รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 8 พฤศจิกายน 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 8, 2012 11:28 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 8 พฤศจิกายน 2555

Summary:

1. กระทรวงอุตสาหกรรมคาดว่ามูลค่าส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์จะฟื้นตัวในไตรมาสนี้

2. HSBC แนะ ธปท. ลดดอกเบี้ยอีกเพื่อฉวยจังหวะกระตุ้นเศรษฐกิจ ค่อยปรับขึ้นหลังส่งออกฟื้น

3. เศรษฐกิจอินโดนีเซียไตรมาสที่ 3 ขยายตัวเกินร้อยละ 6 ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 8

Highlight:

1. กระทรวงอุตสาหกรรมคาดว่ามูลค่าส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์จะฟื้นตัวในไตรมาสนี้
  • กระทรวงอุตสาหกรรมคาดว่ามูลค่าส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ในไตรมาสสุดท้ายขยายตัวร้อยละ 4.9% นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่าอีกว่า มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเลกทรอนิกส์ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ปรับตัวลดลง -5.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อนหน้า คิดเป็นมูลค่าการส่งออกรวม 4 หมื่น 8 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยตลาดที่มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุด คือ กลุ่มประเทศในภูมิภาคอาเซียน (16%) สหรัฐอเมริกา (16%) และ จีน (14%)
  • สศค. วิเคราะห์ว่า มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า-อิเล็กทรอนิกส์มีสัดส่วนรวมมากกว่าร้อยละ 25 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด ทั้งนี้ ณ เดือน กันยายน มูลค่าล่าสุดของสินค้าส่งออกในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ยังคงหดตัวที่ร้อยละ -14.5 และ -6.1 ตามลำดับ ทั้งนี้ ยังได้มีการขยายการส่งออกไปยังตลาดใหม่เช่นออสเตรเลีย แอฟฟริกา เพื่อช่วยกระตุ้นการส่งออก นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนต.ค. 55 อยู่ที่ระดับ 68.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ระดับ 67.5 โดยมีปัจจัยบวกจากสถานการณ์เศรษฐกิจมีแนวโน้มเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งนี้ สศค. คาดว่า มูลค่าส่งออกของประเทศไทยในปี 55 และ56 จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 4.5 และ 10.5 ตามลำดับ (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ย. 55)
2. HSBC แนะ ธปท. ลดดอกเบี้ยอีกเพื่อฉวยจังหวะกระตุ้นเศรษฐกิจ ค่อยปรับขึ้นหลังส่งออกฟื้น
  • ผู้อำนวยการบริหาร ศูนย์วิจัยอัตราดอกเบี้ยตลาดเอเชีย ธนาคาร HSBC ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เปิดเผยว่า มาตรการ QE3 ได้ส่งผลต่อเงินทุนไหลเข้าในภูมิภาคเอเชียมากขึ้น โดยในช่วง 1 เดือน หลังจากที่สหรัฐฯ ประกาศใช้มาตรการ QE3 พบว่า ประเทศไทยมีปริมาณเงินทุนไหลเข้าเพิ่มขึ้นจาก 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะในตลาดพันธบัตร นอกจากนี้ ยังเห็นว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเพื่อต้องการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจในการประชุมเดือน พ.ย. 55 หรือ ม.ค. 56 และภายในครึ่งปีหลังของปี 56 กนง. อาจจะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามทิศทางเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะนิ่งขึ้นและภาคการส่งออกไทยที่ฟื้นตัวมากขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปริมาณเงินทุนที่ไหลเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียของนักลงทุนต่างชาติสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของปัจจัยพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจของประเทศกลุ่มภูมิภาคเอเชียที่เติบโตได้ดี สำหรับทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจไทยถือว่ามีแนวโน้มการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะจากการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชน แม้ว่าภาคการส่งออกจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่หดตัวจากวิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรปและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่เปราะบาง รวมถึงทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียที่ขยายตัวในอัตราชะลอลง นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ที่ร้อยละ 2.75 ถือเป็นระดับที่เหมาะสมต่อการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 55-56 ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 55 และ 56 อยู่ที่ร้อยละ 3.0 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 2.75-3.25) และร้อยละ 3.0 (ช่วงคาดการณ์ 2.50-3.50) ตามลำดับ (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ย. 55)
3. เศรษฐกิจอินโดนีเซียไตรมาสที่ 3 ขยายตัวเกินร้อยละ 6 ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 8
  • เศรษฐกิจอินโดนีเซียไตรมาสที่ 3 ขยายตัวร้อยละ 6.17 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า นับเป็นการขยายตัวเกินร้อยละ 6.00 ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 8 โดยมีสาเหตุจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของอุปสงค์ภายในประเทศ ทั้งการอุปโภคบริโภคและการลงทุน ซึ่งช่วยลดผลกระทบจากการลดลงของการส่งออก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจอินโดนีเชียไตรมาสที่ 3 ขยายตัวร้อยละ 6.17 เนื่องจากอาศัยอุปสงค์ภายในประเทศทั้งการบริโภคและการลงทุนเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยการลงทุนที่เพิ่มขึ้นสะท้อนได้จากการลงทุนทางตรงของต่างชาติ (FDI) ในอินโดนีเซีย ช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 55 เพิ่มขึ้นร้อยละ 22 อยู่ที่ 5.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยภาคการลงทุนที่ได้รับความนิยมมากที่สุด ได้แก่ อุตสาหกรรมเคมี เภสัชกรรม เหมืองแร่ และการสื่อสารโทรคมนาคม ขณะที่ดัชนียอดค้าปลีกในเดือน ก.ย. 55 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 22.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนสะท้อนการบริโภคภายในประเทศ ขณะที่ ภาคการส่งออกยังคงได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของอินโดนีเซียหดตัวลง โดยข้อมูลล่าสุด ณ เดือน ก.ย. 55 มูลค่าการส่งออกหดตัวร้อยละ -9.4 ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซียปี 55 จะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 6.1 และในปี 56 จะขยายตัวที่ร้อยละ 6.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ย. 55)

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ