รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 22 พฤศจิกายน 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 22, 2012 10:56 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 22 พฤศจิกายน 2555

Summary:

1. ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ชี้ภาคการส่งออกยังต้องกระจายตลาด เหตุยุโรปชะลอตัว

ควรใช้โอกาส AEC ลงทุนส่งสินค้าอุปโภคบริโภคที่เป็นจุดแข็ง

2. FAO คาดการณ์สต็อคข้าวทั่วโลกปี 55 เพิ่มร้อยละ 7

3. การส่งออกญี่ปุ่น 10 เดือนแรกต่ำสุดในรอบ 3 ปี

Highlight:

1. ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ชี้ภาคการส่งออกยังต้องกระจายตลาด เหตุยุโรปชะลอตัว ควรใช้โอกาส ลงทุนส่งสินค้าอุปโภคบริโภคที่เป็นจุดแข็ง
  • ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุลกล่าวในหัวข้อ "กลยุทธ์ธุรกิจไทยฝ่าภัยเศรษฐกิจโลก" ว่า การชะลอตัวของสหรัฐและยุโรปมีผลต่อยอดส่งออกของไทยให้ลดลง ถือเป็นตลาดที่พึ่งไม่ได้แล้ว แต่ที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยมีการกระจายตลาดมานานมากกว่า20 ปี ทำให้ในขณะนี้เราพึ่ง 2 ตลาดดังกล่าว เหลือร้อยละ 20 และค้าขายในประเทศแถบเอเชียตะวันออกที่ร้อยละ 50 ซึ่งการกระจายตลาดยังคงต้องทำต่อเนื่อง เพราะยุโรปต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวและและมีความเสี่ยงที่สหภาพยุโรปจะล่มสลาย ถึงแม้ในขณะนี้ธนาคารกลางยุโรปใช้วิธีประคับประคอง แต่กลับทำให้การแก้ปัญหาช้าไป 5-10 ปี
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ความเสี่ยงจากปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะในสหภาพยุโรป ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย จากข้อมูลล่าสุด พบว่า มูลค่าการส่งออกในช่วง 9 เดือนแรกของปี 55 หดตัวที่ร้อยละ -1.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม การส่งออกของไทยยังได้รับปัจจัยบวกจากตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ อันได้แก่ ตลาดอาเซียน ออสเตรเลีย แอฟริกา อินเดียและฮ่องกง โดยสินค้าส่งออกในเดือน ก.ย. 55 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นสินค้าในหมวดอุตสาหกรรม โดยเฉพาะหมวดยานพาหนะขยายตัวร้อยละ 9.5 วัสดุก่อสร้างขยายตัวร้อยละ 48.8 อัญมณีและเครื่องประดับขยายตัวร้อยละ 161.1 เป็นสำคัญทั้งนี้ การรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 58 จะส่งผลดีต่อการขยายตลาดส่งออกของไทยให้เติบโตได้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากการรวมกลุ่มดังกล่าวจะก่อให้เกิดการยกเลิกหรือลดอุปสรรคทางการค้า ทั้งอุปสรรค์ทางด้านภาษีหรือมาตรการทางการค้าอื่นๆ ที่มิใช่ภาษี รวมถึงอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุนระหว่างกัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคตต่อไป
2. FAO คาดการณ์สต็อคข้าวทั่วโลกปี 55 เพิ่มร้อยละ 7
  • องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) คาดการณ์ว่า ปริมาณผลผลิตข้าวทั่วโลกปี 55 จะมีมากกว่าปริมาณการบริโภคทั้งในปี 55 และ 56 เนื่องจากผลผลิตที่ดีเกินคาดในช่วงฤดูเพาะปลูกในหลายประเทศ เช่น อินเดีย อียิปต์ เกาหลีเหนือ ฟิลิปปินส์ สหรัฐฯ เวียดนาม ซึ่งทำให้ปริมาณข้าวที่เก็บสำรองไว้ทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 7 หรือราว 10 ล้านตัน โดยปริมาณสุทธิจะเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์รอบใหม่เกือบ 170 ล้านตัน ส่งผลให้เป็นปีที่ 8 ติดต่อกันที่ปริมาณข้าวสำรองในสต็อคเพิ่มขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปริมาณผลผลิตข้าวทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นของประเทศผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ เช่น จีน อินเดีย สหรัฐฯ ไทย สอดคล้องกับการคาดการณ์ของ FAO เนื่องจากสภาพอากาศในช่วงที่ผ่านมาเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกสินค้าเกษตร สำหรับประเทศไทย ปริมาณผลผลิตข้าวเปลือกเจ้าในเดือน ก.ย. 55 อยู่ที่ 1.7 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 55 มีผลผลิตรวมอยู่ที่ 15.5 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.4 นอกจากนี้ ในส่วนของรัฐบาลก็ยังมีนโยบายรับจำนำข้าวเปลือกที่ส่งผลให้ราคาข้าวไทยปรับตัวสูงขึ้น โดยล่าสุด ดัชนีราคาสินค้าเกษตรข้าวเปลือกในเดือน ก.ย. 55 ขยายตัวร้อยละ 3.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรข้าวเปลือกที่รวมผลของนโยบายรับจำนำข้าวเปลือกขยายตัวสูงถึงร้อยละ 22.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่มีส่วนช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรไทยให้ดีขึ้นได้
3. การส่งออกญี่ปุ่น 10 เดือนแรกต่ำสุดในรอบ 3 ปี
  • กระทรวงการคลังของญี่ปุ่นแถลงว่า การส่งออกของญี่ปุ่นในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้มีมูลค่ารวม 53.5 ล้านล้านเยน หรือลดลงร้อยละ -2.3 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่วนยอดขาดดุลการค้านับถึงปัจจุบันอยู่ที่ 5.3 ล้านล้านเยน ขณะที่ในเดือนตุลาคม มูลค่าการส่งออกลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 โดยลดจากปีที่แล้วร้อยละ -6.5 มาอยู่ที่ 5.150 ล้านล้านเยน ซึ่งเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ส่วนการนำเข้าลดลงร้อยละ -1.6 เหลือ 5.7 ล้านล้านเยน ทำให้มียอดขาดดุลการค้าอยู่ที่ประมาณ 5.5 แสนล้านเยน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่มูลค่าการส่งออกรวมของญี่ปุ่นลดลง เนื่องจาก (1) การส่งออกไปจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกขนาดใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น โดยมีมูลค่าการส่งออกคิดเป็นร้อยละ 19.7 ของมูลค่าการส่งออกรวม ได้ปรับลดลงถึงร้อยละ -11.6 ส่วนหนึ่งเกิดจากการต่อต้านการซื้อสินค้าญี่ปุ่นอันเป็นผลจากความขัดแย้ง เรื่องดินแดน และ (2) การส่งออกไปสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับ 3 รองจากสหรัฐฯ โดยมีมูลค่าการส่งออกคืดเป็นร้อยละ 15.4 ของมูลค่าการส่งออกรวม ได้ปรับลดลงร้อยละ -20.1 เนื่องมาจากปัญหาหนี้สาธารณะ ซึ่งส่งผลให้ภาครัฐและภาคเอกชนของสหภาพยุโรปลดการใช้จ่ายลง จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้นส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 3/55 ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.1 ทางฤดูกาลแล้ว หดตัวร้อยละ -0.9 ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.1 ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในปี55 และ 56 จะขยายตัวร้อยละ 2.4 และ 1.6 ตามลำดับ (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ย. 55)

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ