รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 5 - 9 พฤศจิกายน 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 12, 2012 13:39 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary
Indicators this week
  • ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน ต.ค. 55 ขยายตัวร้อยละ 24.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • อัตราการว่างงานเดือน ก.ย.55 อยู่ที่ร้อยละ 0.6 ของกำลังแรงงานรวม
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ก.ย. 55 มีจำนวนทั้งสิ้น 4,937.2 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 43.9 ของ GDP
  • GDP อินโดนีเซีย ในไตรมาส 3 ปี 55 ขยายตัวร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 1.3

เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว)

  • อัตราการว่างงานสหรัฐฯ ต.ค. 55 ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 7.9 ของกำลังแรงงานรวม
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการจีน (HSBC's Serv. PMI) เดือน ต.ค. 55 ลดลงจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ระดับ 53.5
  • ยอดค้าปลีกสหภาพยุโรป เดือน ก.ย. 55 หดตัวร้อยละ -0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • วันที่ 6 พ.ย. 55 ธนาคารกลางออสเตรเลียประกาศคงPอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 3.25
  • วันที่ 8 พ.ย. 55 ธนาคารกลางมาเลเซียประกาศคงอัตราonดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 3.00
  • วันที่ 9 พ.ย. 55 ธนาคารกลางเกาหลีใต้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.75
Indicators next week
 Indicators                          Forecast             Previous
 Oct : API (%YoY)                       7.5                  8.9

ตามการขยายตัวของผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญ โดยเฉพาะข้าวนาปี ที่เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยว ประกอบกับปัจจัยฐานต่ำจากปีที่แล้วที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วม สอดคล้องกับผลผลิตยางพาราและปาล์มน้ำมัน ที่คาดว่าผลผลิตจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากเดือนก่อนเช่นกัน เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกและพื้นที่เก็บเกี่ยวที่เพิ่มขึ้นจากปี 54

Economic Indicators: This Week
  • ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือน ต.ค. 55 มีจำนวน 178,566 คัน หรือขยายตัวร้อยละ 24.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -1.3 และหากขจัดผลทางฤดูกาลแล้วพบว่าขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 10.6 จากเดือนก่อนหน้า ตามการเพิ่มของยอดขายรถจักรยานยนต์ในส่วนของในกทม.และยอดขายรถจักรยานยนต์ภูมิภาค ที่ขยายตัวร้อยละ 70.2 และร้อยละ 15.5 จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 0.9 และหดตัวร้อยละ -1.9 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยฐานต่ำจากเหตุการณ์น้ำท่วมในช่วงปลายปีที่แล้ว ประกอบกับรายได้ภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะรายได้เกษตรกร ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคเหนือ เนื่องจากยังคงได้รับปัจจัยบวกจากนโยบายรับจำนำข้าวของรัฐบาล ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนแรกปี 55 ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ ขยายตัวที่ร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • การจ้างงานเดือน ก.ย.55 อยู่ที่ 39.15 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า 2.87 แสนคน ขณะที่เมื่อปรับผลทางฤดูกาล พบว่าการจ้างงานเพิ่มขึ้น 1.87 แสนคนจากเดือนก่อนหน้า โดยมีสาเหตุมาจากการจ้างงานภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น ขณะที่การจ้างงานภาคบริการมีการปรับตัวลดลงเมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ อัตราการว่างงานเดือน ก.ย.55 อยู่ที่ร้อยละ 0.6 ของกำลังแรงงานรวมคิดเป็นผู้ว่างงาน 2.4 แสนคน
  • หนี้สาธารณะคงค้าง ณ สิ้นเดือน ก.ย. 55 มีจำนวนทั้งสิ้น 4,937.2 พันล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 43.9 ของ GDP ลดลงจากเดือนก่อนหน้าจำนวน 99.7 พันล้านบาทโดยการลดลงของหนี้สาธารณะที่สำคัญเป็นหนี้ของรัฐบาลและหนี้หน่วยงานอื่นของรัฐลดลงจำนวน 114.3 พันล้านบาท และ 0.8 พันล้านบาท ตามลำดับ ในขณะที่หนี้รัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงินและหนี้รัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) เพิ่มขึ้นจำนวน 15.2 พันล้านบาท และ 0.2 พันล้านบาท ตามลำดับ ทั้งนี้ สถานะหนี้สาธารณะของไทยถือว่ามีความมั่นคง สะท้อนได้จากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60 ของ GDP และหนี้สาธารณะส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะยาว (ร้อยละ 94.4 ของยอดหนี้สาธารณะ) และเป็นสกุลเงินบาท (ร้อยละ 93.1 ของยอดหนี้สาธารณะ)
Economic Indicators: Next Week
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือน ต.ค 55 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 7.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 8.9 ตามการขยายตัวของผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญ โดยเฉพาะข้าวนาปี ที่เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลเก็บเกี่ยว ประกอบกับปัจจัยฐานต่ำจากปีที่แล้วที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วม สอดคล้องกับผลผลิตยางพาราและปาล์มน้ำมัน ที่คาดว่าผลผลิตจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากเดือนก่อนเช่นกัน เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกและพื้นที่เก็บเกี่ยวที่เพิ่มขึ้นจากปี 54

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal
  • การจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือน ต.ต. 55 เพิ่มขึ้น 171,000 ตำแหน่งจากเดือนก่อนหน้า โดยเป็นการจ้างงานในภาคเอกชน โดยเฉพาะภาคบริการในหมวดธุรกิจ สาธารณสุข และค้าปลีก อย่างไรก็ตาม อัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 7.9 ของกำลังแรงงานรวม จากแรงงานที่กลับเข้าสู่ระบบมากขึ้น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการสหรัฐฯ (ISM Non-Mfg PMI) เดือน ต.ค. 55 อยู่ที่ระดับ 54.2 จุด ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 55.1 จุดในเดือน ก.ย. 55 ผลจากดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจและดัชนียอดคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ดัชนีฯ ยังคงอยู่สูงกว่าระดับ 50.0 จุด บ่งชี้การขยายตัวของภาคบริการสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง ดุลการค้าเดือน ก.ย. 55 ขาดดุลลดลงที่ -58.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
Eurozone: worsening economic trend
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Markit's Comp. PMI) เดือน ต.ค. 55 ปรับลดลงสู่ระดับ 45.7 จุด จากดัชนีฯ ภาคบริการ (Markit's Serv. PMI) เดือน ต.ค. 55 ที่ปรับลงมาอยู่ที่ระดับ 46.0 จุด ทั้งนี้ ดัชนีฯ อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 จุดต่อเนื่องกันกว่า 1 ปี สะท้อนถึงการหดตัวของทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ ยอดค้าปลีก เดือน ก.ย. 55 หดตัวร้อยละ -0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหดตัวร้อยละ -0.2 จากเดือนก่อนหน้าผลจากการหดตัวของสินค้าหมวดเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 55 ECB ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เดือน พ.ย. 55 ที่ร้อยละ 0.75 ต่อปี
China: worsening economic trend
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ (HSBC's Serv. PMI) เดือน ต.ค. 55 ลดลงจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ระดับ 53.5 จากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นและการแข่งขันที่สูงขึ้นทำให้กำไรลดลง สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. 55 ปรับเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาสินค้าภาคบริการที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาเนื้อหมูหดตัวร้อยละ -15.8 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6
Australia: mixed signal
  • วันที่ 6 พ.ย. 55 ธนาคารกลางออสเตรเลียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 3.25 ต่อปี จากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ยังคงชะลอตัว ขณะที่แรงกดดันด้านเงินเฟ้อไม่สูงนัก มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ย. 55 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ร้อยละ -12.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการชะลอลงของการส่งออกไปยังจีนเป็นสำคัญ ในขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน ก.ย. 55 หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 31 เดือนที่ร้อยละ -1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ยอดค้าปลีก เดือน ก.ย. 55 ขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 2.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการเร่งขึ้นของยอดขายอาหารและเครื่องนุ่งห่ม สะท้อนอุปสงค์ในประเทศที่ยังคงแข็งแกร่ง อัตราการว่างงาน เดือน ต.ค. 55 ทรงตัวอยู่ในระดับเดียวกับเดือนก่อหน้าที่ร้อยละ 5.4 ของกำลังแรงงานรวม โดยมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 10,700 ตำแหน่ง
Indonesia: improving economic trend
  • GDP ไตรมาส 3 ปี 55 ขยายตัวร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) โดยการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวเร่งขึ้น ขณะที่การส่งออกและการบริโภคภาครัฐหดตัว ยอดค้าปลีก เดือน ก.ย. 55 ขยายตัวเร่งขึ้นถึงกว่าร้อยละ 22.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากยอดค้าอาหารและเครื่องดื่ม และเครื่องใช้ในบ้านที่ขยายตัวได้ดี อัตราดอกเบี้ยนโยบาย เดือน พ.ย. 55 คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 5.75 เป็นเดือนที่ 11 ณ วันที่ 8 พ.ย. 55
Malaysia: mixed signal
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.ย. 55 กลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือคิดเป็นขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า เนื่องจากการผลิตในทุกหมวดสินค้าที่ขยายตัวเร่งขึ้น ธนาคารกลางมาเลเซียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 3.00 เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 55 เนื่องจากการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศยังคงขยายตัวได้ดี
Philippines: mixed signal
  • อัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. 55 ชะลอลงที่ร้อยละ 3.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
Singapore: worsening economic trend
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 55 อยู่ที่ระดับ 48.3 จุด อยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 13 เดือน และอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 เป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน บ่งชี้การหดตัวของภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่อง
Hong Kong: improving economic trend
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 55 เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 4 เดือนมาอยู่ที่ระดับ 50.5 บ่งชี้การขยายตัวของภาคการผลิต
South Korea: mixed signal
  • วันที่ 9 พ.ย. 55 ธนาคารกลางเกาหลีใต้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.75 จากความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกที่ยังคงอยู่ในระดับสูง
Taiwan: mixed signal
  • มูลค่าการส่งออก เดือน ต.ค. 55 หดตัวร้อยละ -1.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 10.4 จากการส่งออกไปยังสหรัฐฯ และยุโรปที่หดตัวลง ขณะที่การส่งออกไปยังจีนชะลอลงชัดเจน มูลค่าการนำเข้าเดือน ต.ค. 55 หดตัวร้อยละ -1.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.3 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเดือน ต.ค. 55 ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการชะลอลงของราคาอาหาร และสินค้าโภคภัณฑ์เป็นสำคัญ
Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับตัวสูงขึ้นเกิน 1,300 จุดในช่วงต้นสัปดาห์ก่อนปรับตัวลดลง โดย ณ วันที่ 8 พ.ย. 55 ดัชนีฯ ปิดที่ระดับ 1,293.7 จุด โดยดัชนีฯ ปรับตัวลดลงในช่วงกลางสัปดาห์ จากแรงเทขายของนักลงทุนต่างชาติเป็นสำคัญ หลังจากผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ชี้ขาดว่านายโอบามาจะได้เป็นประธานาธิบดีต่อในสมัย 2 ซึ่งทำให้นโยบายลดภาษีเงินได้นิติบุคคลที่นายรอมนีย์เสนอไม่ได้นำมาปฏิบัติจริง อีกทั้งความกังวลต่อสถานการณ์เศรษฐกิจยุโรปต่อการประชุม ECB ที่จะมีขึ้นในวันนี้ (เวลาท้องถิ่น) ทำให้นักลงทุนกลับมาถือสินทรัพย์ปลอดภัยและเทขายหลักทรัพย์ในตลาดแทบทุกภูมิภาค โดยระหว่างวันที่ 5 - 8 พ.ย. 55 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ -1,957.99 ล้านบาท ในขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรปรับตัวลดลง โดยเฉพาะพันธบัตรระยะสั้นอายุไม่เกิน 5 ปี โดยนักลงทุนชะลอการซื้อขายเพื่อรอผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 5 - 8 พ.ย. นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ -240.2 ล้านบาท
  • ค่าเงินบาทค่อนข้างคงที่ โดย ณ วันที่ 8 พ.ย. 55 ปิดที่ระดับ 30.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.03 สอดคล้องกับค่าเงินสกุลภูมิภาค โดยเฉพาะเงินเยนและวอนเกาหลี โดยผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ยังไม่ส่งผลต่อค่าเงินอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ ค่าสกุลอื่นๆ ที่อ่อนค่าลง ทำให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.07
  • ราคาทองคำปรับตัวสุงขึ้นมาก โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 8 พ.ย. 55 ปิดที่ 1,729.99 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ สูงขึ้นจากต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,683.99 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ