รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 4 ธันวาคม 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 4, 2012 11:17 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 4 ธันวาคม 2555

Summary:

1. พาณิชย์คาดเงินเฟ้อปีนี้อยู่ในกรอบร้ยอละ 3.0 ขณะที่ พ.ย. อยู่ที่ร้อยละ 2.74

2. ธปท.ขอความร่วมมือแบงก์พาณิชย์ไม่กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายในสินค้าฟุ่มเฟือย

3. ตลาดหุ้นสหรัฐเปิดปรับตัวขึ้น ขานรับภาคการผลิตของจีน

Highlight:

1. พาณิชย์คาดเงินเฟ้อปีนี้อยู่ในกรอบร้อยละ 3.0 ขณะที่ พ.ย. อยู่ที่ร้อยละ 2.74
  • ปลัดกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อเดือน พ.ย. 55 อยู่ที่ร้อยละ 2.74 เนื่องจากราคาสินค้าเกษตร ผักและผลไม้ และปลา มีราคาสูงขึ้น รวมถึงค่าโดยสารรถไฟฟ้าปรับราคาสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ถือว่าราคาลดลง หากเทียบกับเดือน ต.ค. 55 จึงทำให้อัตราเงินเฟ้อเทียบต่อเดือนลดลงร้อยละ 0.35 ส่วนอัตราเงินเฟ้อในรอบ 11 เดือนแรกของปี 2555 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.96 และเชื่อว่าทั้งปีจะยังอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ตั้งไว้ร้อยละ 3.0 สำหรับปี 56 คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะขยายตัวประมาณ 2.8-3.4 หรือเฉลี่ยร้อยละ 3.0
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อเดือน พ.ย. 55 อยู่ที่ร้อยละ 2.7 ปรับตัวลงจากเดือนก่อนหน้า ที่อยู่ร้อยละ 3.3 และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าพบว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเดือน พ.ย.55 หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 11 เดือนที่ร้อยละ -0.35 โดยมีสาเหตุหลักมาจากการลดลงของราคาสินค้าในหมวดของผักและผลไม้เป็นสำคัญที่ปรับลดลงจากเดือนก่อนที่มีเทศกาลกินเจ ประกอบกับราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ทั้งนี้ สศค.คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วในปี 55 จะอยู่ที่ร้อยละ 3.3 โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 3.0 - 3.5 สำหรับในปี 56 คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ร้อยละ 3.5 โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 3.0 - 4.0 (คาดการณ์ ณ ก.ย.55)
2. ธปท.ขอความร่วมมือแบงก์พาณิชย์ไม่กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายในสินค้าฟุ่มเฟือย
  • ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เชิญผู้แทนจากสมาคมธนาคารไทยร่วมพบปะสนทนาเพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับทิศทางของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก พร้อมกล่าวถึงความสำคัญในเรื่องการขยายตัวของสินเชื่อในประเทศ การคุ้มครองผู้บริโภค การโฆษณากระตุ้นการใช้จ่าย โดยขอให้ธนาคารพาณิชย์ดูแลความสมดุลระหว่างการกระตุ้นให้ประชาชนใช้จ่ายกับการออม เพื่อสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจประเทศในระยะยาว และควรมีความรับผิดชอบไม่กระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายในสินค้าฟุ่มเฟื่อย
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากการติดตามเครื่องชี้ด้านสินเชื่อพบว่า ยอดคงค้างสินเชื่อของสถาบันการเงินเดือน ก.ย. 55 ยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่องที่ร้อยละ 15.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า โดยถ้าพิจารณาในรายละเอียดจะพบว่าสินเชื่อเพื่อการบริโภคของธนาคารพาณิชย์มีการขยายตัวได้ในระดับสูงที่ร้อยละ 17.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า แสดงให้เห็นว่าประชาชนมีความต้องการใช้สินเชื่อเพื่อนำมาบริโภคในสินค้าและบริการต่างๆเพิ่มขึ้น ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในระยะยาว การควบคุมและดูแลการปล่อยสินเชื่อแก่ประชาชนให้มีความเหมาะสมจึงมีความจำเป็น ธนาคารพาณิชย์ควรให้ความสำคัญในการปล่อยสินเชื่อที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจ และไม่ทำให้เกิดการใช้จ่ายที่เกินตัวของประชาชน
3. ตลาดหุ้นสหรัฐเปิดปรับตัวขึ้น ขานรับภาคการผลิตของจีน
  • ตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวขึ้นในช่วงเปิดตลาดวันจันทร์ (เวลาในสหรัฐ) เพราะได้ปัจจัยหนุนจากข้อมูลภาคการผลิตจีนที่ขยายตัว โดยดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์เพิ่มขึ้น 0.4% แตะที่ 13,079 จุด ดัชนี S&P 500 เพิ่มขึ้น 0.4% แตะที่ 1,422 จุด และดัชนี Nasdaq เพิ่มขึ้น 0.6% แตะที่ 3,028 จุด หลังจากที่ HSBC Holdings รายงานในวันนี้ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายในเดือนพ.ย.ของจีนเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 50.5 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 13 เดือน ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า เศรษฐกิจจีนเริ่มดีดตัวขึ้น และมีแนวโน้มที่จะทำให้ตลาดมีความเชื่อมั่นในแนวโน้มของเศรษฐกิจจีนต่อไป
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจุบันบริษัทของสหรัฐมีการทำข้อตกลงเพื่อร่วมทุนกว่า 2 หมื่นโครงการ ครอบคลุมทั้งกิจการร่วมทุนและกิจกรรมของต่างชาติแบบเต็มตัวในจีน ขณะเดียวกัน จีนเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดด้านการส่งออกผลิตภัณฑ์เกษตรของสหรัฐ โดยในปีที่ผ่านมา จีนมียอดซื้อถึง 2 หมื่นพันล้าน USD ส่งผลให้เกิดการจ้างงานถึง 1.6 แสน ตำแหน่งในภาคเกษตรของสหรัฐ ดังนั้น ความสัมพันธ์ของภาคการผลิตของทั้งสองประเทศจึงค่อนข้างเป็นไปในทิศทางที่สอด คล้องกัน โดยการเพิ่มขึ้นของดัชนี PMI ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายในเดือน พ.ย.ของจีน สู่ระดับสูงสุดในรอบ 13 เดือน ดังกล่าว สอดคล้องกับดัชนี PMI ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของสหรัฐที่เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 52.8 จาก 51.0 ในเดือน ต.ค.

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ