ฐานะการคลังภาครัฐบาล ตามระบบ สศค. ไตรมาสที่ 4 (กรกฎาคม — กันยายน 2555) และปีงบประมาณ 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 28, 2012 11:02 —กระทรวงการคลัง

ฐานะการคลังของภาครัฐบาล (รัฐบาล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น) ตามระบบ สศค. (Government Finance Statistics : GFS) ในไตรมาสที่ 4 ขาดดุล 0.46 แสนล้านบาท ส่งผลให้ในปีงบประมาณ 2555 ดุลการคลังภาครัฐบาลขาดดุล 2.6 แสนล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุลของรัฐบาล

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เผยว่าไตรมาสที่ 4 ของปีงบประมาณ 2555 (กรกฎาคม — กันยายน 2555) ดุลการคลังภาครัฐบาลขาดดุล 46,483 ล้านบาท ขณะที่ช่วงเดียวกันปีที่แล้วเกินดุล 44,019 ล้านบาท โดยรัฐบาลมีรายได้ทั้งสิ้น 781,099 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 73,605 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.4 เนื่องจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีสรรพสามิต โดยเฉพาะภาษีรถยนต์ และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้น นอกจากนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจัดสรรภาษีที่รัฐบาลจัดเก็บและแบ่งให้ สำหรับการเบิกจ่ายของภาครัฐบาลมีจำนวนทั้งสิ้น 827,582 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 164,107 ล้านบาท หรือร้อยละ 24.7 เป็นผลจากการเบิกจ่ายของรัฐบาล อปท. และบัญชีนอกงบประมาณที่เพิ่มสูงขึ้น

จากดุลการคลังในไตรมาสที่ 4 ส่งผลให้ปีงบประมาณ 2555 ดุลการคลังภาครัฐบาลขาดดุล 264,556 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 2.2 ของ GDP) เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 8,905 ล้านบาท สำหรับดุลการคลังเบื้องต้นของรัฐบาล (Primary Balance) ซึ่งเป็นดุลการคลังที่สะท้อนถึงผลการดำเนินงานของรัฐบาลและทิศทางของนโยบายการคลังของรัฐบาลอย่างแท้จริง โดยไม่นับรวมรายได้และรายจ่ายจากดอกเบี้ยและการชำระคืนต้นเงินกู้ขาดดุลทั้งสิ้น 102,437 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 1.6 ของ GDP) สูงกว่าปีที่แล้ว 38,980 ล้านบาท

นายสมชัย สัจจพงษ์ สรุปว่า “การขาดดุลการคลังภาครัฐบาลในปีงบประมาณ 2555 เป็นการแสดงให้เห็นทิศทางนโยบายการคลังของประเทศในภาพรวม ที่อัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ขยายตัวอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพต่อไป”

ฐานะการคลังภาครัฐบาล ตามระบบ สศค.

ไตรมาสที่ 4 (กรกฎาคม — กันยายน 2555) และปีงบประมาณ 2555

ฐานะการคลังของภาครัฐบาลตามระบบ สศค. ในไตรมาสที่ 4 ปีงบประมาณ 2555 ภาครัฐบาล ขาดดุลการคลังทั้งสิ้น 46,483 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 0.4 ของ GDP) ขาดดุลเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 90,502 ล้านบาท โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

1. ผลการดำเนินงานของภาครัฐบาลในไตรมาสที่ 4 ปีงบประมาณ 2555 1.1 รายได้ภาครัฐบาล มีจำนวนทั้งสิ้น 781,099 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 6.4 ของ GDP) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 73,605 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.4 โดยในส่วนของรัฐบาลมีรายได้ 558,994 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 38,147 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.3 เป็นผลจากรัฐบาลจัดเก็บรายได้ภาษีจากฐานการบริโภค (ภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีสรรพสามิต) และการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจที่เพิ่มขึ้น สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีรายได้ทั้งสิ้น 133,790 ล้านบาท (หรือร้อยละ 1.1 ของ GDP) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 35,421 ล้านบาท หรือร้อยละ 36.0 สาเหตุหลักมาจากการจัดสรรภาษีที่รัฐบาลจัดเก็บและแบ่งให้ และเงินอุดหนุนที่ให้แก่ อปท. เพิ่มขึ้น

1.2 รายจ่ายภาครัฐบาล มีจำนวนทั้งสิ้น 827,582 ล้านบาท (หรือร้อยละ 6.8 ของ GDP) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 164,107 ล้านบาท หรือร้อยละ 24.7 โดยรัฐบาลมีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 579,539 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 86,168 ล้านบาท หรือร้อยละ 17.5 จากรายจ่ายลงทุนที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้รายจ่ายเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน (DPL)มีจำนวน 5,437 ล้านบาท และรายจ่ายเพื่อวางระบบการบริหารการจัดการน้ำมีจำนวน 1,763 ล้านบาท สำหรับ อปท. มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 152,182 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 48,203 ล้านบาท หรือร้อยละ 46.4 เนื่องจาก อปท. มีรายจ่ายลงทุนเพิ่มขึ้นจากการจัดซื้อครุภัณฑ์และสิ่งก่อสร้าง เพื่อปรับปรุงและซ่อมแซมสาธารณูปโภค เช่น ถนน ขุดลอกคูคลอง และสิ่งปลูกสร้างที่เสียหายจากน้ำท่วม ส่วนบัญชีเงินนอกงบประมาณ มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 80,486 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 26,522 ล้านบาท หรือร้อยละ 49.1 สาเหตุหลักมาจากกองทุนหลักประกันสุขภาพมีการเบิกจ่ายค่าบริการทางการแพทย์เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดีแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งมีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 8,175 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 3,700 ล้านบาท หรือร้อยละ 31.2 เนื่องจากเป็นการเบิกจ่ายในช่วงปลายแผนปฏิบัติการฯ

1.3. ดุลการคลังภาครัฐบาล จากรายได้และรายจ่ายข้างต้นส่งผลให้ไตรมาสที่ 4 ของปีงบประมาณ2555 ภาครัฐบาลขาดดุลการคลังจำนวน 46,483 ล้านบาท (หรือร้อยละ 0.4 ของ GDP) ขณะที่ช่วงเดียวกันปีที่แล้วเกินดุล 44,019 ล้านบาท สำหรับดุลการคลังเบื้องต้นของรัฐบาล (Primary Balance) เกินดุลทั้งสิ้น 15,165 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 0.1 ของ GDP)

2. ฐานะการคลังตามระบบ สศค. ปีงบประมาณ 2555 (ตุลาคม 2554—กันยายน 2555)

2.1 รายได้ภาครัฐบาล มีจำนวนทั้งสิ้น 2,914,669 ล้านบาท (หรือร้อยละ 23.9 ของ GDP) เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว 185,503 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.8 ประกอบด้วย

2.1.1 รัฐบาลมีรายได้ 2,020,800 ล้านบาท (หรือร้อยละ 16.6 ของ GDP) เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 83,528 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.3 เป็นผลมาจากการจัดเก็บภาษีจากฐานการบริโภคและการนำเข้าเพิ่มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้สูงกว่าปีที่ 81,566 ล้านบาท นอกจากนี้รัฐวิสาหกิจนำส่งรายได้เพิ่มขึ้น 23,954 ล้านบาท อย่างไรก็ดีภาษีน้ำมันและภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้ต่ำกว่าปีที่แล้ว 56,853 และ 29,613 ล้านบาทตามลำดับ

2.1.2 อปท. มีรายได้ทั้งสิ้น 498,715 ล้านบาท (หรือร้อยละ 4.1 ของ GDP) เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 70,941 ล้านบาท หรือร้อยละ 16.6 เนื่องจาก อปท. ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนและภาษีที่รัฐบาลจัดเก็บและแบ่งให้เพิ่มขึ้น

2.1.3 บัญชีเงินนอกงบประมาณมีรายได้ 395,154 ล้านบาท (หรือร้อยละ 3.2 ของ GDP) เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 31,034 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.5 สาเหตุหลักเนื่องจากกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลเพิ่มขึ้น 43,698 ล้านบาท 2.2 รายจ่ายภาครัฐบาล มีจำนวนทั้งสิ้น 3,179,225 ล้านบาท (หรือร้อยละ 26.1 ของ GDP) เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 194,408 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.5 โดยเป็นผลจากการเบิกจ่ายของรัฐบาลที่เพิ่มขึ้นมากเป็นหลัก โดยมีรายละเอียด ดังนี้

2.2.1 รัฐบาลมีการเบิกจ่ายทั้งสิ้น 2,340,658 ล้านบาท (หรือร้อยละ 19.2 ของ GDP) เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 119,590 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.4

2.2.2 รายจ่ายเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจำนวน 7,382 ล้านบาท

2.2.3 รายจ่ายเพื่อวางระบบการบริหารการจัดการน้ำจำนวน 1,763 ล้านบาท

2.2.4 แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งมีการเบิกจ่ายจำนวน 24,422 ล้านบาท (หรือร้อยละ 0.2

ของ GDP) ลดลงจากปีที่แล้ว 36,941 ล้านบาท หรือร้อยละ 60.2 เนื่องจากเป็นการเบิกจ่ายช่วงปลายแผนปฏิบัติการฯ

2.2.5 อปท. มีรายจ่ายทั้งสิ้น 455,132 ล้านบาท (หรือร้อยละ 3.7 ของ GDP) เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 74,149 ล้านบาท หรือร้อยละ 19.5

2.2.6 บัญชีเงินนอกงบประมาณมีการเบิกจ่ายจำนวน 349,868 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 28,751 ล้านบาท หรือร้อยละ 9.0 มีสาเหตุหลักจากกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองและกองทุนประกันสังคมมีรายจ่ายการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 2.3. ดุลการคลังภาครัฐบาล ขาดดุล 264,556 ล้านบาท (หรือร้อยละ 2.2 ของ GDP) ขาดดุลเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 8,905 ล้านบาท ส่วนดุลการคลังเบื้องต้นของรัฐบาล (Primary Balance) ขาดดุลทั้งสิ้น 102,437 ล้านบาท (หรือร้อยละ 1.6 ของ GDP) ขาดดุลเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 38,980 ล้านบาท

สำนักนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โทร 02 273 9020 ต่อ 3595, 3551

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 142/2555 28 ธันวาคม 2555--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ