รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 19 - 23 พฤศจิกายน 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 26, 2012 11:00 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary
Indicators this week
  • ผลการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือนต.ค. 55 สามารถเบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 312.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 87.0

เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน ต.ค. 55 ขยายตัวที่ร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ หดตัวชะลอลงร้อยละ -6.2

  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ต.ค. 55 อยู่ที่ระดับ 93.0
  • ปริมาณจำหน่ายปูนซิเมนต์ภายในประเทศในเดือน ต.ค. 55 ขยายตัวร้อยละ 30.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • GDP มาเลเซีย ไตรมาส 3 ปี 55 ขยายตัวร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ฮ่องกง ไตรมาส 3 ปี 55 ขยายตัวร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ภาคอุตสาหกรรมจีน ที่จัดทำโดย HSBC (HSBC's Mfg. PMI) เดือน พ.ย. 55 อยู่ที่ระดับ 50.4 จุด
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหภาพยุโรป เดือน พ.ย. 55 อยู่ที่ระดับ -26.9 จุด
  • มูลค่าการส่งออกญี่ปุ่น เดือน ต.ค. 55 กลับมาหดตัวอีกครั้งที่ร้อยละ -6.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
Indicators next week
 Indicators                          Forecast             Previous
 Oct : MPI  (%YoY)                     20.0                 -13.7

เนื่องจากปัจจัยฐานต่ำจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็นสำคัญ ประกอบกับอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ อาทิ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม และอุตสาหกรรมยานยนต์ที่คาดว่าจะยังคงขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องสะท้อนจากยอดขายที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี บางอุตสาหกรรมยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ โดยเฉพาะ HDD ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

 Indicators                          Forecast             Previous
 Oct : Passenger car sale (%YoY)       150.0                67.8

โดยได้รับปัจจัยบวกจาก 1. ปัจจัยฐานต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมในช่วงปลายปี 54 2. การฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง และ 3. จากนโยบายสนับสนุนของภาครัฐ ในการสนับสนุนการซื้อรถคันแรก โดยผู้บริโภคได้รับการคืนภาษีสูงถึง 1 แสนบาท สำหรับรถที่มีการซื้อจนถึง 31 ธันวาคม 55

Economic Indicators: This Week
  • ผลการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือนต.ค. 55 สามารถเบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 312.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 87.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในเดือนต.ค. 55 มีการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบัน 290.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 86.4 แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 286.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 109.9 (2) รายจ่ายลงทุน 4.0 พันล้านบาท หดตัวร้อยละ -79.5 ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญ ได้แก่รายจ่ายของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 49.8 พันล้านบาท รายจ่ายกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 42.0 พันล้านบาท เงินอุดหนุนของกระทรวงศึกษาธิการ 25.2 พันล้านบาท และรายจ่ายเพื่อชำระหนี้ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ 14.5 พันล้านบาท เป็นสำคัญ สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณจากปีก่อนเบิกจ่ายได้ 21.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 87.0
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ต.ค. 55พบว่า ดุลงบประมาณขาดดุลจำนวน -162.1 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุลจำนวน -100.8 พันล้านบาท จากการไถ่ถอนตั๋วเงินคลังจำนวน 102.1 พันล้านบาท จึงส่งผลให้ดุลเงินสดก่อนกู้ขาดดุลจำนวน -262.9 พันล้านบาท ทั้งนี้ เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน ต.ค. 55 อยู่ที่ 297.5 พันล้านบาท
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ในเดือน ต.ค. 55 ขยายตัวที่ร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งถือได้ว่าขยายตัวในเกณฑ์ดี แม้ว่าจะชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 8.9 ตามการลดลงของผลผลิตในหมวดพืชผล โดยเฉพาะมันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน เนื่องจากปัจจัยฐานสูงในปีก่อนที่ผลผลิตขยายตัวในอัตราเร่ง ในขณะที่ผลผลิตสำคัญอื่น เช่น ข้าวและยางพารา ผลผลิตยังคงออกมาอย่างต่อเนื่องตามพื้นที่เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับผลผลิตหมวดปศุสัตว์ที่ขยายตัวต่อเนื่องเช่นกัน ตามการเพิ่มขึ้นผลผลิตสุกรและไก่เนื้อเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนแรกปี 55 ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ขยายตัวร้อยละ 6.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ ในเดือน ต.ค. 55 หดตัวร้อยละ -6.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนชะลอลงจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -11.0 ส่วนหนึ่งได้รับปัจจัยบวกจากปัจจัยฐานที่เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากที่ทรงตัวในระดับสูงในช่วงต้นปีก่อน และโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล อย่างไรก็ดี ราคายางพาราและราคาผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ยังหดตัวต่อเนื่อง ตามผลิตที่ในออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่อุปสงค์ค่อนข้างทรงตัว ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนแรกปี 55 ดัชนีราคาสินค้าเกษตร หดตัวร้อยละ -10.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ต.ค. 55 อยู่ที่ระดับ 93.0 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 94.1 ซึ่งเป็นดัชนีที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 100 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่อยู่ในระดับที่ไม่ดี โดยมีสาเหตุมาจากการปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต ราคาวัตถุดิบ ค่าจ้างแรงงาน และค่าไฟฟ้า ประกอบกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ภาคอุตสาหกรรมบางส่วนก็ยังคงเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน อย่างไรก็ตาม การบริโภคภายในประเทศยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนการผลิตภาคอุตสาหกรรมซึ่งสะท้อนได้จากยอดคำสั่งซื้อภายในประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น
  • ปริมาณจำหน่ายปูนซิเมนต์ภายในประเทศในเดือน ต.ค. 55 ขยายตัวร้อยละ 30.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัวร้อยละ 6.5 จากเดือนก่อนหน้า หลังปรับผลทางฤดูกาลแล้ว (m-o-m SA) ทั้งนี้ การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการลงทุนในหมวดการก่อสร้างสอดคล้องกับทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่สามารถขยายตัวได้ดี อุปสงค์ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างในเดือน ก.ย. 55 ที่อยู่ที่ร้อยละ 2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.4 และปัจจัยฐานต่ำในปีก่อนที่การก่อสร้างต้องหยุดชะงักลงจากปัญหาอุทกภัย
Economic Indicators: Next Week
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ต.ค. 55 คาดว่าจะขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 20.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปัจจัยฐานต่ำจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็นสำคัญ ประกอบกับอุตสาหกรรมที่เน้นตลาดในประเทศ อาทิ อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม และอุตสาหกรรมยานยนต์ที่คาดว่าจะยังคงขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องสะท้อนจากยอดขายที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี บางอุตสาหกรรมยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ โดยเฉพาะ HDD ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ต.ค. 55 คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 150.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 67.8 โดยได้รับปัจจัยบวกจาก 1. ปัจจัยฐานต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมในช่วงปลายปี 54 2. การฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง และ 3. จากนโยบายสนับสนุนของภาครัฐ ในการสนับสนุนการซื้อรถคันแรก โดยผู้บริโภคได้รับการคืนภาษีสูงถึง 1 แสนบาท สำหรับรถที่มีการซื้อจนถึง 31 ธันวาคม 55

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend
  • ยอดขายบ้านมือสอง เดือน ต.ค. 55 อยู่ที่ 4.79 ล้านหลัง (annual rate) ขยายตัวดีที่ร้อยละ 17.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 2.1 จากเดือนก่อนหน้าในขณะที่ยอดสร้างบ้านใหม่ เดือน ต.ค. 55 อยู่ที่ 894,000 ยูนิต ขยายตัวร้อยละ 3.6 จากเดือนก่อนหน้า โดยยอดการก่อสร้างในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งได้รับผลกระทบจากเฮอร์ริเคนแซนดีโดยตรงหดตัวร้อยละ -6.5 จากเดือนก่อนหน้า ในขณะที่ยอดก่อสร้างในภูมิภาคอื่นๆขยายตัวดี โดยเฉพาะการก่อสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับหลายครอบครัว
China: mixed signal
  • ราคาบ้านใหม่ เดือน ต.ค. 55 ปรับลดลงในอัตราชะลอลงที่ร้อยละ -1.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 จากการลดอัตราดอกเบี้ยจำนองเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ขยายตัว ตรงข้ามกับความต้องการของรัฐที่ต้องการลดความเสี่ยงภาวะฟองสบู่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ ภาคอุตสาหกรรม ที่จัดทำโดย HSBC (HSBC's Mfg. PMI) (ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน พ.ย. 55 อยู่ที่ระดับ 50.4 จุดอยู่ในระดับสูงสุดและอยู่เหนือระดับ 50 จุด เป็นครั้งแรกในรอบ 13 เดือน บ่งชี้ว่าภาคอุตสาหกรรมจีนกลับมาขยายตัวอีกครั้ง จากดัชนีคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกที่ปรับเพิ่มขึ้นเหนือระดับ 50 จุด จากการเร่งส่งออกเพื่อรองรับเทศกาลคริสต์มาส
Eurozone: worsening economic trend
  • มูลค่าการส่งออก เดือน ก.ย. 55 ขยายตัวชะลอมาอยู่ที่ร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ลงจากร้อยละ 10.1 ในเดือนก่อนหน้า โดยสินค้าในหมวดวัตถุดิบและสินค้าอุตสาหกรรมหดตัวลงเป็นสำคัญ จากเศรษฐกิจโดยรวมที่ย่ำแย่ ส่งผลให้ยอดส่งออกชะลอลงชัดเจน เนื่องจากประเทศในยูโรโซนทำการค้าระหว่างกันในสัดส่วนสูง ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน ก.ย. 55 หดตัวครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ที่ร้อยละ -4.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ ดุลการค้า เดือน ก.ย. 55 เกินดุล 9.8 พันล้านยูโร ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม (Markit's Composite PMI) (ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน พ.ย. 55 อยู่ที่ระดับ 45.8 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 45.7 อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวอยู่ในระดับต่ำกว่า 50.0 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 15 บ่งชี้การหดตัวต่อเนื่องของภาคการผลิตยูโรโซน โดย PMI ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 46.2 ขณะที่ PMI ภาคบริการลดลงมาอยู่ที่ระดับ 45.7 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ย. 55 อยู่ที่ระดับ -26.9 จุด ลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ -25.6 จุด (ตัวเลขปรับปรุง)จากวิกฤตหนี้สาธารณะที่ลุกลามกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริง โดยเฉพาะภาคการจ้างงาน และส่งผลลบต่อกำลังซื้อของภาคเอกชน ปัจจัยดังกล่าวทำให้คาดว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะถดถอยต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี 55 และอาจซบเซาต่อเนื่องในปี 56
Japan: worsening economic trend
  • มูลค่าการส่งออก เดือน ต.ค. 55 กลับมาหดตัวอีกครั้งที่ร้อยละ -6.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 เนื่องจากอุปสงค์จากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวหดตัวในอัตราชะลอลงอันเป็นผลมาจากปัจจัยฐานที่ต่ำในปีก่อน มูลค่าการนำเข้า เดือน ต.ค. 55 กลับมาหดตัวอีกครั้งที่ร้อยละ -1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยการนำเข้าจากสิงคโปร์และมาเลเซียหดตัวที่ร้อยละ -11.5 และ 6.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ ทำให้ดุลการค้าขาดดุล 5.5 แสนล้านเยน
Malaysia: improving economic trend
  • GDP ไตรมาส 3 ปี 55 ขยายตัวร้อยละ 5.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 1.1 จากไตรมาสก่อน (หลังขจัดปัจจัยทางฤดูกาล) แม้ว่าการส่งออกในไตรมาสที่ 3 จะหดตัวร้อยละ -1.5 แต่การบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภายในประเทศยังคงขยายตัวดีและเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญ
Hong Kong: mixed signal
  • GDP ไตรมาส 3 ปี 55 ขยายตัวร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.1 หรือขยายตัวร้อยละ 0.6 จากไตรมาสก่อนหน้า (หลังขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) ส่งผลให้ในช่วง 3 ไตรมาสแรก GDP ขยายตัวร้อยละ 1.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการขยายตัวต่อเนื่องของอุปสงค์ในประเทศเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม อัตราการขยายตัวดังกล่าวอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากภาคการส่งออกซึ่งมีสัดส่วน 2.1 เท่าของ GDP ชะลอลงต่อเนื่อง ตามการชะลอลงของเศรษฐกิจคู่ค้า อัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. 55 ลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 3.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จาก การชะลอลงของราคาอาหาร และราคาค่าเช่าบ้าน ทั้งนี้คาดว่าแรงกดดันจากเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีไม่น่าจะสูงมากนัก ตามการชะลอลงของเศรษฐกิจรวมถึงราคาน้ำมันที่คาดว่าจะปรับตัวอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ควรติดตามผลกระทบจากสภาพคล่องในระบบการเงินโลกที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากมาตรการ QE 3 ที่อาจส่งผลกระทบต่อระดับราคาบ้านและค่าเช่าบ้าน อัตราการว่างงาน เดือน ต.ค. 55 ทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 3.4 ของกำลังแรงงานรวม โดยจำนวนผู้มีงานทำเพิ่มขึ้น 6,000 ตำแหน่ง บ่งชี้อุปสงค์ในประเทศที่ยังคงขยายตัวได้
Taiwan: mixed signal
  • อัตราการว่างงาน เดือน ต.ค. 55 ทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงเดือนก่อนหน้าที้รอยละ 4.3 ของกำลังแรงงานรวม โดยจำนวนผู้มีงานทำเพิ่มขึ้น 14,000 คน สะท้อนอุปสงค์ในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น ท่ามกลางความเสี่ยงจากการชะลอลงของเศรษฐกิจโลก
Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET เคลื่อนไหวอยู่ในช่วงแคบๆ โดย ณ วันที่ 22 พ.ย. 55 ดัชนีฯ ปิดที่ระดับ 1,279.51 จุด จากแรงซื้อของนักลงทุนต่างชาติเป็นสำคัญ โดยเฉพาะการเข้าซื้อหุ้นแบบ big lot ทั้งนี้ นักลงทุนยังคงรอติดตามแนวทางแก้ไขปัญหา Fiscal Cliff ของสหรัฐฯ โดยระหว่างวันที่ 19 - 22 พ.ย. 55 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 12,264.42 ล้านบาท ในขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรค่อนข้างทรงตัว โดยนักลงทุนยังรอผลการแก้ไขปัญหา Fiscal Cliff ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 19 - 22 พ.ย. 55 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 7,382.2 ล้านบาท
  • ค่าเงินบาทค่อนข้างทรงตัว โดย ณ วันที่ 22 พ.ย. 55 ปิดที่ระดับ 30.70 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อนเล็กน้อยร้อยละ -0.07 สอดคล้องกับค่าเงินสกุลภูมิภาค โดยเฉพาะเงินริงกิตมาเลเซียและดอลลาร์สิงคโปร์ ในขณะที่ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงมากตามการเข้าแทรกแซงของทางการญี่ปุ่น ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงในอัตราน้อยกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ ของคู่ค้าโดยเฉลี่ย โดยเฉพาะค่าเงินเยน ทำให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.14 จากสัปดาห์ก่อนหน้า
  • ราคาทองคำค่อนข้างทรงตัว โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 22 พ.ย. 55 ปิดที่ 1,729.05 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ใกล้เคียงกับต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,731.50 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ