รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 27 ธันวาคม 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday December 27, 2012 13:59 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 27 ธันวาคม 2555

Summary:

1. กระทรวงพาณิชย์เผยส่งออกไทย 11 เดือนเพิ่มร้อย 2.3 ตั้งเป้าปี 56 โตร้อยละ 8-9

2. เศรษฐกิจไทยปีหน้าโตร้อยละ 5 หลังรัฐบาลเร่งเดินหน้าเบิกจ่ายงบประมาณ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเกือบ 5 แสนล้านบาท

3. อัตราเงินเฟ้อสิงคโปร์ในเดือน พ.ย.55 ลดลงต่ำสุดในรอบ 2 ปี

Highlight:

1. กระทรวงพาณิชย์เผยส่งออกไทย 11 เดือนเพิ่มร้อย 2.3 ตั้งเป้าปี 56 โตร้อยละ 8-9
  • อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยเดือน พ.ย. 55 มีมูลค่า 19,555.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลทำให้ 11 เดือนแรกของปี 55 มีมูลค่าทั้งสิ้น 211,417.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออก ได้แก่ สภาวะเศรษฐกิจยุโรปและปัญหาสภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นและจีน ทั้งนี้ คาดว่าปี 55 จะขยายตัวประมาณร้อยละ 4-5 เป็นไปตามเป้าหมายที่ได้ตั้งเอาไว้ และปี 56 ตั้งเป้าว่าจะขยายตัวประมาณ ร้อยละ 8-9
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกไทยในเดือน พ.ย.55 มีมูลค่า 19.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 26.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยฐานต่ำจากวิกฤติอุทกภัยในช่วงปลายปี 2554 แต่เมื่อขจัดผลทางฤดูกาล พบว่า ขยายตัวที่ร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยถือเป็นการขยายตัวเป็นบวกติดกันกันเป็นเดือนที่ 3 และได้รับปัจจัยบวกจากตลาดส่งออกหลักที่กลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน อาเซียน-9 และออสเตรเลียทั้งนี้ สศค. คาดว่า ทั้งปี 55 มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ จะขยายตัวที่ร้อยละ 3.9 และในปี 56 มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ จะขยายตัวที่ร้อยละ 10.0 โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 9.0-11.0 (คาดการณ์ ณ เดือน ธ.ค.55)
2. เศรษฐกิจไทยปีหน้าโตร้อยละ 5 หลังรัฐบาลเร่งเดินหน้าเบิกจ่ายงบประมาณ ลงทุนโครงสร้าง พื้นฐานเกือบ 5 แสนล้านบาท
  • นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง ยืนยันว่า เศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะขยายตัวได้ 5% และการส่งออกจะขยายตัวได้ 9% ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐ ทั้งการลงทุนตาม พ.ร.ก.กู้เงินลงทุนระบบน้ำ 3 แสน 5 หมื่นล้านบาท ที่จะมีเม็ดเงินลงทุนในปีหน้า 6 - 9 หมื่นล้านบาท หรือ พ.ร.บ.ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท ที่คาดว่า จะมีเบิกจ่ายในปีหน้าประมาณ 1 แสนล้านบาท และรัฐบาลยังมีแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่องในช่วง 4 - 5 ปีข้างหน้า แต่ยืนยันว่า รัฐบาลจะรักษาวินัยการคลังอย่างเคร่งครัด และดูแลระดับหนี้สาธารณะไม่ให้เกิน 50% ของจีดีพี โดยรัฐบาลตั้งเป้าจัดทำงบสมดุลให้ได้ในอีก 3 - 4 ปีงบประมาณข้างหน้า โดยปีงบ 2557 รัฐบาลตั้งเป้าจัดทำงบขาดดุลน้อยลงเหลือ 2-2.25 แสนล้านบาท
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการคลังในเดือนพฤศจิกายน 2555 พบว่า การใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลมีบทบาทสนับสนุนเศรษฐกิจ โดยผลการเบิกจ่ายงบประมาณรวมในเดือนพฤศจิกายน 2555 มีจำนวน 299.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 99.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 87.0 ส่วนพ.ร.ก. กู้เงินลงทุน ณ 21 ธ.ค. 55 ได้มีการเบิกจ่ายไปแล้ว 4.2 พันล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18.73 ต่อการจัดสรรถือจ่าย โดย สศค. คาดว่าจะมีการเบิกจ่ายทั้งหมดประมาณ 64 หมื่นล้านบาท ส่วนพ.ร.บ.ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานยังไม่ได้มีการเบิกจ่าย ซึ่งคาดว่าจะมีการเบิกจ่ายในปีหน้า ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 5.7 ในปี 55 และ 5.0 ในปี 56 (คาดการณ์ ณ เดือน ธ.ค. 55)
3. อัตราเงินเฟ้อสิงคโปร์ในเดือน พ.ย.55 ลดลงต่ำสุดในรอบ 2 ปี
  • สำนักงานสถิติของสิงคโปร์รายงานว่า อัตราเงินเฟ้อของสิงคโปร์ลดลงต่ำสุดในรอบ 2 ปี ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาเนื่องจากการชะลอลงของการเพิ่มขึ้นของราคาที่อยุ่อาศัยและขนส่ง โดยดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพฤศจิกายนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน หลังจากที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 ในเดือนตุลาคม ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์จากการสำรวจของ Bloomberg คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 ในเดือนพฤศจิกายน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อของสิงคโปร์เดือน พ.ย. 55 เท่ากับร้อยละ 3.6 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 0.4 เนื่องจากราคาสินค้าในหมวดที่อยู่อาศัยและการขนส่งที่คิดเป็นร้อยละ 41.0 ของสินค้าในตระกร้าเงินเฟ้อ ปรับลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 5.2 และ 6.2 ตามลำดับ จากร้อยละ 5.6 และ 7.5 ในเดือนตุลาคม ซึ่งสอดคล้องกับเศรษฐกิจที่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง โดยในไตรมาสที่ 3 ของปี 55 เศรษฐกิจของสิงคโปร์ขยายตัวร้อยละ 0.3 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.7 โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเพียงร้อยละ 1.1 ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐ การลงทุน และการส่งออกกลับหดตัวร้อยละ -0.9 -0.9 และ -2.3 ประกอบกับราคาน้ำมันดิบก็ปรับลดลงประมาณร้อยละ 6.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว ทั้งนี้ สศค. ประเมินอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ในปี 55 และ 56 จะขยายตัวร้อยละ 1.6 และ 3.2 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ณ ธ.ค. 55

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ