รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 9 พฤศจิกายน 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 9, 2012 11:24 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 9 พฤศจิกายน 2555

Summary:

1. หอการค้าเผยเศรษฐกิจไทยปีหน้ายังน่าห่วง คาด GDP โตไม่เกินร้อยละ 4.5

2. ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมมาเลเซียเดือน ก.ย. 55 ขยายตัวร้อยละ 4.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

3. มูลค่าการส่งออกไต้หวันเดือน ต.ค. 55 หดตัวร้อยละ -1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Highlight:

1. หอการค้าเผยเศรษฐกิจไทยปีหน้ายังน่าห่วง คาด GDP โตไม่เกินร้อยละ 4.5
  • ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ศูนย์ฯ ได้ปรับลดคาดการณ์ประมาณการเศรษฐกิจปี 55 อยู่ที่ร้อยละ 5.4 จากเดิมที่คาดว่าจะอยู่ที่ 5.6 ในขณะที่อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 56 คาดว่าจะขยายตัวเพียงร้อยละ 4.5 จากปัจจัยด้านการส่งออกที่ลดลงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยมี ปัจจัยที่มีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีหน้าจะอยู่ที่การลงทุนระบบสาธารณูปโภคของภาครัฐ และการดำเนินโครงข่าย3จีของภาคเอกชน รวมถึงเสถียรภาพการเมืองไทย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากประมาณการเศรษฐกิจไทย ณ เดือน ก.ย. 55 สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 55 จะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 5.5 (ช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 5.3 - 5.8) เร่งขึ้นจากปีก่อนหน้า จากข้อจำกัดในภาคการผลิตที่เริ่มคลี่คลายลง ประกอบกับอุปสงค์ภาคเอกชนทั้งการบริโภคและการลงทุนสามารถฟื้นกลับสู่ระดับก่อนอุทกภัยได้แล้ว นอกจากนี้ นโยบายของภาครัฐ เช่น การเพิ่มรายได้แรงงานรายวันและเงินเดือนข้าราชการ การรับจำนำข้าวเปลือก โครงการรถยนต์คันแรก โครงการบ้านหลังแรก และการทยอยปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ยังมีส่วนสนับสนุนการใช้จ่ายภายในประเทศ ขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาครัฐมีบทบาทในการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ภาคการส่งออกสินค้าและบริการคาดว่าจะชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังคงอ่อนแอและผันผวนสูงจากปัญหาหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรป ในขณะที่ปี 56 คาดว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 5.2 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.7 - 5.7) โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากอุปสงค์ภาครัฐและอุปสงค์จากต่างประเทศที่คาดว่าจะยังคงขยายตัวได้ ทั้งนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจโลกจะยังคงเป็นปัจจัยที่น่าจับตามองต่อเศรษฐกิจไทยต่อไป
2. ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมมาเลเซียเดือน ก.ย. 55 ขยายตัวร้อยละ 4.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของมาเลเซีย เดือน ก.ย. 55 กลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือคิดเป็นขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เนื่องจากการผลิตในทุกหมวดสินค้าที่ขยายตัวเร่งขึ้น กล่าวคือ ปริมาณการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ สินค้าอุตสาหกรรมการผลิต และสินค้าจากเหมืองแร่ ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 5.9 5.1 และ 3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ตัวเลขผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของมาเลเซียที่ขยายตัวเร่งขึ้นที่ขยายตัวนั้น บ่งชี้การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในช่วงเดือน ก.ย. 55 อันเป็นผลมาจากอุปสงค์ในประเทศและการใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นสำคัญ อันจะส่งผลดีต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้ธนาคารกลางของมาเลเซียสามารถคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 3.00 ได้ต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในภาคการค้าระหว่างประเทศอันคงเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจมาเลเซีย เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออกเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจร้อยละ 100.6 ของ GDP การชะลอตัวทางเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะจีน ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 1 มีสัดส่วนการส่งออกไปยังจีนร้อยละ 13.1 ของมูลค่าการส่งออกรวม (สัดส่วนปี 54) ทำให้มูลค่าการส่งออก เดือน ส.ค. 55 หดตัวร้อยละ -4.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน นับว่าหดตัวต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 แล้ว อาจทำให้เศรษฐกิจมาเลเซียในช่วงครึ่งหลังปี 55 ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจมาเลเซียปี 55 จะขยายตัวที่ร้อยละ 4.6 (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ย. 55) ซึ่งเป็นการปรับลดจากประมาณการครั้งก่อนร้อยละ 0.2
3. มูลค่าการส่งออกไต้หวันเดือน ต.ค. 55 หดตัวร้อยละ -1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • มูลค่าการส่งออกไต้หวันเดือน ต.ค. 55 หดตัวร้อยละ -1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 10.4 ส่งผลให้ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 55 มูลค่าการส่งออกไต้หวันหดตัวร้อยละ -3.7 สะท้อนผลกระทบจากการชะลอลงของเศรษฐกิจโลกที่ชัดเจน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การหดตัวลงของมูลค่าการส่งออกไต้หวัน ส่วนหนึ่งเกิดจากการชะลอลงของการส่งออกไปยังจีน ซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 1 โดยมีสัดส่วนการส่งออกในระดับสูงที่ร้อยละ 27.3 ของมูลค่าการส่งออกรวมในปี 54 ขณะที่การส่งออกไปยังยุโรป และสหรัฐฯหดตัวลง สะท้อนผลกระทบของการชะลอลงของอุปสงค์จากภายนอก โดยปัจจัยดังกล่าว คาดว่าจะส่งผลลบชัดเจนต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไต้หวัน เนื่องจากไต้หวันพึ่งพาการส่งออกในระดับสูง โดยสัดส่วนการส่งออกอยู่ที่ร้อยละ 74.6 ของ GDP อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ในประเทศที่ยังคงขยายตัวแข็งแกร่ง สะท้อนจากดัชนียอดค้าปลีกที่ขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 1.8 จากเดือนก่อนหน้า (หลังขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) ผนวกกับอัตราการว่างงานที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับไม่สูงมากนัก โดยในเดือน ก.ย. 55 อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 4.3 ของกำลังแรงงานรวม จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไต้หวันในระยะต่อไป ทั้งนี้ สศค. คาดว่าในปี 55 เศรษฐกิจไต้หวันจะขยายตัวร้อยละ 2.9 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 2.4-3.4) คาดการณ์ ณ เดือน ก.ย. 55

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ