยบายสำคัญ โดยให้ความสำคัญในการพัฒนาระบบราง โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้า 10 สายที่จะต้องแก้ไขปัญหาที่ยังค้างอยู่ ทั้งการหาผู้ประกอบการเดินรถช่วงแบริ่งสมุทรปราการ การกำหนดเส้นทางที่ชัดเจนของรถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-ปากเกร็ด-มีนบุรี และการหาผู้รับเหมาสัญญาที่ 3 ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต โดยจะหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องในสัปดาห์หน้า นอกจากนี้จะเร่งโครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีที่ยังค้างอยู่ เนื่องจากที่ผ่านมาโครงการนี้มีปัญหาเรื่องความโปร่งใส ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กำชับให้กำกับดูแลเป็นพิเศษ ขณะเดียวกันก็จะเร่งรัดงานโครงการการเชื่อมโยงการขนส่งทางบก เพื่อรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี ซึ่งจะมีการหารือร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง รวมถึงรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนในการทำงาน เพื่อจัดทำเป็นแผนปฏิบัติการ โดยจะให้ความสำคัญการเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะมีการประชุมหัวหน้าหน่วยงานทุกเดือน และจัดทำดัชนีชี้วัดในการทำงาน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลของสศช. พบว่าต้นทุนโลจิสติกส์ต่อ GDP ของไทยอยู่ที่ระดับร้อยละ 16 ซึ่งเป็นระดับที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างเช่นประเทศสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา โดยเมื่อพิจารณาลงรายละเอียดพบว่า ต้นทุนโลจิสติกส์ที่อยู่ในระดับสูงดังกล่าว เกิดจากต้นทุนในการขนส่งสินค้าเป็นหลัก ดังนั้น การพัฒนาระบบขนส่งของไทยดังกล่าวจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์ ส่งผลให้ต้นทุนของผู้ประกอบการลดลง นับเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยอีกทางหนึ่ง เพื่อรองรับการเปิดประชาคมเสรีอาเซียนในปี 2558 นอกจากนี้ ระบบขนส่งที่รวดเร็ว สะดวก และปลอดภัย ยังเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวให้เพิ่มมากขึ้น ทั้งจากคนในประเทศและชาวต่างชาติ
2. ธปท. คาดปี 55 จะมีเงินทุนไหลเข้าจากต่างชาติเพียง 5,000-6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
  • ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า จากมาตรการผ่อนคลายทางการเงิน หรือ QE3 ของธนาคารกลางสหรัฐ จะทำให้มีเงินทุนไหลเข้าประมาณ 5,000-6,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 55 ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบกับค่าเงินบาทมากนัก โดยค่าเงินบาทตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันแข็งค่าเพียงประมาณร้อยละ 2-3 จาก 31.50 บาทต่อเหรียญสหรัฐ มาอยู่ที่ 30.70 บาทต่อเหรียญสหรัฐ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า มาตรการผ่อนคลายทางการเงิน หรือ QE3 ของธนาคารกลางสหรัฐนั้น คาดว่าจะส่งผลให้มีกระแสเงินทุนไหลเข้าสู่ภูมิภาคเอเชีย รวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งในระยะสั้นจะเป็นปัจจัยที่กดดันให้ค่าเงินแข็งค่าขึ้นได้ แต่คาดว่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับค่าเงินในภูมิภาค โดยจากข้อมูลเชิงประจักษ์พบว่าค่าเงินในวันที่ 1 พ.ย. 55 อยู่ที่ 30.71 โดยสศค. คาดว่าค่าเงินบาทเฉลี่ยในปี 55 จะอยู่ที่ 31.1 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณการ ณ เดือน ก.ย. 55) อย่างไรก็ดี การที่มีเม็ดเงินไหลเข้ามาในประเทศในระยะยาวแล้ว คาดว่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย ในด้านจะช่วยพัฒนาตลาดทุนให้เติบโตมากขึ้นได้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเม็ดเงินส่วนใหญ่เข้ามาลงทุนในระยะสั้นๆ ทั้งในตลาดทุนและพันธบัตร ซึ่งมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของระยะเวลาที่เม็ดเงินเหล่านี้จะไหลกลับออกไป
3. สื่อพม่าตีพิมพ์กฎหมายการลงทุนต่างชาติฉบับใหม่
  • สื่อรัฐบาลพม่าได้เผยแพร่กฎหมายการลงทุนต่างชาติฉบับใหม่เพื่อนำมาใช้แทนกฎหมายฉบับเดิมที่ใช้มาตั้งแต่ปี 2531 เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและเพื่อพัฒนาประเทศตามกลยุทธ์การปฏิรูปของรัฐบาล หลังผ่านการออกเสียงรับรองในรัฐสภาและลงนามอนุมัติโดยประธานาธิบดีเต็ง เส่ง โดยอนุญาตให้นักลงทุนต่างประเทศสามารถลงทุนได้ 100% ในโครงการที่ได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการการลงทุนของพม่า ซึ่งจะกำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำตามความเห็นชอบจากรัฐบาล ตลอดจนอนุญาตให้ก่อตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างนักลงทุนต่างประเทศและนักลงทุนพม่าหรือหน่วยงานราชการของพม่าตามสัดส่วนการลงทุนที่เห็นชอบจากทั้งสองฝ่าย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจุบันไทยเป็นประเทศที่เข้าไปเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่อันดับสองในพม่ารองจากประเทศจีน ทั้งนี้ กฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ดังกล่าวจะเป็นแรงดึงดูดให้บริษัทต่างชาติอื่นๆ เข้าไปลงทุนและแสวงหาลู่ทางธุรกิจในประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติและเพิ่งเปิดตัวสู่ประชาคมโลกแห่งนี้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ หากในอนาคตประเทศในโลกตะวันตกยกเลิกการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจที่มีต่อพม่ามายาวนาน ก็จะเป็นปัจจัยบวกให้การลงทุนโดยตรงของต่างชาติในพม่า (FDI) มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี พม่ายังมีอุปสรรคสำคัญที่ต้องเร่งปรับปรุง ได้แก่ ระบบโลจิสติกส์ที่ขาดความพร้อม สาธารณูปโภคพื้นฐานที่ยังต้องได้รับการพัฒนา และความผันผวนของค่าเงินที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ