รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 14 พฤศจิกายน 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 14, 2012 13:21 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 14 พฤศจิกายน 2555

Summary:

1. คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน แนะรัฐบาลตั้งกอนทุนเยียวยาค่าแรง 300 บาท

2. เป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นปี 56 เพิ่มขึ้นเป็น 1,435 จุด

3. ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิตเดือน ก.ย.55 ของญี่ปุ่นหดตัวต่อเนื่อง

Highlight:

1. คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน แนะรัฐบาลตั้งกอนทุนเยียวยาค่าแรง 300 บาท
  • เลขาธิการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ร่วมกับประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้เปิดเผยเมื่อวันที่ 12 พ.ย. 55 ว่า ได้ส่งหนังสือขอให้นายกรัฐมนตรีตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อพิจารณาเลื่อนขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศวันที่ 1 ม.ค. 56 หรือหากยังยืนยันนโยบายจะขอให้รัฐบาลร่วมศึกษาผลกระทบจากนโยบายดังกล่าว พร้อมประเมินความเป็นไปได้ของ 27 มาตรการเยียวยา
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากการประเมินข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุด พบว่า การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน เริ่มเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 55 ใน 7 จังหวัดนั้น ไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม โดยข้อมูลล่าสุดทั้งทางด้านการบริโภคและการลงทุนพบว่า ยังอยู่ในเกณฑ์ดี อัตราการว่างงานล่าสุดในเดือน ก.ย. ยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.6 ขณะที่เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับปกติที่ร้อยละ 3.0 ทั้งนี้ ผลจากการศึกษาของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม พบว่าผลกระทบจากการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ จะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 3.6 อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้เร่งเห็นถึงภาระต้นทุนที่อาจจะเกิดขึ้นของผู้ผลิต จึงได้ออกมาตรการเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ผ่านมาตรการทางการเงินและมาตรการภาษี เช่น มาตรการโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อมและมาตรการภาษี โดยให้ SME สามารถหักค่าใช้จ่าย 1.5 เท่าของส่วนต่างค่าแรงที่เพิ่มขึ้นจากเดิมเป็น 300 บาทต่อวัน
2. เป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นปี 56 เพิ่มขึ้นเป็น 1,435 จุด
  • บริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) (MFC) เปิดเผยว่า ตลาดหุ้นไทยเริ่มกลับมากังวลในปัจจัยลบเดิมๆ คือหน้าผาทางการคลัง (Fiscal Cliff) และปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรป อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเงินทุนที่เคยไหลออกไปจากตลาดหุ้นไทยในช่วงก่อนหน้านี้จะไหลกลับเข้ามาลงทุนในตลาดเกิดใหม่ในเอเชียรวมทั้งไทย โดยคาดว่าเป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้นเป็น 1,435 จุด จากเดิม 1,395 จุด จากผลกำไรของบริษัทจดทะเบียนในปี 56 ที่จะยังคงเติบโตได้เฉลี่ยร้อยละ 15-17
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปริมาณเงินทุนที่ไหลเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียของนักลงทุนต่างชาติสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของปัจจัยพื้นฐานทางด้านเศรษฐกิจของประเทศกลุ่มภูมิภาคเอเชียที่เติบโตได้ดี โดยมูลค่าการซื้อขายสุทธิสะสมของนักลงทุนต่างชาติตั้งแต่เดือน ม.ค. - ต.ค. 55 อยู่ที่ 47.1 พันล้านบาท สำหรับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทย (SET) ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 พ.ย. 55 ปิดตลาดที่ระดับ 1,294.5 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 26.25 จากต้นปี 55 โดยมีอัตราเงินปันผลตอบแทน (Dividend yield) อยู่ที่ร้อยละ 3.25 และอัตราส่วนราคาหุ้นและกำไรต่อหุ้น (Price to Earning ratio : P/E Ratio) อยู่ที่ 17.06 เท่า ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับภูมิภาคเอเชีย พบว่า P/E Ratio ของไทยสูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียที่ประมาณ 12 เท่า สะท้อนว่านักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดีอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะจากการบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชน แม้ว่าภาคการส่งออกจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่หดตัลง นอกจากนี้ เศรษฐกิจไทยยังจะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ รวมถึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ที่ร้อยละ 2.75 ซึ่งถือเป็นระดับที่เหมาะสมต่อการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 55-56 ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 55 และ 56 จะขยายตัวร้อยละ 5.5 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 5.3-5.8) และร้อยละ 5.2 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 4.7-5.7) ตามลำดับ (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ย. 55)
3. ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิตเดือน ก.ย.55 ของญี่ปุ่นหดตัวต่อเนื่อง
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือน ก.ย. 55 (ตัวเลขปรับปรุง) ของญี่ปุ่นหดตัวร้อยละ -4.1 ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อนหน้า จากผลของการหดตัวของภาคการส่งออกและข้อพิพาทเรื่องดินแดนระหว่างญี่ปุ่นและจีน ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตในเดือน ก.ย. 55 หดตัวร้อยละ -5.5 หดตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ -2.6
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การหดตัวของผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิตของญี่ปุ่นสอดคล้องกับการหดตัวของภาคการส่งออก โดยล่าสุด มูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือน ก.ย. 55 ของญี่ปุ่นหดตัวต่ำสุดในรอบ 17 เดือน ที่ร้อยละ -10.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยเป็นผลจากการส่งออกไปยังประเทศในกลุ่มยูโรโซนและจีนที่หดตัวต่อเนื่อง โดยผลกระทบทางการค้าระหว่างญี่ปุ่นและจีนสะท้อนถึงผลกระทบของกรณีข้อพิพาทเรื่องเกาะเซนกากุ/เตียวหยูระหว่างญี่ปุ่นกับจีน รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของญี่ปุ่นอย่างชัดเจน นอกจากนี้ การบริโภคภาคเอกชนซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่ช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจญี่ปุ่น (Contribution to GDP Growth) เติบโตมีสัญญาณหดตัว โดยล่าสุด GDP ในไตรมาสที่ 3 ปี 55 ขยายตัวร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสแดียวกัน ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.3 และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้ว หดตัวร้อยละ -0.9 ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.1 โดยเป็นผลจากภาคการบริโภคภาคเอกชนที่หดตัวร้อยละ -0.5 และอุปสงค์จากต่างประเทศที่หดตัวร้อยละ -0.7 ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในปี 55 และ 56 จะขยายตัวร้อยละ 2.4 และ 1.6 ตามลำดับ (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ย. 55)

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ