นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมหัวหน้าหน่วยงาน รัฐวิสาหกิจ และผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อชี้แจงมาตรการเร่งรัดติดการใช้จ่ายเงินงบประมาณ ปี พ.ศ. 2556 ว่า รัฐบาลมีแนวทางการบริหารจัดการรายจ่ายภาครัฐโดยให้ความสำคัญกับการเร่งรัดการใช้จ่ายเงินงบประมาณ เพื่อให้แผนงาน/โครงการภายใต้งบประมาณบรรลุวัตถุประสงค์ตามกรอบระยะเวลา ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 ได้ประกาศตั้งแต่ต้นปีงบประมาณ คือตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2555 ทำให้ส่วนราชการ สามารถดำเนินการได้ตั้งแต่ต้นปี ทางคณะกรรมการฯ จึงได้ประชุมหารือเพื่อกำหนดมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่าย และเป้าหมายการเบิกจ่ายไว้สูงกว่าเดิม คือ รายจ่ายภาพรวมร้อยละ 94 และรายจ่ายลงทุนร้อยละ 80 ทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจสูงถึง 2.256 ล้านล้านบาท ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบมาตรการแล้วเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2555 นอกจากนี้ ยังกำหนดแนวทางการดำเนินงานอื่นๆ เพื่อสนับสนุนให้การเบิกจ่ายเงินงบประมาณเป็นไปตามเป้าหมายด้วย โดยได้มอบหมายให้กรมบัญชีกลางประชุมชี้แจงหัวหน้าหน่วยงาน รัฐวิสาหกิจ และผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อให้ทราบนโยบายและแนวปฏิบัติต่างๆ ตามมาตรการดังกล่าว พร้อมทั้งรับฟังปัญหาอุปสรรคต่างๆ เพื่อที่กรมบัญชีกลางจะได้หาแนวทางช่วยเหลือ แนะนำ และแก้ไขปัญหาให้ต่อไป
นายกิตติรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตามมาตรการฯ ได้กำหนดเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติอื่นๆ ได้แก่
1. ให้ส่วนราชการ และรัฐวิสาหกิจเร่งดำเนินการก่อหนี้ผูกพันให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2556 หากดำเนินการไม่ทันตามกำหนด ให้ชี้แจงปัญหาอุปสรรคพร้อมเหตุผลความจำเป็น โดยกรมบัญชีกลางจะมีทีมงานในรูปแบบคณะทำงานติดตามเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ ลงพื้นที่ เพื่อตรวจสอบติดตามหน่วยงานที่มีการเบิกจ่ายเงินล่าช้า และให้คำแนะนำ เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ และให้นำผลการเบิกจ่ายเงินงบประมาณเป็นตัวชี้วัดคำรับรองการปฏิบัติราชการในปี พ.ศ. 2556 ด้วย
2. ไม่มีนโยบายให้กันเงินงบประมาณปี พ.ศ. 2556 ไว้เบิกเหลื่อมปีกรณีไม่มีหนี้ผูกพัน สำหรับเงินงบประมาณปีก่อน ๆ ที่อนุมัติให้กันเงินและขยายเวลาเบิกจ่ายเงินไว้แล้ว ให้เร่งดำเนินงานและเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2556
3. เมื่อส่วนราชการและจังหวัดทำแผนการใช้จ่ายเงินและแผนปฏิบัติงานแล้วต้องติดตามประเมินผลเพื่อตรวจสอบผลการปฏิบัติงานด้วย หากไม่เป็นไปตามแผน ก็ให้ปรับปรุงแผนการใช้จ่ายเงินให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงในระบบ GFMIS ซึ่งสามารถปรับปรุงแผนได้ตั้งแต่วันที่ 15 พฤศจิกายน 2555 — 30 มิถุนายน 2556
4. ให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ โอนจัดสรรเงินงบประมาณที่ต้องดำเนินการในเขตพื้นที่จังหวัด ยกเว้นงบบุคลากร โดยไม่ชักช้า แต่อย่างช้าไม่เกิน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับจัดสรรงบประมาณ
5. ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานของรัฐที่ได้รับจัดสรรเงินงบประมาณ ต้องบันทึกข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างในระบบ e-GP ระยะที่ 2 เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลจากระบบ e-GP ไปยังระบบ GFMIS Web Online
6. การโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณรายจ่ายตามระเบียบบริหารงบประมาณสามารถโอนเปลี่ยนแปลงตามอำนาจได้แต่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายน 2556 แต่หากต้องขออนุมัติสำนักงบประมาณต้องส่งเรื่องให้สำนักงบประมาณ ภายในเดือนกรกฎาคม 2556
7. การเร่งรัดติดตามการใช้จ่ายเงินให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดกับหัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และผู้ว่าราชการจังหวัด ติดตามและกำกับดูแลโดยเคร่งครัด โดยให้ตั้งกรรมการหรือคณะทำงานในการเร่งรัดการใช้จ่ายเงิน และรายงานปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ ให้ทราบ
8. ให้กระทรวงมหาดไทย โดยกรมส่งเสริมปกครองท้องถิ่น รายงานผลการใช้จ่ายเงินและปัญหาอุปสรรคต่อคณะกรรมการติดตามเร่งรัดฯ เป็นรายไตรมาส และให้กรมบัญชีกลาง และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ รายงานผลการเบิกจ่าย และรายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจทุกแหล่งเงิน รวมทั้งปัญหาอุปสรรค ให้คณะรัฐมนตรีทราบเป็นรายไตรมาส
“การกำหนดมาตรการเร่งรัดติดตามการใช้จ่ายเงินงบประมาณในปีนี้ อาจจะมีความเข้มงวดมากขึ้นจากเป้าหมายการเบิกจ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น แต่มีความเชื่อมั่นว่าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และจังหวัด จะสามารถดำเนินการได้ด้วยการติดตามเร่งรัดและให้คำปรึกษาแนะนำอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องจากกรมบัญชีกลาง ซึ่งจะทำให้หน่วยงานปฏิบัติงานและเบิกจ่ายงบประมาณได้ตามแผน และส่งผลให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว ต่อเนื่อง และกระจายความเจริญไปทั่วทุกภูมิภาค” นายกิตติรัตน์ กล่าว
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมบัญชีกลาง
โทร. 02 127 7143
--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 134/2555 23 พฤศจิกายน 2555--