รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 7 พฤศจิกายน 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 7, 2012 11:23 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 7 พฤศจิกายน 2555

Summary:

1. ครม.ขยายระยะเวลาโครงการบ้านหลังแรกของธอส.อีก 6 เดือน ยื่นกู้ถึง 29 มี.ค.56

2. ธนาคารกสิกรไทย เชื่อ กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบายอีกรอบเพื่อลดความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก

3. ออสเตรเลียคงอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 3.25

Highlight:

1.ครม.ขยายระยะเวลาโครงการบ้านหลังแรกของ ธอส.อีก 6 เดือน ยื่นกู้ถึง 29 มี.ค.56
  • ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ในการขยายระยะเวลาดำเนินการโครงการบ้าน ธอส.เพื่อที่อยู่อาศัยแห่งแรก (ดอกเบี้ย 0% 3 ปี) ออกไปอีก 6 เดือน โดยสิ้นสุดระยะเวลายื่นคำขอกู้เงินวันที่ 29 มี.ค.56 (วันทำการสุดท้ายของเดือน) และต้องทำนิติกรรมกับธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 28 มิ.ย.56 (วันทำการสุดท้ายของเดือน) เพื่อให้โครงการบ้าน ธอส.เพื่อที่อยู่อาศัยแห่งแรกสามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า โครงการบ้านหลังแรกของ ธอส. เป็นโครงการสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือประชาชนให้มีบ้านหลังแรกเป็นของตนเอง ประกอบด้วย 2 มาตรการสำคัญ ได้แก่ (1) มาตรการยกเว้นภาษีสำหรับบ้านหลังแรก โดยผู้ซื้อสามารถนำค่าใช้จ่ายจากการซื้อบ้านไปคำนวณหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ปีละไม่เกิน 100 ,000 บาท ในระยะเวลา 5 ปี รวมเป็น 500 ,000 บาท มีระยะเวลาดำเนินมาตรการ ตั้งแต่ 22 ก.ย. 54 - 31 ธ.ค. 55 และ (2) โครงการบ้าน ธอส. เพื่อที่อยู่อาศัยหลังแรก มีวงเงินสินเชื่อโครงการรวมทั้งสิ้น 20,000 ล้านบาท โดยผู้กู้สามารถติดต่อขอกู้เงินได้จนถึงวันที่ 30 ก.ย. 55 ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึง ส.ค. 55 มีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน 8,701 ราย ยอดอนุมัติสินเชื่อทั้งสิ้น 5,349.0 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 26.7 ของมูลค่าโครงการ ซึ่งการขยายระยะเวลาโครงการดังกล่าวจะเป็นการกระตุ้นการตัดสินใจซื้ออสังหาริมทรัพย์ของผู้บริโภค และจะทำให้การลงทุนในภาคเอกชนเพิ่มขึ้น อันจะเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ สศค. คาดว่า ในปี 55 การลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวที่ร้อยละ 14.1 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 13.6 - 14.6 ) และในปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 10.0 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 9.0 - 11.0 ) (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ย.55)
2. ธนาคารกสิกรไทย เชื่อ กนง.ลดดอกเบี้ยนโยบายอีกรอบเพื่อลดความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลก
  • ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า คาดว่ามีแนวโน้มที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งอาจจะเป็นในสิ้นปีนี้หรือต้นปีหน้า เนื่องจากภาพรวมของเศรษฐกิจโลกเป็นหลักที่ยังคงมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทั้งภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ด้านการฟื้นตัวและความต่อเนื่องของการดำเนินนโยบายการคลังที่จะหมดอายุลงในสิ้นปีนี้ รวมถึงการแก้ไขปัญหาที่ถูกจุดของยุโรป และความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจจีน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่มีการสัญญาณการฟื้นตัวอย่างเปราะบาง รวมถึงปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะในยูโรโซน ที่ยังคงเรื้อรังต่อเนื่อง ประกอบกับเศษฐกิจจีนที่เริ่มส่งสัญญาณการขยายตัวชะลอลง ขณะที่แรงกดดันจากเงินเฟ้อในปัจจุบันยังคงอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับลดลงอยู่ที่ร้อยละ 2.75 ทั้งนี้ สศค. คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 55 จะอยู่ที่ร้อยละ 3.00 ต่อปี (ช่วงคาดการณ์ 2.75 -3.25) และในปี 56 คาดว่ายังคงอยู่ที่ร้อยละ 3.00 (ช่วงคาดการณ์ 2.50-3.50) คาดการณ์ ณ เดือน ก.ย.55
3. ออสเตรเลียคงอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 3.25
  • ธนาคารกลางออสเตรเลีย ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับร้อยละ 3.25 เนื่องจากเศรษฐกิจทั่วโลกที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ช่วยสนับสนุนราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งส่งผลช่วยผลักดันการขยายตัวของเศรษฐกิจของประเทศ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับร้อยละ 3.25 หลังจากที่ครั้งก่อนในเดือน ต.ค. มีการปรับลดจากร้อยละ 3.50 เป็นร้อยละ 3.25 ซึ่งสวนทางกับการคาดการณ์ของตลาด เนื่องจากดัชนีราคาผู้บริโภคของออสเตรเลียไตรมาส 3 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 จากไตรมาสก่อนหน้า สูงกว่าการคาดการณ์ว่าจะเพิ่มเพียงร้อยละ 1 อย่างไรก็ตาม RBA ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงทั้งหมดร้อยละ 1 ในช่วงเดือน พ.ค. 55 - ต.ค. 55 จากร้อยละ 4.25 มาอยู่ที่ระดับที่ระดับ 3.25 เพื่อกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศและชะลอผลกระทบจากการชะลอลงของเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะจีน ประกอบกับราคาสินค้าส่งออกหดตัวต่อเนื่องและค่าเงินดอลลาร์ออสเตรเลียแข็งค่าขึ้น ทั้งนี้ เศรษฐกิจออสเตรเลียในช่วง 6 เดือนแรกของปี 55 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดย สศค. คาดว่าเศรษฐกิจออสเตรเลียทั้งปี 55 จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ประมาณการ ณ เดือน ก.ย. 55)

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ