Macro Morning Focus ประจำวันที่ 21 พฤศจิกายน 2555
1. รัฐบาลเดินหน้าค่าแรง 300 บาท กระตุ้นบริโภค ชดเชยส่งออก
2. รมว.กระทรวงพาณิชย์ เผยที่ประชุมผู้นำอาเซียน-จีนลงนามความร่วมมือแก้ปัญหาอุปสรรคการส่งออก
เพื่อขยายการค้าระหว่างกัน เริ่ม 1 ม.ค. 56
3. BOJ คงอัตราดอกเบี้ยที่ร้อยละ 0 - 0.10 ตามคาดการณ์
Highlight:
- รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในยุโรปรุนแรงกว่าที่คาดไว้ส่งผลกระทบการส่งออกของไทยต่ำกว่าที่ประมาณการไว้ ทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคตไม่สามารถพึ่งการส่งออกเพียงอย่างเดียวได้อีกต่อไป ทั้งนี้ รัฐบาลต้องปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เพื่อกระตุ้นการบริโภคให้เศรษฐกิจขยายตัว ขณะเดียวกันการเพิ่มค่าแรงจะเป็นแรงกดดันให้ผู้ประกอบการเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้นไปด้วย
- สศค. วิเคราะห์ว่า วิกฤติหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศยูโรโซนที่ยังคงเรื้อรัง การขยายเศรษฐกิจสหรัฐที่ฟื้นตัวอย่างเปราะบาง รวมถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนที่ชะลอลง ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/55 ขยายตัวร้อยละ 3.0 ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากไตรมาสที่ 2/55 ที่ขยายตัวร้อยละ 4.2 ปัจจัยหลักจากการส่งออกสินค้าและบริการในรูปดอลลาร์สหรัฐหดตัวร้อยละ -2.8 ขณะที่การบริโภคภาคครัวเรือนมีการขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 6.0 ตามรายได้ของประชาชนที่ยังคงอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งนี้ การปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาท จะช่วยกระตุ้นและสร้างแรงจูงใจให้แรงงานเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้เกิดค่าแรงประสิทธิภาพ (Efficiency wage) ที่ผู้ใช้แรงงานมีความตื่นตัวในการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ภายหลังจากที่ได้รับค่าตอบแทนที่สูงขึ้น อย่างไรก็ดี ผลของการปรับขึ้นค่าแรงเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 55 ใน 7 จังหวัดนั้น ไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม โดยข้อมูลล่าสุดทั้งทางด้านการบริโภคและการลงทุนพบว่า ยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนได้จากอัตราการว่างงานล่าสุดในเดือนก.ย. 55 ยังอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.6 ขณะที่เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับปกติที่ร้อยละ 3.0
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในการประชุมผู้นำอาเซียน-จีน ครั้งที่ 15 เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 55 ที่ผ่านมา ว่า ได้มีการลงนามพีธีสารระหว่างรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน-จีน 2 ฉบับ ฉบับแรก คือ พิธีสารเพื่อผนวกข้อบทอุปสรรคเทคนิคต่อการค้า มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช หรือพิธีสาร SPS/TBT และอีกฉบับ คือ พิธีสารเพื่อแก้ไขกรอบความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน โดยพิธีสารทั้ง 2 ฉบับ จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 .ค. 56
- สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลการส่งออกของไทยไปทั้งโลกในช่วง 9 เดือนแรกของปี 55 พบว่าหดตัวที่ร้อยละ -1.1 ขณะที่การส่งออกไทยไปในตลาดอาเซียน 5 หดตัวที่ร้อยละ -1.9 และการส่งออกไทยไปจีน ขยายตัวที่ร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะหมวดสินค้าจำพวกผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ที่ขยายตัวถึงร้อยละ 49.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ การลงนามพีธีสารระหว่างอาเซียน-จีน นั้น จะส่งผลดีต่อมูลค่าการค้าเพิ่มขึ้นของกลุ่มประเทศทั้งสอง สะท้อนได้จากการค้าระหว่างอาเซียน-จีน ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 55 มีมูลค่า 2.88 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่สัดส่วนการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน ในครึ่งแรกของปี 55 อยู่ที่ร้อยละ 81.03 ถือได้ว่าจีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของอาเซียนและเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 2 ของอาเซียน
- ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยเผื่อเรียกข้ามคืนไว้ที่ร้อยละ 0 - 0.10 ตามความคาดหมาย รวมถึงไม่ได้ขยายวงเงินในโครงการซื้อสินทรัพย์ขึ้นจากระดับ 91 ล้านล้านเยน (1.12 ล้านล้านดอลลาร์) ในปัจจุบันหลังจากที่ได้ผ่อนคลายนโยบายเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันในเดือนที่แล้ว ทั้งนี้ ในปี 55 BOJ ได้ขยายมาตรการกระตุ้นทางการเงิน 4 ครั้งแล้วด้วยการเพิ่มวงเงินการซื้อสินทรัพย์ ขณะที่ผลกระทบจากการส่งออกและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอตัวทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย
- สศค. วิเคราะห์ว่า การคงอัตราดอกเบี้ยของ BOJ สอดคล้องกับทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่มีสัญญาณหดตัว โดยล่าสุด GDP ในไตรมาสที่ 3 ปี 55 ขยายตัวร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสแดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.3 และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้ว หดตัวร้อยละ -0.9 ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.1 โดยเป็นผลจากภาคการบริโภคภาคเอกชนที่หดตัวร้อยละ -0.5 และอุปสงค์จากต่างประเทศที่หดตัวร้อยละ -0.7 สำหรับภาคการผลิตก็มีสัญญาณหดตัวเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมในเดือน ต.ค. 55 อยู่ที่ระดับ 46.9 จุด ซึ่งต่ำสุดในรอบ 18 เดือน และลดลงจากระดับ 48.0 จุด ในเดือนก่อนหน้า สะท้อนภาคการผลิตที่ยังคงอ่อนแอ ซึ่งสอดคล้องกับการหดตัวของภาคการส่งออก โดยล่าสุด มูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือน ก.ย. 55 หดตัวต่ำสุดในรอบ 17 เดือน ที่ร้อยละ -10.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยเป็นผลจากการส่งออกไปยังประเทศในกลุ่มยูโรโซนและจีนที่หดตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะผลกระทบทางการค้าระหว่างญี่ปุ่นและจีนซึ่งถือเป็นคู่ค้าหลักอันดับ 1 ของญี่ปุ่นที่มีสัดส่วนการส่งออกในปี 54 ที่ร้อยละ 19.7 จากกรณีข้อพิพาทเรื่องเกาะเซนกากุ/เตียวหยูระหว่างญี่ปุ่นกับจีนและการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในปี55 และ 56 จะขยายตัวร้อยละ 2.4 และ 1.6 ตามลำดับ (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ย. 55)
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:
Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th