รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 29 พฤศจิกายน 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday November 29, 2012 11:38 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 29 พฤศจิกายน 2555

Summary:

1. กนง. ยังคงตรึงดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 2.75

2. กระตุ้นธุรกิจไทยบุกพม่า รับตลาดเอเชียใต้ 1.6 พันล้าน

3. ผู้ว่าการธนาคารกลางกรีซ คาดเศรษฐกิจกรีซจะขยายตัวอีกครั้งในปี 57

Highlight:

1. กนง. ยังคงตรึงดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 2.75
  • คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชม คนง. มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ไว้ที่ร้อยละ 2.75 ต่อปี เนื่องจากความเสี่ยงด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลง ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ และเห็นว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบัน อยู่ในระดับเหมาะสม ต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยนายไพบูลย์ได้กล่าวเพิ่มเติมว่าผลกระทบเศรษฐกิจโลกอยู่ในวงจำกัด โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการส่งออก ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศดีกว่าประมาณการณ์ครั้งก่อน และมองว่าการส่งออกจะฟื้นตัวในครึ่งปีแรก ของปี 56 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และเชื่อว่าการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชน จะเป็นแรงส่งสำคัญของเศรษฐกิจ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่กนง. ตัดสินใจตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 2.75 เนื่องจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทย และเศรษฐกิจโลกมีเสถียรภาพและมีสัญญาณการปรับตัวที่ดีขึ้น โดยตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ และจีนดีขึ้นกว่าที่คาด ส่วนเศรษฐกิจเอเชียมีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นบ้างตามทิศทางการฟื้นตัวของภาคการส่งออกและแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนรวมทั้งอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังขยายตัวได้ดี โดยข้อมูลเศรษฐกิจไทยล่าสุดชี้ว่า เศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องโดยผลกระทบของเศรษฐกิจโลกยังจำกัดอยู่เฉพาะในภาคที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกสินค้า ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศที่ดีกว่า ซึ่งช่วยรองรับผลกระทบจากการส่งออกที่ชะลอลง มองไปข้างหน้า คาดว่าการส่งออกจะเริ่มฟื้นตัวในครึ่งแรกของปี 2556 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะยังเป็นแรงส่งสำคัญของเศรษฐกิจต่อไป ทั้งนี้ สศค.คาดว่า ในปี 55 อัตราดอกเบื้ยนโยบายจะอยู่ที่ร้อยละ 2.75 - 3.25 คาดการณ์ ณ ก.ย. 55

2. กระตุ้นธุรกิจไทยบุกพม่า รับตลาดเอเชียใต้ 1.6 พันล้าน

  • ประธานผู้แทนการค้าไทย และที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กล่าวในงานสัมมนาเรื่องยุทธศาสตร์เศรษฐกิจไทย ประตูสู่ตะวันตก ว่าไทยควรขยายฐานด้านการผลิตไปสู่ประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น โดยเฉพาะการเข้าไปลงทุนในประเทศพม่า ทั้งการลงทุนภาคการเกษตร และอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น เพื่อเป็นช่องทางไปสู่การทำการค้ากับตลาดเอเชียใต้ ที่มีจำนวนประชากรมากกว่าอาเซียนถึง 3 เท่า หรือกว่า 1,600 ล้านคน ซึ่งเชื่อว่าตลาดดังกล่าวจะสามารถรองรับสินค้าไทยได้อย่างมหาศาล
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่พม่ามีการเปิดประเทศมากขึ้นถือเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทยในการขยายช่องทางการค้า เนื่องจากพม่าเป็นตลาดที่มีผู้บริโภคขนาดใหญ่ที่มีประชากรมากกว่า 60 ล้านคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริโภคสินค้าอุปโภคบริโภคที่พม่านำเข้าจากไทย เช่น อาหาร เสื้อผ้า ยารักษาโรค เป็นต้น เนื่องจากผู้บริโภคชาวพม่ามีความเชื่อมั่นในตราสัญลักษณ์และคุณภาพของสินค้าไทยเป็นทุนเดิม ประกอบกับปัจจุบันพม่ายังไม่สามารถผลิตสินค้าประเภทนี้ได้มากเพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ รวมทั้งสินค้าในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ทั้งนี้ การลงทุนจากต่างประเทศตั้งแต่ปี 2531 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ไทยเป็นประเทศที่เข้าไปลงทุนในพม่าเป็นอันดับ 2 รองจากจีนและฮ่องกง คิดเป็นจำนวนโครงการรวม 61 โครงการ มูลค่า 9,568.09 ล้านเหรียญสหรัฐหรือร้อยละ 26.5 ของการลงทุนจากต่างประเทศในพม่าทั้งหมด โดยการลงทุนที่สำคัญของไทยในขณะ เช่น โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวาย นิคมอุตสาหกรรม และเส้นทางเชื่อมโยงมายังประเทศไทย เป็นหลัก

3. ผู้ว่าการธนาคารกลางกรีซ คาดเศรษฐกิจกรีซจะขยายตัวอีกครั้งในปี 57

  • ผู้ว่าการธนาคารกลางกรีซ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวซินหัวว่า ในปี 56 เศรษฐกิจของกรีซ จะหดตัวลงอีกประมาณร้อยละ 4 เนื่องจากรัฐสภากรีซจะต้องอนุมัติงบประมาณ เพื่อรับมือกับวิกฤตในปัจจุบัน แต่คาดว่าในปี 56 จะเป็นปีสุดท้ายของภาวะเศรษฐกิจถดถอย และจะเป็นช่วงเวลาแห่งการเริ่มต้น ที่รัฐบาลกรีซจะก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว โดยในปี 57 จะเป็นปีแรกที่เศรษฐกิจกรีซจะขยายตัวในแดนบวก หลังจากนั้น อัตราการขยายตัวจะแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ เมื่อพิจารณาจากปัจจัยที่ว่า ปัญหาด้านการคลังจะได้รับการแก้ไข ขณะที่การปฏิรูปเชิงโครงสร้าง จะมีความคืบหน้าอย่างมากและจะบรรลุผลสำเร็จ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า กรีซเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยมาตั้งแต่ปี 51 โดยข้อมูลล่าสุดพบว่า ไตรมาสที่ 2 ของปี 55 หดตัวที่ร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งอยู่ในระดับที่เกินกว่าการคาดหมาย สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจกรีซกำลังถดถอยลงอย่างมาก และจะเป็นอุปสรรคต่อความพยายามในการสร้างรายได้และยืดเวลาการลดการขาดดุลให้ได้ตามเป้าหมาย และกรีซอาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นในปัญหาพื้นฐานของเศรษฐกิจในยูโรโซนที่สั่งสมมานาน อย่างไรก็ตาม ล่าสุดที่ประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยูโรโซน ได้มีมติอนุมัติเบิกเงินกู้รอบใหม่ให้กับกรีซ คิดเป็นจำนวน 34.4 พันล้านยูโร และได้ออกมาตรการช่วยเหลือกรีซเพิ่มเติม เพื่อช่วยรักษาระดับหนี้สาธารณะของกรีซอยู่ในระดับยั่งยืนในระยะยาว (Debt Sustainability) ดังนี้ (1) มาตรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจากเงินกู้ที่ให้ความช่วยเหลือกรีซรอบแรก (1st Bailout Loan) 1% (100 basis points) เหลือ Euribor + 0.5% (50 basis points)(2) ขยายระยะเวลาการชำระคืนเงินต้นและระยะเวลาชำระคืนดอกเบี้ยของเงินกู้ที่ให้ความช่วยเหลือกรีซรอบสอง (2nd Bailout Loan) ที่กู้จากกองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (European Financial Stability Facility: EFSF) โดยขยายเวลาชำระคืนเงินต้นออกไป15 ปี และขยายระยะเวลาชำระคืนดอกเบี้ย 10 ปี (3) ส่งคืนดอกเบี้ยรับที่ธนาคารกลาง European Central Bank (ECB) ได้รับจากการถือพันธบัตรกรีซ จำนวน 7 พันล้านยูโร (4) มาตรการซื้อคืนพันธบัตรกรีซในราคาซื้อลด (Greek Debt Buyback Program) เพื่อช่วยให้ลดภาระหนี้ของกรีซลง ทั้งนี้ ผลจากมาตรการข้างต้น จะช่วยคลายความกังวลเกี่ยวกับวิกฤติยูโรโซนได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น เนื่องจากยังมีความไม่ชัดเจนของบางมาตรการโดยเฉพาะรายละเอียดของ Greek Debt Buyback Program รวมถึงปัญหาพื้นฐานของกรีซที่ขาดแหล่งการเติบโตทางเศรษฐกิจยังไม่ได้รับการแก้ไข

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group:

Fiscal Policy Office Tel. 02-273-9020 Ext.3665 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ