รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 26 - 30 พฤศจิกายน 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 3, 2012 11:30 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary
Indicators this week
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ต.ค. 55 ขยายตัวร้อยละ 36.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • การส่งออกในเดือน ต.ค. 55 ขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 15.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

สอดคล้องกับการนำเข้าที่ขยายตัวเร่งขึ้นเช่นกันที่ร้อยละ 21.6

  • วันที่ 28 พ.ย. 55 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.75
  • ยอดขายรถยนต์นั่งเดือน ต.ค.55 ขยายตัวในอัตราเร่งร้อยละ 263.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

สอดคล้องกับยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 206.8

  • GDP ฟิลิปินส์ ไตรมาสที่ 3 ปี 55 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 2 ปีที่ร้อยละ 7.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP สหรัฐฯไตรมาส 3 ปี 55 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ยอดค้าปลีกญี่ปุ่น เดือน ต.ค. 55 หดตัวร้อยละ -1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่น เดือน ต.ค. 55 กลับมาขยายตัวร้อยละ 1.8 จากเดือนก่อนหน้า
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกาหลีใต้ เดือน พ.ย. 55 อยู่ที่ระดับ 99.0 ในขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ต.ค. 55

หดตัวร้อยละ -0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

Indicators next week
 Indicators                          Forecast             Previous
 Nov : Headline Inflation (%YoY)        3.2                  3.3

โดยมีสาเหตุหลักจากราคาผักและผลไม้ที่ปรับตัวลดลง เนื่องจากหมดเทศกาลกินเจและสภาพอากาศเหมาะสมต่อการเติบโตของผักหลายชนิด ประกอบกับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก อย่างไรก็ดี ราคาเนื้อสัตว์และไข่คาดว่าจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากมีความต้องการบริโภคที่สูงขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะขยายตัวที่ร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (%mom)

Economic Indicators: This Week
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ต.ค. 55 ขยายตัวร้อยละ 36.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยสำคัญจากฐานการคำนวณที่อยู่ในระดับต่ำในปีก่อนเนื่องจากประสบปัญหาน้ำท่วม โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคกลาง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตสำคัญของภาคอุตสาหกรรม ทำให้ผู้ผลิตหยุดดำเนินการผลิตเป็นเวลากว่า 3 เดือน (ต.ค. - ธ.ค. 54) โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่มีการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องแต่งกาย และเนื้อไก่แปรรูป ทั้งนี้ ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมได้รับสัญญาณที่ดีจากการนำเข้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปที่ไม่รวมทองคำที่กลับมาขยายตัวถึงร้อยละ 12.94 ในเดือน ต.ค.55 (หลังจากที่ก่อนหน้ามีการหดตัวอย่างต่อเนื่อง 2 เดือน)
  • การส่งออกในเดือน ต.ค. 55 มีมูลค่าอยู่ที่ 19,524.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 15.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.2 เนื่องจากปัจจัยฐานต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อน จากปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 54 ประกอบกับการขยายตัวเร่งขึ้นเกือบทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 23.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -14.5 และสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 25.2 จากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -6.1 รวมถึงสินค้ายานยนต์ และสินค้าเชื้อเพลิงที่ขยายตัวเร่งขึ้นเช่นเดียวกันที่ร้อยละ 53.4 และ 31.3 ในขณะที่สินค้าหมวดเกษตรกรรมหดตัวที่ร้อยละ -13.7 ตามการลดลงของยางพาราเป็นสำคัญ ทั้งนี้ ราคาส่งออกขยายตัวที่ร้อยละ 0.6 และปริมาณการส่งออกขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 14.8
  • การนำเข้าในเดือน ต.ค. 55 มีมูลค่าอยู่ที่ 21,993.58 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 21.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปัจจัยฐานต่ำและการขยายตัวเร่งขึ้นในเกือบทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะสินค้ายานพาหนะที่ขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 70.1 ประกอบกับสินค้าทุนที่ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 48.3 รวมถึงสินค้าอุปโภคบริโภคที่ขยายตัวเร่งขึ้นเช่นเดียวกันที่ร้อยละ 29.1 ในขณะที่สินค้าวัตถุดิบหดตัวที่ร้อยละ -3.7 ทั้งนี้ ราคานำเข้าขยายตัวที่ร้อยละ 0.6 และปริมาณการนำเข้าขยายตัวเช่นเดียวกันที่ร้อยละ 21.7 และจากการที่มูลค่าการนำเข้าสูงกว่ามูลค่าการส่งออกทำให้ดุลการค้าในเดือน ต.ค. 55 ขาดดุลที่ -2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • วันที่ 28 พ.ย. 55 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.75 จากการที่ กนง. ประเมินว่าภาวะความเสี่ยงด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลง โดยผลกระทบของเศรษฐกิจโลกยังอยู่ในวงจำกัด เฉพาะในภาคที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกสินค้า ขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง ช่วยรองรับผลกระทบจากการส่งออกที่ชะลอลงได้ ประกอบกับแรงกดดันจากเงินเฟ้อยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ กนง. วิเคราะห์ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปัจจุบันยังอยู่ในระดับผ่อนปรนและเหมาะสมต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะต่อไป จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.75 ต่อปี
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ต.ค. 55 มีจำนวน 72,211 คัน หรือขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 263.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 67.8 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่าขยายตัวร้อยละ 5.9 โดยได้รับปัจจัยบวกจาก 1. ปัจจัยฐานต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมในช่วงปลายปี 54 2. การฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง และ 3. นโยบายภาครัฐในการสนับสนุนการซื้อรถคันแรก โดยผู้บริโภคได้รับการคืนภาษีสูงถึง 1 แสนบาท สำหรับรถที่มีการซื้อจนถึง 31 ธันวาคม 55 ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนแรกปี 55 ยอดขายรถยนต์นั่งขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 61.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนต.ค. 55 มีจำนวน 70,628 คัน หรือขยายตัวร้อยละ 206.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 39.4 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก 1. ปัจจัยฐานต่ำจากช่วงเดียวกันปีก่อน ที่โรงงานผลิตยานยนต์ประสบปัญหาอุทกภัย ทำให้ภาคการผลิตรถยนต์หยุดชะงักงัน 2.การฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง และ 3. ความต่อเนื่องของนโยบายสนับสนุนของภาครัฐ ในการกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนแรกปี 55 ยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 58.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ปริมาณจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศในเดือนต.ค. 55 ขยายตัวร้อยละ 70.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวเร่งขึ้นมากจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -5.6 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกพบว่าขยายตัวร้อยละ 19.3 จากเดือนก่อนหน้า ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยฐานต่ำของช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าจากวิกฤติอุทกภัยที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 54 ขณะที่ในปัจจุบันมีความต้องการใช้เหล็กเพิ่มมากขึ้น สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายเหล็กเส้นข้ออ้อย (น้ำหนักร้อยละ 65.4 ของปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวม) ขยายตัวร้อยละ 78.4 ต่อปี เหล็กเส้นกลม (น้ำหนักร้อยละ 14.0) ขยายตัวร้อยละ 71.3 ต่อปี และเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี(น้ำหนักร้อยละ 12.7) ขยายตัวร้อยละ 64.6 ต่อปี ทั้งนี้ การขยายตัวของปริมาณจำหน่ายเหล็กสอดคล้องกับปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ในเดือนต.ค. 55 ที่ขยายตัวร้อยละ 30.9 สะท้อนถึงการลงทุนในภาคการก่อสร้างมีแนวโน้มการขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะอุปสงค์ในตลาดอสังหาริมทรัพย์
Economic Indicators: Next Week
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน พ.ย. 55 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 3.2 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย โดยมีสาเหตุหลักจากราคาผักและผลไม้ที่ปรับตัวลดลง เนื่องจากหมดเทศกาลกินเจและสภาพอากาศเหมาะสมต่อการเติบโตของผักหลายชนิด ประกอบกับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก อย่างไรก็ดี ราคาเนื้อสัตว์และไข่คาดว่าจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า เนื่องจากมีความต้องการบริโภคที่สูงขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะขยายตัวที่ร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (%mom)

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ย. 55 อยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบ 4 ปีที่ 73.7 จุด ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 73.1 จุด ผลจากดัชนีความคาดการณ์เศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวลดลง GDP ไตรมาส 3 ปี 55 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 0.7 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) สูงกว่าการประมาณครั้งก่อนหน้า จากสินค้าคงคลังที่สูงขึ้นเป็นสำคัญ
Japan: mixed signal
  • ยอดค้าปลีก เดือน ต.ค. 55 หดตัวร้อยละ -1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ผลจากยอดขายสินค้าหมวดรถยนต์และโทรทัศน์ที่หดตัวลงเป็นสำคัญ ผนวกกับเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ชะลอลงและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการญี่ปุ่น ส่งผลทำให้ชาวญี่ปุ่นเพิ่มความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 55 ปรับตัวลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 19 เดือน ที่ระดับ 46.5 จุด จากภาคการส่งออกที่หดตัวอย่างต่อเนื่องและอุปสงค์ในประเทศที่อ่อนแอเป็นสำคัญ ส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่นย่ำแย่ในปีนี้ อัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. 55 อยู่ที่ร้อยละ -0.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่อัตราการว่างงาน เดือน ต.ค. 55 ทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 4.2 ของกำลังแรงงานรวม ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน ต.ค. 55 กลับมาขยายตัวร้อยละ 1.8 จากเดือนก่อนหน้า โดยคาดว่าส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยต่ำในเดือนก่อนหน้าที่หดตัวถึงร้อยละ -4.1 อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการกลับมาฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่นยังคงเป็นไปอย่างยากลำบาก ทั้งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังคงพยายามออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง
South Korea: worsening economic trend
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ย. 55 อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 100 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ที่ระดับ 99.0 บ่งชี้ทิศทางการบริโภคภาคเอกชนที่คาดว่าจะชะลอลงในระยะต่อไป ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 55 หดตัวร้อยละ -0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการหดตัวของการผลิตเพื่อการส่งออก สะท้อนผลกระทบจากการชะลอลงของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ การผลิตในหมวดสินค้าทุนหดตัวลงเช่นกัน บ่งชี้การลงทุนในประเทศที่มีทิศทางชะลอลง
Philippines: improving economic trend
  • GDP ไตรมาสที่ 3 ปี 55 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 2 ปีที่ร้อยละ 7.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (หลังขจัดผลทางฤดูกาล) จากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และการก่อสร้างภาครัฐขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 23.7 สะท้อนการขยายตัวอย่างแข็งแกร่งของอุปสงค์ในประเทศ ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง และส่วนหนึ่งมาจากฐานที่ต่ำในปีก่อน ด้านมูลค่าการนำเข้า เดือน ก.ย. 55 กลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าอุปกรณ๋เกี่ยวกับโทรคมนาคม เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ปุ๋ย และเชื้อเพลิงธรรมชาติจากจีน ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุลลดลง -482.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
Malaysia: mixed signal
  • อัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. 55 อยู่ที่ร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับช่วงดียวกันปีก่อน คงที่จากเดือนก่อน จากราคาสินค้าส่วนใหญ่ที่ขยายตัวในอัตราคงที่
Hong Kong: mixed signal
  • มูลค่าการส่งออก เดือน ต.ค. 55 หดตัวร้อยละ -2.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการชะลอลงของการส่งออกไปยังจีน ขณะที่การส่งออกไปยังสหรัฐฯหดตัว สะท้อนผลกระทบจากการชะลอลงของเศรษฐกิจโลกต่อภาคการส่งออก มูลค่าการนำเข้า เดือน ต.ค. 55 ชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการหดตัวของการนำเข้าสินค้าอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีก เดือน ต.ค. 55 ขยายตัวร้อยละ 4.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 9.4 จากยอดขายอาหารและรถยนต์ที่หดตัวสะท้อนอุปสงค์ในประเทศที่เริ่มมีทิศทางชะลอลง
Singapore: worsening economic trend
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 55 หดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ที่ร้อยละ -2.2 เมื่อเทียบกับช่วงดียวกันปีก่อน จากผลผลิตเครื่องมือเครื่องจักร และคอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ที่หดตัวร้อยละ -6.6 และ -3.6 ตามลำดับ เป็นสำคัญ อัตราเงินเฟ้อ เดือน ต.ค. 55 ปรับลดลงมาที่ร้อยละ 4.0 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากค่าขนส่งและค่าที่อยู่อาศัยที่ขยายตัวะลอลงที่ร้อยละ 8.3 และ 6.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ
Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง โดย ณ วันที่ 29 พ.ย. 55 ดัชนีฯ ปิดที่ระดับ 1,309.57 จุด จากแรงซื้อของนักลงทุนบัญชีบริษัทหลักทรัพย์และนักลงทุนสถาบันเป็นสำคัญ จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชัดเจนขึ้น ไม่ว่าจะเป้นการสรุปเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือกรีซ ตลอดจนการเจรจาการแก้ไขปัญหา Fiscal Cliff ของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มลุล่วงได้ด้วยดี โดยระหว่างวันที่ 26 - 29 พ.ย. 55 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 1,556.83 ล้านบาท ในขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลค่อนข้างทรงตัว โดยผลตอบแทนพันธบัตรอายุเกิน 20 ปีปรับลดลงบ้าง 1-2 bps จากผลการตัดสินใจคงดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.75 ต่อปี ของ กนง. เมื่อวันที่ 28 พ.ย. 55 ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 26 - 29 พ.ย. 55 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 12.5 ล้านบาท
  • ค่าเงินบาทค่อนข้างทรงตัว โดย ณ วันที่ 29 พ.ย. 55 ปิดที่ระดับ 30.71 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ใกล้เคียงกับสัปดาห์ก่อนหน้า ในขณะที่ค่าเงินสกุลอื่นๆ แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ โดยเฉพาะค่าเงินเยน ยูโร หยวน ริงกิตมาเลเซีย วอนเกาหลี และดอลลาร์สิงคโปร์ ทั้งนี้ ค่าเงินของคู่ค้าโดยเฉลี่ยที่แข็งค่าขึ้นมากกว่าค่าเงินบาท ทำให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงร้อยละ -0.33 จากสัปดาห์ก่อนหน้า
  • ราคาทองคำค่อนข้างทรงตัว โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 29 พ.ย. 55 ปิดที่ 1,724.79 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ใกล้เคียงกับต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,748.49 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ