Macro Morning Focus ประจำวันที่ 23 พฤศจิกายน 2555
1. PwC เชื่อมั่นพื้นฐานไทยแกร่ง ชี้ 12 เดือนข้างหน้าเศรษฐกิจยังเป็นขาขึ้น
2. ดัชนีชี้นำการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจสหรัฐฯ เดือน ต.ค. 55 ขยายตัวร้อยละ 0.2 จากเดือนก่อนหน้า
3. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม(ตัวเลขเบื้องต้น)จัดทำโดย HSBC ของจีน เดือน พ.ย. 55 อยู่ที่ระดับ 50.4 จุด
Highlight:
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทย ปี 56 น่าจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยจากการประมาณการ ณ เดือน ก.ย. 55 คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 5.2 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.7 - 5.7) โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากอุปสงค์ภาครัฐและอุปสงค์จากต่างประเทศที่คาดว่าจะยังคงขยายตัวได้ อันมีปัจจัยสนับสนุนจากการเบิกจ่ายตามแผนบริหารจัดการน้ำในระยะยาวของภาครัฐวงเงินลงทุนรวม 3.5 แสนล้านบาทที่คาดว่าจะเริ่มทยอยลงทุนได้มากขึ้นในปี 56 ประกอบกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่แม้ว่าจะยังคงมีความเสี่ยง แต่มีแนวโน้มว่าจะเริ่มฟื้นตัวขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ตาม อุปสงค์ภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอลง ภายหลังจากที่มีการเร่งการบริโภคและการลงทุนเพื่อฟื้นฟูภายหลังเหตุการณ์อุทกภัยไปมากแล้วในปีก่อน ในด้านเสถียรภาพภายในประเทศ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 56 จะอยู่ที่ร้อยละ 3.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.0 - 4.0) ตามอุปสงค์น้ำมันในตลาดโลกที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจในเอเชีย
- ดัชนีชี้นำการเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจ (Leading Economic Indicators) สหรัฐฯ ซึ่งบ่งชี้ทิศทางเศรษฐกิจในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้า เดือน ต.ค. 55 ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ที่ร้อยละ 0.2 จากเดือนก่อนหน้า โดยชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.5 (ตัวเลขปรับปรุง) จากการที่ผู้ประกอบการสหรัฐฯ ชะลอการลงทุนลงเพื่อรอดูภาพรวมของนโยบายการคลังของประเทศ หรือประเด็นหน้าผาทางการคลัง (Fiscal Cliff) ที่จะเริ่มส่งผลกระทบต่อภาคเอกชนนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 56
- สศค. วิเคราะห์ว่า เครื่องชี้เศรษฐกิจสหรัฐฯ บ่งชี้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทั้งในภาคบริการ และภาคอุตสาหกรรม โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (Purchasing Manager Index: PMI) ของทั้ง 2 ภาคส่วนอยู่ในระดับสูงกว่า 50 โดยล่าสุดในเดือน ต.ค. 55 PMI ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการอยู่ที่ระดับ 51.7 และ 54.2 จุด ตามลำดับ นอกจากนี้ เครื่องชี้ภาคการจ้างงานปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน โดยการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ต.ค. 55 เพิ่มขึ้น 171,000 ตำแหน่ง ผนวกกับอัตราการว่างงานลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ 7.9 ของกำลังแรงงานรวม สะท้อนเศรษฐกิจสหรัฐที่มีทิศทางดีขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ประเด็นหน้าผาทางการคลัง (Fiscal Cliff) ได้สร้างความกังวลแก่ภาคเอกชนสหรัฐฯ จากการที่พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากในสภาคองเกรส ซึ่งอาจทำให้รัฐบาลโอบามาไม่สามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมตามที่คาดไว้ และอาจส่งผลลบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป โดยในเดือน ก.ย. 55 สศค. คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 2.4 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 1.9-2.9) เร่งขึ้นจากปี 55 ที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.2 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 1.7-2.7)
- HSBC ประกาศตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ภาคอุตสาหกรรม (ตัวเลขเบื้องต้น) ของจีน เดือน พ.ย. 55 อยู่ที่ระดับ 50.4 จุด อยู่ในระดับสูงสุดและอยู่เหนือระดับ 50 จุด เป็นครั้งแรกในรอบ 13 เดือน บ่งชี้ภาคอุตสาหกรรมจีนที่กลับมาขยายตัวอีกครั้ง ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (ตัวเลขเบื้องต้น) เดือนเดียวกัน ที่อยู่ระดับ 51.3 จุด กลับมาอยู่ระดับเหนือ 50 จุด เป็นครั้งแรกในรอบ 13 เดือนเช่นกัน
- สศค. วิเคราะห์ว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อภาคอุตสาหกรรมของจีนปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากดัชนีคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกที่ปรับเพิ่มขึ้นเหนือระดับ 50 จุด อันเป็นผลมาจากการเร่งส่งออกสินค้าเพื่อใช้ในช่วงเทศกาลคริสต์มาสที่จะมีขึ้นในเดือนหน้า ทำให้ผู้ประกอบการเร่งสั่งซื้อสินค้าวัตถุดิบเพื่อเร่งผลิตสินค้า ทั้งนี้ ดัชนีฯ ที่เพิ่มขึ้นเกิน 50 จุดนี้ สะท้อนการขยายตัวทางภาคอุตสาหกรรมของจีน อันเป็นปัจจัยสนับสนุนต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน เนื่องจากภาคอุตสาหกรรมคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 46.6 ของ GDP ถือว่าเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาคอุปทาน ทั้งนี้ ตัวเลขดัชนีดังกล่าวสอดคล้องเครื่องชี้ภาคอุปสงค์ที่ส่งสัญญาณฟื้นตัวเช่นกัน กล่าวคือ มูลค่าการส่งออกของจีน เดือน ต.ค. 55 ที่ขยายตัวในอัตราเร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 11.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:
Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th