รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 15 พฤศจิกายน 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 15, 2012 11:11 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 15 พฤศจิกายน 2555

Summary:

1. ธนาคารโลกร่วมกับญี่ปุ่นหนุนไทยเป็นศูนย์กลางประกันในภูมิภาคอาเซียน

2. บล.กสิกรไทยคาดการณ์แนวโน้ม SET Index ปี 56 เพิ่มขึ้นเกิน 1,500 จุด

3. พายุเฮอร์ริเคนแซนดี้จะส่งผลกระทบต่อยอดค้าปลีกของสหรัฐเป็นอันดับแรก

Highlight:

1. ธนาคารโลกร่วมกับญี่ปุ่นหนุนไทยเป็นศูนย์กลางประกันในภูมิภาคอาเซียน
  • เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ได้ไปร่วมประชุมหน่วยงานกำกับดูแลธุรกิจประกันภัยสากลทั่วโลก (International Association of Insurance Supervisors :IAIS) ที่สหรัฐอเมริกา และได้พบกับผู้บริหารธนาคารโลก ซึงธนาคารโลกได้เสนอแนวทางให้ไทยเป็นศูนย์กลาง ด้านประกันในภูมิภาคอาเซียน โดยในเบื้องต้น ธนาคารโลกจะเข้ามาช่วยประสานความร่วมมือของประเทศในกลุ่มอาเซียน 10 ประเทศ เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาธุรกิจประกันภัยให้ไปในแนวทางเดียวกันเพื่อรองรับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การเปิดเสรีด้านการเงินซึ่งเป็นหนึ่งในข้อตกลงของการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ซึ่งนับเป็นโอกาสและความท้าทายของไทย ซึ่งจะทำให้ตลาดประกันภัยมีขนาดใหญ่ขึ้น ธุรกิจจะเติบโตเร็วขึ้น แต่จะนำไปสู่การแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้ จากข้อมูลล่าสุด 7 เดือนแรกปี 55 ธุรกิจประกันภัยของไทยมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวมทั้งสิ้น 358,521 ล้านบาท ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 19.5 ส่งผลให้ธุรกิจประกันภัย มีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 2.33 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 49.9 ส่วนหนึ่งเนื่องจากนโยบายรัฐบาลในการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมการประกันภัยพิบัติจากเหตุการณ์มหาอุทกภัย เมื่อปลายปี 54 ตลอดจนผลิตภัณฑ์ประกันภัยรูปแบบใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ส่งผลให้ประชาชนเล็งเห็นความสำคัญและเข้าถึงการทำประกันภัยมากขึ้น
2. บล.กสิกรไทยคาดการณ์แนวโน้ม SET Index ปี 56 เพิ่มขึ้นเกิน 1,500 จุด
  • บล. กสิกรไทย ประเมินแนวโน้มดัชนีตลาดตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET Index) ปี 56 ยังปรับขึ้นต่อได้ โดยอยู่ที่ระดับ 1,500 จุด อัตราส่วนราคาตลาดต่อกำไรต่อหุ้น (Price to Earning ratio : P/E Ratio) 13 เท่า จากการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ ซึ่งจะทำให้กำไรบริษัทจดทะเบียน เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 15 โดยเฉพาะกลุ่มอุปโภคบริบริโภคที่จะได้ประโยชน์จากการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท มากระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า SET Index ปรับเพิ่มขึ้นจากช่วงต้นปี 55 ถึงร้อยละ 19.8 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีมูลค่าหลักทรัพย์ (Market Capitalization) เท่ากับ 10.9 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.1 โดยนักลงทุนต่างประเทศและบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ซื้อสุทธิจำนวน 44.6 พันล้านบาท แต่นักลงทุนสถาบัน และนักลงทุนภายในประเทศขายสุทธิจำนวน 31.5 และ 13.0 พันล้านบาท ตามลำดับ ประกอบกับกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนในช่วงครึ่งแรกของปี 55 ปรับลดลงร้อยละ 15.11 อย่างไรก็ตาม หากพิจารณารายอุตสาหกรรมพบว่า กำไรสุทธิของอุตสาหกรรมบริการ และอุตสาหกรรมเกษตร และอุตสาหกรรมอาหารปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 172.4 และ 40.4 ตามลำดับ ซึ่งสอดคล้องกับ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ที่ปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นต้น สะท้อนถึงความสามารถ ในการบริโภคที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐ เช่น การปรับขึ้น โครงการขึ้นเงินเดือนข้าราชการ ป.ตรี 15,000 บาท และการคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ที่ร้อยละ 7.0 เป็นต้น ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวของการบริโภครวมในปี 55 และ 56 จะขยายตัว ร้อยละ 4.9 และ 3.9 ตามลำดับ (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ย. 55)
3. พายุเฮอร์ริเคนแซนดี้จะส่งผลกระทบต่อยอดค้าปลีกของสหรัฐเป็นอันดับแรก
  • Stanley คาดว่ามูลค่าการส่งออกจะหดตัวลดลงร้อยละ 0.3 ในเดือนตุลาคม 55 แต่อาจจะได้กำไรร้อยละ 0.1 ในกรณีที่ไม่นับรวมภาคยานยนต์ นอกจากนี้ Stanley ยังกล่าวเพิ่มเติมว่ามีจะได้มีการสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นภายหลังของร้านขายของชำและวัสดุก่อสร้าง ซึ่งจะเป็นการชดเชยในภายหลัง ซึ่งพายุเฮอร์ริเคนแซนดี้ได้เข้าตีชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ ด้านนิวเจอร์ซีย์และนิวยอร์คในวันที่ 29 ตุลาคมที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่าจะมีผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อเศรษฐกิจในสหรัฐ แต่จะทำให้ตัวเลขทางเศรษฐกิจลดลงจนถึงสิ้นปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า พายุแซนดี้กลายเป็นพายุเฮอริเคนในมหาสมุทรแอตแลนติกใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ (วัดจากเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1,800 กิโลเมตร) โดยคาดว่าจะให้เกิดความเสียหายอย่างน้อย 20 พันล้านดอลล่าร์ แต่จากการประมาณเบื้องต้นของความสูญเสีย รวมกับธุรกิจที่ต้องหยุดชะงักอาจจะเกิน 50 พันล้านดอลล่าร์ อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจสหรัฐยังคงมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นโดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ต.ค. 55 ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 72.2 จุด สูงสุดในรอบ 56 เดือน จากระดับ 68.4 จุดในเดือนก่อนหน้า จากภาคการจ้างงานที่เริ่มฟื้นตัว โดยการจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือน ต.ต. 55 เพิ่มขึ้น 171,000 ตำแหน่งจากเดือนก่อนหน้า ส่วนดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมเดือน ต.ค. 55 ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 57.7 สูงสุดในรอบ 5 เดือน จากระดับ 57.5 ในเดือนก่อนหน้า ในส่วนดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการสหรัฐฯ เดือน ต.ค. 55 อยู่ที่ระดับ 54.2 จุด ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 55.1 จุดในเดือน ก.ย. 55 ผลจากดัชนีกิจกรรมทางธุรกิจและดัชนียอดคำสั่งซื้อสินค้าใหม่ที่ลดลง ทั้งนี้ ตัวเลขสถิติล่าสุดในเดือน ต.ค. ยังไม่ได้แสดงผลกระทบจากพายุแซนดี้นี้ แต่อาจจะมีผลกระทบในเดือน พ.ย. ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐในปี 55 จะขยายตัวร้อยละ 2.2 (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ย. 55)

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ