รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 30 พฤศจิกายน 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 30, 2012 11:03 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 30 พฤศจิกายน 2555

Summary:

1. ผู้ว่าการธปท. ยันไม่พบเงินทุนไหลเข้าผิดปกติ หลังกนง. คงดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ

2. 75 2. ธปท. ต้องการให้ธนาคารลดการโฆษณาจูงใจการก่อหนี้ภาคครัวเรือน

3. ยอดค้าปลีกญี่ปุ่น เดือน ต.ค. 55 หดตัวสูงสุดในรอบ 11 เดือน ที่ร้อยละ -1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

Highlight:

1. ผู้ว่าการธปท. ยันไม่พบเงินทุนไหลเข้าผิดปกติ หลังกนง. คงดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 2.75
  • ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ขณะนี้เงินทุนไหลเข้ายังถือว่าเป็นปกติหลังจากคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.75 ต่อปี เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 55 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ยังยืนยันว่าเงินทุนที่ไหลเข้ามาในประเทศก่อนหน้านี้ไม่ได้เกิดจากปัจจัยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระหว่างในประเทศและต่างประเทศเท่านั้น แต่ขึ้นกับหลายปัจจัย อย่างกรณีของฮ่องกงดอกเบี้ยต่ำมากเทียบกับสหรัฐฯ แต่เงินก็ยังไหลเข้ามาก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นและเรื้อรังมาตั้งแต่ปี 51 ทำให้ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ผ่านการรักษาอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำ เช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ รักษาระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำ ณ ร้อยละ 0-0.25 ต่อปี ตั้งแต่เดือน ธ.ค. 51 จนถึงปี 57 เป็นอย่างน้อย ธนาคารกลางญี่ปุ่นคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.1 ต่อปี นับตั้งแต่เดือน ต.ค. 53 ในขณะที่ธนาคารกลางยุโรปปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง ล่าสุดอยู่ที่ร้อยละ 0.75 ต่อปี ด้วยอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำ ทำให้นักลงทุนนิยมลงทุนในสินทรัพย์ในภูมิภาคมากขึ้น เนื่องจากให้อัตราผลตอบแทนสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาล แม้จะมีความเสี่ยงมากกว่าก็ตาม อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังคงเปราะบางสามารถส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนได้ และทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายในตลาดโลกมีแนวโน้มผันผวนสูงกว่าช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เงินทุนที่ไหลเข้าตลาดหลักทรัพย์และตลาดพันธบัตรไทยในช่วงปี 55 ที่ผ่านมา ยังไม่มีสัญญาณผิดปกติ โดย ตั้งแต่ต้นปีถึง ณ วันที่ 28 พ.ย. 55 นักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยรวม 49,125 ล้านบาท และเข้าซื้อพันธบัตร (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.) รวม 223,824 ล้านบาท
2. ธปท. ต้องการให้ธนาคารลดการโฆษณาจูงใจการก่อหนี้ภาคครัวเรือน
  • ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่าต้องการให้ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กหรือผู้มีรายได้น้อย เข้าใจว่าธปท. ไม่ปิดกั้นเรื่องการเข้าถึงบริการทางการเงิน แต่ขณะเดียวกันก็ไม่สนับสนุนให้มีการก่อหนี้เกินตัว โดยหากวิเคราะห์การขยายตัวของสินเชื่อภาคเอกชนแล้ว ในส่วนของสินเชื่อธุรกิจแม้จะมีการขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 12.0 แต่เป็นการขยายตัวที่สามารถอธิบายได้ เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นการขยายตัวในส่วนของสินเชื่อเพื่อการลงทุน ขณะที่ในส่วนของการขยายตัวของสินเชื่อภาคครัวเรือน ธปท. วิเคราะห์ว่าหากเกิดจากการขยายตัวของสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ถือเป็นการขยายตัวที่สามารถอธิบายได้ อย่างไรก็ตาม หากเกิดจากการขยายตัวจากสินเชื่อที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการซื้อที่อยู่อาศัย จะทำให้ ธปท.จำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิด โดย ธปท. จะหารือประชุมร่วมกับสถาบันการเงินต่างๆในวันที่ 3 ธ.ค. 55 พร้อมกับขอให้ธนาคารลดการทำโฆษณาในลักษณะที่เป็นการจูงใจให้ก่อหนี้
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 55 สินเชื่อธนาคารพาณิชย์ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 14.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยหากตามประเภทสินเชื่อพบว่า สินเชื่อธุกิจ (สัดส่วนร้อยละ 57 ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวร้อยละ 12.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งสอดคล้องกับการขยายตัวของเครื่องชี้ในภาคการลงทุน อาทิ การนำเข้าเครื่องมือเครื่อง ที่ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 19.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่สินเชื่อผู้บริโภคขยายตัวร้อยละ 17.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งหากวิเคราะห์ลงไปในรายละเอียดพบว่า เกิดจากการขยายตัวในระดับสูงของสินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ (สัดส่วนร้อยละ 27 ของสินเชื่อภาคครัวเรือน) ซึ่ง ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ปี 55 ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 25.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งจากการดำเนินนโยบายรถคันแรกของรัฐบาล รวมถึงค่านิยมของผู้บริโภคในการใช้รถยนต์ประหยัดพลังงาน (EcoCar) มากขึ้น และการฟื้นตัวเต็มที่ของการผลิตในภาคยานยนต์ ซึ่งส่งผลให้ส่งมอบรถยนต์ได้ตามคำสั่งซื้อของภาคเอกชนได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานะของธนาคารพาณิชย์ยังคงแข็งแกร่ง สะท้อนจากสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิมีทิศทางลดลง โดยในไตรมาสที่ 3 ปี 55 ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.2 ของสินเชื่อรวม และสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงยังคงอยู่ในระดับสูงที่ร้อยละ 15.9 ส่งผลให้คาดว่าระดับหนี้สินที่เพิ่มขึ้นจากการเร่งขึ้นของสินเชื่อภาคครัวเรือน ไม่น่าจะกระทบต่อภาพรวมภาคการเงินและภาคเศรษฐกิจจริงในระยะสั้น ซึ่งจำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
3. ยอดค้าปลีกญี่ปุ่น เดือน ต.ค. 55 หดตัวสูงสุดในรอบ 11 เดือน ที่ร้อยละ -1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ยอดค้าปลีกญี่ปุ่น เดือน ต.ค. 55 หดตัวสูงสุดในรอบ 11 เดือน ที่ร้อยละ -1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ผลจากยอดซื้อสินค้าหมวดรถยนต์และโทรทัศน์ที่หดตัวเป็นสำคัญ ผนวกกับแรงกดดันจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลญี่ปุ่นส่งผลให้ชาวญี่ปุ่นมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น
  • ฝ่ายเลขาฯ วิเคราะห์ว่า เครื่องชี้ทางเศรษฐกิจญี่ปุ่นส่งสัญญาณการชะลอตัวในช่วงที่เหลือของปี 55 นี้ บ่งชี้จาก 1) GDP ญี่ปุ่น ในไตรมาส 3 ปี 55 ขยายตัวในอัตราต่ำที่ร้อยละ 0.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือหดตัวร้อยละ -0.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน หากเศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาส 4 ปี 55 นี้ยังคงหดตัวจากไตรมาสก่อนหน้า จะทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิคได้ 2) การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวชะลอลงต่อเนื่อง โดยไตรมาส 3 ปี 55 อยู่ที่ร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (สัดส่วนปี 54 ที่ร้อยละ 59.1 ของ GDP) 3) ภาคการส่งออกหดตัวต่อเนื่อง 6 เดือน ส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบจากกรณีพิพาทระหว่างจีนและญี่ปุ่นประเด็นกรรมสิทธิ์การครอบครองหมู่เกาะเซนกากุ/เตียวหยู เนื่องจากจีนเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 1 ของญี่ปุ่น ทั้งนี้ ญี่ปุ่นยังมีความเสี่ยงจากเสถียรภาพทางการเมืองที่ไม่มั่นคงซึ่งส่งผลกระทบถึงความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจญี่ปุ่น ส่งผลให้ชาวญี่ปุ่นมีความกังวลและระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นปี 55 จะขยายตัวร้อยละ 2.4 (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ย. 55) ซึ่งสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ชะลอลงชัดเจนนั้นอาจส่งผลให้มีการปรับประมาณการณ์อีกครั้งในเดือน ธ.ค. 55 นี้

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ