Executive Summary
Indicators this week
- ผลการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือนพ.ย. 55 สามารถเบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 299.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 99.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน พ.ย. 55 ขยายตัวร้อยละ 83.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- การส่งออกในเดือน พ.ย. 55 ขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 26.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับการนำเข้าขยายตัวเร่งขึ้นเช่นกันที่ร้อยละ 24.5
- ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน พ.ย. 55 ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 509.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 445.8
- ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ เดือน ธ.ค. 55 ปรับลดลงมากมาอยู่ที่ระดับ 65.1 จุด จากระดับ 71.5 จุดในเดือนก่อนหน้า
- ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่น เดือน ธ.ค. 55 ปรับลดลงต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปี ที่ระดับ 45.0 จุด
- ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (ตัวเลขเบื้องต้น) ญี่ปุ่น เดือน พ.ย. 55 กลับมาหดตัวร้อยละ -1.7 จากเดือนก่อนหน้า
- ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกาหลีใต้ เดือน ธ.ค. 55 อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 100 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ที่ระดับ 99.0
Indicators next week
Indicators Forecast Previous Dec: Headline Inflation(%YoY) 3.5 2.7
- โดยมีสาเหตุหลักจากราคาผักที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ประกอบกับปัจจัยฐานต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า นอกจากนี้ ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า เนื่องมาจากการเพิ่มอัตราการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ขณะที่ราคาเนื้อหมูและไข่คาดว่าจะมีการปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนทั้งนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะขยายตัวที่ร้อยละ 0.19 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (%mom)
Economic Indicators: This Week
- ผลการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือนพ.ย. 55 สามารถเบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 299.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 99.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในเดือนพ.ย. 55 มีการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบัน 270.8 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 105.4 แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 223.6 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 75.8 (2) รายจ่ายลงทุน 47.2 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 913.1 ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญ ได้แก่ รายจ่ายเงินอุดหนุนของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 68.5 พันล้านบาท รายจ่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ 51.0 พันล้านบาท รายจ่ายเพื่อชำระหนี้ของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ 24.3 พันล้านบาท และรายจ่ายเงินอุดหนุนของสำนักงานประกันสังคม 20.2 พันล้านบาท เป็นสำคัญ สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณจากปีก่อนเบิกจ่ายได้ 29.1 พันล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 57.9
- ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน พ.ย. 55 พบว่า ดุลงบประมาณขาดดุลจำนวน -136.6 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุลจำนวน -13.1 พันล้านบาท ที่มีการจัดสรรเงินให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจฯ ที่เหลื่อมจ่ายจากปีงบประมาณ 55 จำนวน 8.5 พันล้านบาท จึงส่งผลให้ดุลเงินสดก่อนกู้ขาดดุลจำนวน -149.7 พันล้านบาท ทั้งนี้ เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน พ.ย. 55 อยู่ที่ 192.8 พันล้านบาท
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน พ.ย. 55 ขยายตัวร้อยละ 83.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 จากเดือนก่อนหน้า โดยมีปัจจัยสำคัญจากฐานการคำนวณที่อยู่ในระดับต่ำในปีก่อนเนื่องจากประสบปัญหาน้ำท่วมทำให้ผู้ผลิตหยุดดำเนินการผลิตเป็นเวลากว่า 3 เดือน (ต.ค. - ธ.ค. 54) โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่มีการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยานยนต์ ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ เครื่องปรับอากาศ เบียร์ และปิโตรเลียม
- การส่งออกในเดือน พ.ย. 55 มีมูลค่าอยู่ที่ 19,555.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 26.9 เพิ่มขึ้นจากเดือน ก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 15.6 เนื่องจากปัจจัยฐานต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อน จากปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 54 ประกอบกับการขยายตัวเร่งขึ้นเกือบทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 80.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 23.0 รวมถึงสินค้าในหมวดยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ขยายตัวเร่งขึ้นเช่นกันที่ร้อยละ 172.8 และ 36.3 ตามลำดับ ในขณะที่สินค้าหมวดเกษตรกรรมหดตัวที่ร้อยละ -9.9 ตามการลดลงของยางพารา และมันสำปะหลัง เป็นสำคัญ ทั้งนี้ ราคาส่งออกขยายตัวที่ร้อยละ 1.0 และปริมาณการส่งออกขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 25.6
- การนำเข้าในเดือน พ.ย. 55 มีมูลค่าอยู่ที่ 21,010.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 24.5 เมื่อเทียบกับช่วง เดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปัจจัยฐานต่ำ โดยมีการขยายตัวเร่งขึ้นในเกือบทุกหมวดสินค้า ยกเว้นสินค้าเชื้อเพลิงที่มีการหดตัวที่ร้อยละ -7.3 ขณะที่สินค้าประเภททุนและสินค้าอุปโภคบริโภคขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 62.5 และ 35.8 ตามลำดับ ทั้งนี้ เมื่อหักผลของราคาสินค้านำเข้า พบว่าปริมาณการนำเข้าสามารถขยายตัวเช่นเดียวกันที่ร้อยละ 25.1 และจากการที่มูลค่าการนำเข้าสูงกว่ามูลค่าการส่งออกทำให้ดุลการค้าในเดือน พ.ย. 55 ขาดดุลที่ -1.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
- ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน พ.ย. 55 มีจำนวน 77,743 คัน หรือขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 509.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 263.7 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออก (m-o-m SA) พบว่าขยายตัวร้อยละ 6.9 โดยได้รับปัจจัยบวกจาก 1. ปัจจัยฐานต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยในช่วงปลายปี 54 2. การฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง และ 3. นโยบายภาครัฐในการสนับสนุนการซื้อรถคันแรก โดยผู้บริโภคได้รับการคืนภาษีสูงถึง 1 แสนบาท สำหรับรถที่มีการซื้อจนถึง 31 ธันวาคม 55 ทั้งนี้ ในช่วง 11 เดือนแรกปี 55 ยอดขายรถยนต์นั่งขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 78.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
- ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนพ.ย. 55 มีจำนวน 70,500 คัน หรือขยายตัวร้อยละ 445.8 เมื่อเทียบกับช่วง เดียวกันของปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 206.8 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก 1. ปัจจัยฐานต่ำจากช่วงเดียวกันปีก่อน ที่โรงงานผลิตยานยนต์ประสบปัญหาอุทกภัย ทำให้ภาคการผลิตรถยนต์หยุดชะงักงัน 2.การฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง และ 3. ความต่อเนื่องของนโยบายสนับสนุนของภาครัฐ ในการกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ ทั้งนี้ ในช่วง 11 เดือนแรกปี 55 ยอดขายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 70.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
- ปริมาณจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศในเดือนพ.ย. 55 ขยายตัวร้อยละ 41.8 เมื่อเทียบกับช่วง เดียวกันของปีก่อน ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 71.0 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกพบว่าขยายตัวร้อยละ 0.4 จากเดือนก่อนหน้า ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยฐานต่ำของช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าจากวิกฤติอุทกภัยที่เกิดขึ้นในช่วงปลายปี 54 ปัจจุบันความต้องการใช้เหล็กเพิ่มมากขึ้น สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายเหล็กเส้นข้ออ้อย (น้ำหนักร้อยละ 65.4 ของปริมาณการจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวม) ขยายตัวร้อยละ 43.6 ต่อปี เหล็กเส้นกลม (น้ำหนักร้อยละ 14.0) ขยายตัวร้อยละ 36.7 ต่อปี และเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี(น้ำหนักร้อยละ 12.7) ขยายตัวร้อยละ 46.8 ต่อปี ทั้งนี้ การขยายตัวของปริมาณจำหน่ายเหล็กสอดคล้องกับปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ในเดือนพ.ย. 55 ที่ขยายตัวร้อยละ 24.0 สะท้อนถึงการลงทุนในภาคการก่อสร้างมีแนวโน้มการขยายตัวได้ดี
Economic Indicators: Next Week
- อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ธ.ค. 55 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 3.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยมีสาเหตุหลักจากราคาผักที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากสภาพอากาศที่แปรปรวน ประกอบกับปัจจัยฐานต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า นอกจากนี้ ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า เนื่องมาจากการเพิ่มอัตราการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันในช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา ขณะที่ราคาเนื้อหมูและไข่คาดว่าจะมีการปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนทั้งนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะขยายตัวที่ร้อยละ 0.19 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (%mom)
Global Economic Indicators: This Week
US: worsening economic trend
- ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ธ.ค. 55 ปรับลดลงมากมาอยู่ที่ระดับ 65.1 จุด จากระดับ 71.5 จุดในเดือนก่อนหน้า (ตัวเลขปรับปรุง) โดยดัชนีภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันปรับตัวดีขึ้น ในขณะที่ดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคตปรับลดลงอย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในไตรมาส 4 ปี 55 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 69.9 จุด ปรับสูงขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า และดัชนีฯ เฉลี่ยทั้งปี 55 อยู่ที่ระดับ 66.9 จุด สูงขึ้นจากระดับเฉลี่ยปี 54 ที่อยู่ที่ระดับ 58.1 จุด บ่งชี้ว่าผู้บริโภคสหรัฐฯ มีความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจมากขึ้นในปี 55 นี้ เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ซึ่งจะส่งผลให้ภาคการบริโภคภาคเอกชนสหรัฐฯ ในปี 55 นี้ขยายตัวเร่งขึ้นจากปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม ระดับดัชนีฯ ที่เริ่มอ่อนกำลังลงในช่วงปลายปี จากปัญหาหน้าผาทางการคลังและปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรป เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าการบริโภคภาคเอกชนสหรัฐฯ ยังคงมีความเสี่ยงต่อเนื่องในปี 56
Japan: worsening economic trend
- Japan คำสั่งซื้อภาคก่อสร้าง เดือน พ.ย. 55 หดตัวร้อยละ -2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน อัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 55 ปรับเพิ่มจากร้อยละ -0.4 ในเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ -0.2 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยธนาคารกลางญี่ปุ่นได้กำหนดอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายใหม่จากเดิมที่ร้อยละ 1.0 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.0 อัตราการว่างงาน เดือน พ.ย. 55 ค่อนข้างทรงตัวจากร้อยละ 4.2 ในเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ร้อยละ 4.1 ของกำลังแรงงานรวม และยอดค้าปลีก เดือน พ.ย. 55 กลับมาขยายตัวร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งสัญญาณว่า ประชาชนชาวญี่ปุ่นมีแนวโน้มกลับมาใช้จ่ายเพื่อการบริโภคเพิ่มขึ้น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน ธ.ค. 55 ปรับลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 3 ปีที่ผ่านมา ที่ระดับ 45.0 จุด ผลจากยอดส่งออกที่หดตัวต่อเนื่อง และอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอลง ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยได้ ส่งผลให้ผู้ประกอบการลดระดับการผลิตลง บ่งชี้ถึง ภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่นที่ยังคงถดถอย ทั้งนี้ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน พ.ย. 55 กลับมาหดตัวร้อยละ -1.7 จากเดือนก่อนหน้า จากอุปสงค์ทั้งในและนอกประเทศที่ชะลอลง และแรงกดดันทางด้านการเมืองของญี่ปุ่นที่พรรค LDP ผู้ชนะการเลือกตั้งทั่วไป ในวันที่ 16 ธ.ค. 55ที่ผ่านมา ภายใต้การนำของนายชินโซ อาเบะ ที่จะจัดตั้งรัฐบาลในอีก 2 วันข้างหน้านี้โดยเป็นที่จับตามองของผู้ประกอบการว่า รัฐบาลชุดใหม่ของญี่ปุ่นนั้น จะออกมาตรการเพื่อกระตุ้นให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัวและกลับมาขับเคลื่อนต่อไปอย่างไร
Philippines: mixed signal
- มูลค่าการนำเข้า เดือน ต.ค. 55 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 4 เดือนที่ร้อยละ 4.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากอิเล็กทรอนิกส์ (ร้อยละ 25.7 ของการนำเข้ารวม) ขยายตัวร้อยละ 8.7 และฐานที่ต่ำในปีก่อนเนื่องจากเหตุการณ์อุทกภัยในไทย ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล -8.31 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ
Singapore: mixed signal
- ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 55 ขยายตัวครั้งแรกในรอบ 4เดือน อยู่ที่ร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากผลผลิตสินค้าในหมวดผลิตภัณฑ์ยาและชีวเคมีภัณฑ์ที่ขยายตัวเร่งขึ้นมากถึงร้อยละ 13.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทดแทนสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่หดตัว และอีกส่วนหนึ่งมาจากฐานที่ต่ำในปีก่อนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยใน ไทย ด้านอัตราเงินเฟ้อ เดือน พ.ย. 55 ปรับตัวลดลงมาที่ร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาที่อยู่อาศัยและค่าขนส่งที่ปรับลดลง
Hong Kong: mixed signal
- มูลค่าการส่งออก เดือน พ.ย. 55 ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 10.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกไปยังจีน อาเซียน และญี่ปุ่นที่เร่งขึ้น ขณะที่การส่งออกไปยังยูโรโซนยังคงหดตัวต่อเนื่อง มูลค่าการนำเข้า เดือน พ.ย. 55 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 9.0 จากช่วงเดียวกันปี ก่อน จากการนำเข้าสินค้าในหมวดอาหารและ เครื่องดื่ม รวมถึงสินค้าอุตสาหกรรมที่ขยายตัวเร่งขึ้น
South Korea: mixed signal
- ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ธ.ค. 55 อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 100 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ที่ระดับ 99.0 บ่งชี้อุปสงค์ในประเทศที่ยังคงอ่อนแอ ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 55 ขยายตัวเร่งขึ้นสูงสุดในรอบ 6 เดือนที่ร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า จากการผลิตในหมวดสินค้าเพื่อการส่งออกกลับมาขยายตัว หลังจากที่หดตัวในเดือนก่อนหน้า สะท้อนอุปสงค์จากนอกประเทศที่กลับมาฟื้นตัว
Taiwan: mixed signal
- อัตราการว่างงาน เดือน พ.ย. 55 ทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 4.3 ของกำลังแรงงานรวม โดยจำนวนผู้วางงานอยู่ที่ 486,000 คน หรือลดลง 3,000 คนจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนอุปสงค์ในประเทศที่ยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ย. 55 ขยายตัวเร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
Weekly Financial Indicators
- ดัชนี SET ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ใกล้ระดับ 1,400 จุด โดย ณ วันที่ 27 ธ.ค. 55 ดัชนีฯ ปิดที่ระดับ 1,397.19 จุด ด้วยมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยที่เบาบางเพียง 27,740 ล้านบาทต่อวัน จากแรงซื้อของนักลงทุนสถาบันในประเทศ และนักลงทุนต่างชาติเป็นสำคัญ จากอุปสงค์กองทุน LTF และ RMF ช่วงก่อนสิ้นปีเพื่อผลประโยชน์ทางภาษีในการยื่นเสียภาษีในปีถัดไป อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงกังวลกับประเด็น Fiscal Cliff ของสหรัฐฯ ทั้งนี้ระหว่างวันที่ 24-27 ธ.ค.55 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 2,087.51 ล้านบาท ในขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลงเล็กน้อย โดยผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุมากกว่า 3 ปีปรับลดลงเล็กน้อย 1-2 bps จากสัปดาห์ก่อน โดยนักลงทุนยังคงจับตามองประเด็น Fiscal Cliff อยู่
- ค่าเงินบาทค่อนข้างทรงตัว โดย ณ วันที่ 27 ธ.ค. 55 ปิดที่ระดับ 30.64 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.10 จากสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกับค่าเงินสกุลอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าเงินเยน ยูโร หยวน ริงกิตมาเลเซีย และดอลลาร์สิงคโปร์ ที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าในอัตราที่น้อยกว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ ทำให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.46 จากสัปดาห์ก่อนหน้า
- ราคาทองคำค่อนข้างทรงตัว โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 27 ธ.ค. 55 ปิดที่ 1,663.29 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ใกล้เคียงกับต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,656.99 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์
ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office
Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th