รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 21 ธันวาคม 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 21, 2012 10:52 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 21 ธันวาคม 2555

Summary:

1. ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย.55 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน

2. คำสั่งซื้อสินค้าส่งออกไต้หวันเดือน พ.ย. 55 ขยายตัวร้อยละ 11.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า

3. ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0 - 0.1 และดำเนินมาตรการ QE เพิ่มเติมอีก 10 ล้านล้านเยน

Highlight:

1. ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย.55 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน
  • ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ( Thai Industries Sentiment Index: TISI) เดือน พ.ย.55 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน มาอยู่ที่ 95.2 จุด เพิ่มขึ้นจากระดับ 93.0 ในเดือน ต.ค. 55 ทั้งนี้ ค่าดัชนีที่เพิ่มขึ้นเกิดจากยอดคำสั่งซื้อรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุน และผลประกอบการ ที่ปรับสูงขึ้น ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมในช่วง 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 99.6 จุด ลดลงจากระดับ 101.8 ในเดือนก่อนหน้า
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ภาคอุตสาหกรรมไทยมีสัญญาณการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ประสบปัญหาห่วงโซ่อุปทานในปี 54 จากภัยพิบัติสึนามิในญี่ปุ่นและมหาอุทกภัยในไทย โดยจะเห็นได้จากตัวเลขดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวดีขึ้นตั้งแต่เดือน ต.ค. 55 เป็นต้นมา ส่วนหนึ่งจากปัจจัยฐานต่ำในปีก่อนหน้า และเป็นผลมาจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากความต้องการสินค้าและบริการในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ก่อสร้างและกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ยังมีค่าต่ำกว่า 100 บ่งชี้ว่าความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการยังคงอยู่ในระดับที่ไม่ดี จากความเสี่ยงทั้งด้านต้นทุนและเศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความเสี่ยง ซึ่งอาจกระทบอุปสงค์จากต่างประเทศและส่งผลต่ออุตสาหกรรมการผลิตที่เน้นการส่งออก อาทิ อุตสาหกรรมการผลิตวิทยุโทรทัศน์ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องประดับ และเครื่องหนังได้
2. คำสั่งซื้อสินค้าส่งออกไต้หวันเดือน พ.ย. 55 ขยายตัวร้อยละ 11.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า
  • คำสั่งซื้อสินค้าส่งออกไต้หวันเดือน พ.ย. 55 ขยายตัวร้อยละ 11.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า เร่งขึ้นชัดเจนจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.2 ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าว ซึ่งเป็นเครื่องชี้วัดทิศทางการส่งออกในระยะ 1-3 เดือนข้างหน้า สะท้อนถึงแนวโน้มภาคการส่งออกที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นในระยะต่อไป
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ตัวเลขคำสั่งซื้อสินค้าส่งออกไต้หวันที่ปรับตัวดีขึ้นดังกล่าว เกิดจากคำสั่งซื้อสินค้าจากประเทศคู่ค้าหลักที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากสหรัฐฯ จีน และสหภาพยุโรปที่ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 20.3 ร้อยละ 9.6 และร้อยละ 9.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า ตามลำดับ สะท้อนอุปสงค์จากนอกประเทศที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง และคาดว่าจะส่งผลบวกต่อภาคการส่งออกของไต้หวัน ซึ่งมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 74.5 ของ GDP ในระยะต่อไป ภายหลังจากที่มูลค่าการส่งออกหดตัวลงต่อเนื่อง และส่งผลให้ในช่วง 11 เดือนแรกปี 55 หดตัวร้อยละ -3.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า ทั้งนี้ เศรษฐกิจคู่ค้าที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นในปี 56 เมื่อเทียบกับปี 55 จะเป็นแรงส่งสำคํญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไต้หวัน โดย สศค. คาดว่าในปี 56 เศรษฐกิจไต้หวันจะขยายตัวร้อยละ 5.1 เร่งขึ้นจากปี 55 ที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.9 (คาดการณ์ ณ เดือน ก.ย. 55)
3. ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0 - 0.1 และดำเนินมาตรการ QE เพิ่มเติมอีก 10 ล้านล้านเยน
  • ธนาคารกลางญี่ปุ่น มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ช่วงร้อยละ 0 - 0.1 ต่อปี และขยายวงเงินการดำเนินนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายเพิ่มเติม (Quantitative Easing) โดยจะเข้าซื้อสินทรัพย์อีก 10 ล้านล้านเยน ส่งผลให้วงเงินรวมของมาตรการ QE จากเดิม 91 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 101 ล้านล้านเยน โดยการดำเนินการดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศต่อไป
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 55 นี้มีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะถดถอย ทั้งจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจโลกซึ่งส่งผลกระทบผ่านช่องทางการค้า บ่งชี้จากมูลค่าส่งออกของญี่ปุ่นในช่วง 11 เดือนแรกของปี 55 หดตัวเฉลี่ย -1.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน อีกทั้งเศรษฐกิจภายในประเทศชะลอลงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการบริโภคภาคเอกชนซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สัดส่วนร้อยละ 59.1 ของ GDP สะท้อนจาก ยอดค้าปลีกญี่ปุ่น ไตรมาส 3 ปี 55 ขยายตัวเฉลี่ยเพียงร้อยละ 0.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน และอัตราเงินเฟ้อไตรมาส 3 ปี 55 เฉลี่ยที่ร้อยละ -0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นการปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง จากปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองของญี่ปุ่นและการเผชิญกับภาวะเงินฝืดในญี่ปุ่น อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 55 นายชินโสะ อาเบะ หัวหน้าพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) ชนะการเลือกตั้งทั่วไปของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองของญี่ปุ่นตามที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ โดยนายอาเบะมีท่าทีสนับสนุนการดำเนินนโยบาย QE ของญี่ปุ่นอย่างชัดเจน จึงต้องติดตามว่ารัฐบาลชุดใหม่นี้จะดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นต่อไปให้กลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้งในแนวทางใด

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ