เอกสารแนบ
"เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนตุลาคม 2555 บ่งชี้ เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องจากการใช้จ่ายภายในประเทศทั้งจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ในขณะที่การส่งออกและภาคการผลิตอุตสาหกรรมมีสัญญาณของการปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า"
1. การบริโภคภาคเอกชนในเดือนตุลาคม 2555 ยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือนตุลาคม 2555 ยังขยายตัวในเกณฑ์ดีอยู่ที่ร้อยละ 19.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 32.6 สอดคล้องกับปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคในเดือนตุลาคม 2555 ขยายตัวได้ดีร้อยละ 27.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.9 ขณะที่การบริโภคสินค้าคงทนสะท้อนได้จากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนตุลาคม 2555 ขยายตัวเร่งขึ้นมากที่ร้อยละ 263.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 67.8 เนื่องจากความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มสูงขึ้นตามนโยบายของภาครัฐที่ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคมากขึ้น ประกอบกับกำลังการผลิตของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ต่างๆ สามารถกลับมาผลิตได้เต็มประสิทธิภาพเป็นปกติ และมีการส่งมอบรถยนต์ให้กับผู้บริโภคได้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือนตุลาคม 2555 ขยายตัวร้อยละ 24.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -1.3 ตามการเพิ่มของยอดขายรถจักรยานยนต์ในส่วนของเขตกทม.และยอดขายรถจักรยานยนต์ในภูมิภาคที่ขยายตัวร้อยละ 70.2 และร้อยละ 15.5 จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 0.9 และหดตัวร้อยละ -1.9 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยฐานต่ำจากวิกฤติอุทกภัยที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2554 ประกอบกับรายได้ภาคครัวเรือนที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยเฉพาะรายได้เกษตรกร นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนตุลาคม 2555 อยู่ที่ระดับ 68.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 67.5 เนื่องจากผู้บริโภคคลายความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์วิกฤติอุทกภัย ประกอบกับภาวะการท่องเที่ยวอยู่ในเกณฑ์ที่ดี สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศที่ยังมีการใช้จ่ายปกติ และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่มีสัญญาณปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่ประเทศสหรัฐฯ ประกาศใช้มาตรการ QE3 ทำให้ผู้บริโภคก็มีความรู้สึกเชิงบวกต่อสถานการณ์ต่างๆ ในเศรษฐกิจไทยมากขึ้น
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน 2555 Q1 Q2 Q3 ก.ย. ต.ค. YTD ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ (%yoy) 12.0 6.3 20.2 32.6 19.4 13.3 ปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค (%yoy) 14.1 7.5 3.3 0.9 27.9 10.0 ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่ง (%yoy) -5.4 77.0 78.6 67.8 263.7 61.9 ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ (%yoy) -0.6 4.4 0.4 -1.3 24.0 2.9 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค 65.3 67.7 68.4 67.5 68.1 67.1
2. การลงทุนภาคเอกชนในเดือนตุลาคม 2555 ขยายตัวได้ดีต่อเนื่องเช่นกัน โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนในเดือนตุลาคม 2555 ขยายตัวร้อยละ 46.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 24.5 ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนตุลาคม 2555 ขยายตัวเร่งขึ้นมากที่ร้อยละ 206.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 39.4 โดยได้รับปัจจัยบวกจากกำลังการผลิตของบริษัทรถยนต์ที่มีการเร่งผลิตเพิ่มสูงขึ้น และมีการส่งมอบรถยนต์ให้กับลูกค้าได้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนในหมวดการก่อสร้างขยายตัวต่อเนื่องเช่นกัน ที่สะท้อนจากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนตุลาคม 2555 ขยายตัวร้อยละ 78.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวเร่งขึ้นมากจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 6.6 ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยฐานที่ต่ำของช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าจากวิกฤติอุทกภัยที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2554 ประกอบกับในปัจจุบันความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคยังคงมีทิศทางปรับตัวดีขึ้นจากแนวโน้มความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคที่ฟื้นตัว สอดคล้องกับด้านอุปทาน (Supply) ของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องสะท้อนจากจำนวนที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยเฉพาะอาคารชุดเป็นหลัก ในขณะที่ยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ในเดือนตุลาคม 2555 ขยายตัวร้อยละ 30.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 11.4 ทั้งนี้ การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการลงทุนในหมวดการก่อสร้างสอดคล้องกับทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่สามารถขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะอุปสงค์ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ และปัจจัยฐานต่ำจากวิกฤติอุทกภัยที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2554
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน 2555 Q1 Q2 Q3 ก.ย. ต.ค. YTD เครื่องชี้การลงทุนในเครื่องจักร ปริมาณนำเข้าสินค้าทุน (%yoy) 11.0 22.0 18.3 24.5 46.5 19.5 ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ (%yoy) 33.5 62.3 53.5 39.4 206.8 58.1 เครื่องชี้การลงทุนก่อสร้าง ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ (%yoy) 4.2 26.3 7.2 6.6 78.8 17.3 ปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ (%yoy) 5.3 5.2 12.1 11.4 30.9 9.6
3. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการคลังในเดือนตุลาคม 2555 พบว่า การใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลมีบทบาทสนับสนุนเศรษฐกิจ โดยผลการเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือนตุลาคม 2555 มีจำนวน 312.2 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 87.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 17.5 โดยรายจ่ายงบประมาณปีปัจจุบันจำนวน 290.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 86.4 แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 286.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 109.9 และ (2) รายจ่ายลงทุน 4.0 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -79.5 สำหรับรายจ่ายเหลื่อมปีเบิกจ่ายได้ 21.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 94.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับผลการจัดเก็บรายได้สุทธิของรัฐบาล (หลังหักการจัดสรรให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)) ในเดือนตุลาคม 2555 เท่ากับ 148.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 18.5 สำหรับฐานะการคลัง พบว่า ดุลเงิน งบประมาณในเดือนตุลาคม 2555 ขาดดุลจำนวน -162.1 พันล้านบาท สะท้อนบทบาทนโยบายการคลังในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทย
เครื่องชี้ภาคการคลัง FY2555 FY2556 FY2555 Q1/FY55 Q2/FY55 Q3/FY55 Q4/FY55 ก.ย. ต.ค. YTD รายได้สุทธิของรัฐบาล 1,977.5 398.4 412.9 620.5 545.7 122.8 148.0 148.0 (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) (%y-o-y) 4.5 0.7 4.8 3.9 8.0 18.5 11.3 11.3 รายจ่ายรวม 2,295.3 489.8 779.5 459.9 566.1 227.3 312.2 312.2 (%y-o-y) 5.4 -18.1 39.0 -14.6 17.9 17.5 87.0 87.0 ดุลเงินงบประมาณ -314.7 -84.8 -372.4 169.4 -26.9 28.6 -162.1 -162.1
4. การส่งออกในเดือนตุลาคม 2555 มีสัญญาณดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า ส่วนหนึ่งได้รับปัจจัยบวกจากตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ พบว่า การส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนตุลาคม 2555 มีมูลค่า 19.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 15.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.2 จากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติอุทกภัยที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2554 รวมถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการขยายการส่งออกไปยังตลาดใหม่ที่มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น โดยตลาดส่งออกหลักกลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ฮ่องกงขยายตัวร้อยละ 55.9 ออสเตรเลียขยายตัวร้อยละ 46.7 สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 17.0 ทั้งนี้ สินค้าส่งออกในเดือนตุลาคม 2555 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ สินค้าในหมวดอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวร้อยละ 23.0 เครื่องใช้ไฟฟ้า ขยายตัวร้อยละ 25.2 ยานยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบขยายตัวร้อยละ 53.4 เป็นสำคัญ สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนตุลาคม 2555 พบว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ อยู่ที่ 22.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 21.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -7.5 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในหมวดเชื้อเพลิงที่ขยายตัวร้อยละ 35.6 หมวดสินค้าทุนขยายตัวร้อยละ 48.3 และเครื่องจักรไฟฟ้าขยายตัวร้อยละ 86.2 เป็นสำคัญ เนื่องจากภาคการผลิตและขนส่งมีความต้องการใช้น้ำมันมากขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงมีการนำเข้าเครื่องจักรที่มีเทคโนโลยีสูง ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐที่ต่ำกว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐทำให้ดุลการค้าในเดือนตุลาคม 2555 ขาดดุลอยู่ที่ -2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ประเทศคู่ค้าหลักของไทย 2555 (สัดส่วนการส่งออก) Q1 Q2 Q3 ก.ย. ต.ค. YTD มูลค่าการส่งออกรวม (%yoy) -1.4 2.0 -3.8 0.2 15.6 0.3 1. จีน (11.8%) 1.4 13.7 -11.8 -14.7 -7.7 -0.6 2. ญี่ปุ่น (10.7%) -6.3 -1.2 -6.3 -3.1 10.2 -3.3 3. สหรัฐฯ (9.8%) 2.1 4.6 -1.2 -1.0 17.0 3.1 4. สหภาพยุโรป (9.7%) -16.9 -7.5 -19.2 -12.9 9.6 -12.8 5. ฮ่องกง (5.4%) -6.5 -8.3 9.8 8.6 55.9 2.5 6. สิงคโปร์ (5.1%) 2.7 1.0 -25.4 -11.1 30.9 -5.6 7. ทวีปออสเตรเลีย (4.2%) -6.6 21.9 21.1 48.0 46.7 15.0 8. อาเซียน-9 (24.3%) 9.2 7.2 -9.0 -11.7 14.0 3.0
5. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการผลิตในเดือนตุลาคม 2555 พบว่า ดัชนีผลผลิตภาคการเกษตรและภาคบริการสะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ขณะที่การผลิตในภาคอุตสาหกรรมมีสัญญาณของการปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจาก ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม 2555 กลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้ง โดยขยายตัวในระดับสูงอยู่ที่ร้อยละ 36.1 ขณะที่เมื่อพิจารณาเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาลขยายตัวได้ดีเช่นเดียวกันอยู่ที่ร้อยละ 4.9 ทั้งนี้ การขยายตัวดังกล่าวนับเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 5 เดือน นับตั้งแต่เดือนมิถุนายน - กันยายน 2555 จากปัจจัยฐานต่ำของช่วงเดียวกันของปีก่อนจากวิกฤติอุทกภัยที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 2554 ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสำคัญของภาคอุตสาหกรรม อาทิ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน พลาสติก แปรรูปโลหะ อาหารและเคมีภัณฑ์ ทำให้ผู้ผลิตหยุดผลิตเป็นเวลากว่า 3 เดือน (ตุลาคม - ธันวาคม 2554) ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมโดยส่วนใหญ่มีการขยายตัวเร่งขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ขยายตัวร้อยละ 387.3 อาหารและเครื่องดื่มขยายตัวร้อยละ 22.5 เครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทแอร์ ตู้เย็น พัดลมขยายตัวร้อยละ 85.8 วิทยุ โทรทัศน์ขยายตัวร้อยละ 26.2 สิ่งทอขยายตัวร้อยละ 10.0 เป็นต้น ปัจจัยสำคัญ ทั้งนี้ นอกจากปัจจัยฐานต่ำในปีที่แล้ว แล้วยังได้รับอานิสงส์จากภาคการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ ตลอดจนการขยายกำลังการผลิตเพิ่มทดแทนสินค้าคงคลังที่ลดลงไป อย่างไรก็ดี ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม 2555 อยู่ที่ระดับ 93.0 ลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 94.1 ซึ่งเป็นดัชนีที่อยู่ในระดับต่ำกว่า 100 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 และต่ำสุดในรอบ 10 เดือน โดยมีสาเหตุจากความกังวลของผู้ประกอบการต่อการปรับเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต ทั้งในส่วนของราคาวัตถุดิบ ค่าจ้างแรงงาน และค่าไฟฟ้าฝันแปร (FT) ประกอบกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทยอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ภาคอุตสาหกรรมบางส่วนก็ยังคงเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ในขณะที่เครื่องชี้ภาคการเกษตรวัดจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรยังสามารถขยายตัวได้ดี โดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือนตุลาคม 2555 ขยายตัวร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 8.9 ตามการลดลงของผลผลิตในหมวดพืชผล โดยเฉพาะมันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน เนื่องจากปัจจัยฐานสูงในปีก่อนที่ผลผลิตขยายตัวในอัตราเร่ง ในขณะที่ผลผลิตสำคัญอื่น เช่น ข้าวและยางพารา ผลผลิตยังคงออกมาอย่างต่อเนื่องตามพื้นที่เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับผลผลิตหมวดปศุสัตว์ที่ขยายตัวต่อเนื่องเช่นกันจากการเพิ่มขึ้นผลผลิตสุกรและไก่เนื้อเป็นสำคัญ สำหรับเครื่องชี้ภาคบริการที่สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนตุลาคม 2555 มีจำนวนทั้งสิ้น 1.7 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 20.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 7.9 โดยเป็นการขยายตัวได้ดีในทุกกลุ่มประเทศ ยกเว้นนักท่องเที่ยวในกลุ่มตะวันออกกลาง (สัดส่วนร้อยละ 3.1) พบว่าหดตัวร้อยละ -5.4 เนื่องจากปัญหาภายในภูมิภาค
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทาน 2555 Q1 Q2 Q3 ก.ย. ต.ค. YTD ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (%yoy) -6.8 -1.5 -11.3 -16.8 36.1 -3.6 ดัชนีผลผลิตเกษตรกรรม (%yoy) 3.6 3.4 14.2 8.9 5.4 6.7 นักท่องเที่ยวต่างชาติ (%yoy) 7.1 8.2 8.4 7.9 20.5 9.7
6. เสถียรภาพเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศอยู่ในเกณฑ์ดีมาก โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนตุลาคม 2555 อยู่ที่ร้อยละ 3.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อยที่อยู่ที่ร้อยละ 3.4 เนื่องมาจากราคาสินค้าประเภทเนื้อสัตว์ ไข่ ค่าเช่า และสิ่งทอสำหรับใช้ในบ้าน มีการปรับตัวลดลง อย่างไรก็ดี สินค้าประเภทผักสดมีการปรับตัวสูงขึ้น โดยเป็นผลจากเทศกาลกินเจ ทำให้มีความต้องการบริโภคในระดับสูง สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.8 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนเล็กน้อย ที่อยู่ที่ร้อยละ 1.9 สำหรับอัตราการว่างงานในเดือนกันยายน 2555 อยู่ที่ร้อยละ 0.6 ของกำลังแรงงานรวม ซึ่งคิดเป็นเป็นจำนวนผู้ว่างงานเท่ากับ 2.4 แสนคน สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ณ สิ้นเดือนกันยายน 2555 อยู่ที่ร้อยละ 43.9 ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60.0 สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจการเงินโลก สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2555 อยู่ในระดับสูงที่ 181.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 3.1 เท่า
เครื่องชี้เสถียรภาพเศรษฐกิจ 2555 Q1 Q2 Q3 ก.ย. ต.ค. YTD ภายในประเทศ เงินเฟ้อทั่วไป (%yoy) 3.4 2.5 2.9 3.4 3.3 3.0 เงินเฟ้อพื้นฐาน (%yoy) 2.7 2.0 1.8 1.9 1.8 2.2 อัตราการว่างงาน (yoy%) 0.7 0.9 0.6 0.6 n.a. 0.7 ภายนอกประเทศ ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้าน $) 1.4 -2.4 2.7 1.8 n.a. 1.8 ทุนสำรองทางการ (พันล้าน $) 179.2 174.7 183.6 183.6 181.4 181.4
ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง