รายได้รัฐบาลเดือนธันวาคม 2555 และในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Monday January 21, 2013 09:36 —กระทรวงการคลัง

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในเดือนธันวาคม 2555 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 183,688 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 41,985 ล้านบาท หรือร้อยละ 29.6 เนื่องจากการจัดเก็บภาษีของ 3 กรมจัดเก็บภาษีสูงกว่าประมาณการส่วนหนึ่งเป็นผลจากโครงการรถยนต์ใหม่คันแรก ประกอบกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นำส่งรายได้จากการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 3จี ส่งผลให้รายได้รัฐบาลสุทธิในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2556 (ตุลาคม — ธันวาคม 2555) จัดเก็บได้ 504,582 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 66,910 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.3 ทั้งนี้ นายสมชัยฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งการบริโภคและการลงทุนประกอบกับการดำเนินมาตรการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มั่นใจว่าในปีงบประมาณ 2556 รัฐบาลจะสามารถจัดเก็บรายได้ตามเป้าหมายที่ 2.1 ล้านล้านบาท” โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. เดือนธันวาคม 2555 รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 183,688 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 41,985 ล้านบาท หรือร้อยละ 29.6 (สูงกว่าเดือนเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 45.0) โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายที่สำคัญได้แก่ (1) ภาษีสรรพสามิตรถยนต์ จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 6,002 ล้านบาท หรือร้อยละ 57.0 เป็นผลจากโครงการรถยนต์ใหม่คันแรก และ (2) ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 4,569 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.7 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากผู้เสียภาษีใช้สิทธิยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีตามแบบ ภ.ง.ด.51 ทางอินเตอร์เน็ต ซึ่งได้รับการขยายเวลาจากเดือนพฤศจิกายนสูงกว่าที่คาดไว้ นอกจากนี้ ส่วนราชการอื่นนำส่งรายได้สูงกว่าประมาณการ 31,182 ล้านบาท หรือร้อยละ 780.5 โดยเป็นรายได้นำส่งจากการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 3จี งวดแรกจำนวน 20,843 ล้านบาท1/ และการส่งคืนเงินกันเพื่อชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับผู้ส่งออก 8,227 ล้านบาท ทั้งนี้ เป็นผลจากการส่งออกในปีงบประมาณที่ผ่านมาชะลอตัวลง ประกอบกับมีการนำพิกัดฮาร์โมไนซ์อาเซียนมาใช้ ทำให้กระบวนการจ่ายเงินชดเชยค่าภาษีอากรในช่วงแรกชะลอลง

2. ในช่วงไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2556 (ตุลาคม — ธันวาคม 2555)

รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ 504,582 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 66,910 ล้านบาท หรือร้อยละ 15.3 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 26.6) เป็นผลจากการจัดเก็บที่สูงกว่าเป้าหมายของ 3 กรมภาษีสังกัดกระทรวงการคลังและส่วนราชการอื่นจำนวน 43,768 และ 36,074 ล้านบาท ตามลำดับ ในขณะที่การคืนภาษีของกรมสรรพากรสูงกว่าเป้าหมาย 9,622 ล้านบาท

ผลการจัดเก็บรายได้ตามหน่วยงานจัดเก็บสรุปได้ ดังนี้

2.1 กรมสรรพากร จัดเก็บรายได้รวม 346,196 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 25,917 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.1 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 24.2) โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ (1) ภาษีมูลค่าเพิ่มจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 10,408 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.2 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 22.1) บ่งชี้ถึงอุปสงค์ในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้น โดยภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บจากการบริโภคภายในประเทศและการนำเข้าสูงกว่าเป้าหมาย 5,729 ล้านบาท และ 4,679 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.6 และ 5.8 ตามลำดับ (2) ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 5,641 ล้านบาท หรือร้อยละ 10.4 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 14.9) สะท้อนรายได้ภาคครัวเรือนที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และ (3) ภาษีเงินได้นิติบุคคลจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 5,232 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.1 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 32.2) เนื่องจากผลประกอบการของภาคธุรกิจที่ฟื้นตัว หลังจากได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในปีงบประมาณที่ผ่านมา

2.2 กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม 119,070 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 17,179 ล้านบาท หรือร้อยละ 16.9 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 43.1) โดยภาษีที่จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ ภาษีสรรพสามิตรถยนต์จัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ 16,615 ล้านบาท หรือร้อยละ 53.5 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 180.3) เป็นผลจากโครงการรถยนต์ใหม่คันแรกเป็นสำคัญ สำหรับภาษียาสูบและภาษีเบียร์จัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 2,621 ล้านบาท และ 2,541 ล้านบาท หรือร้อยละ 19.9 และ 14.1 ตามลำดับ ส่วนหนี่งเป็นผลจากการปรับเพิ่มอัตราภาษีสรรพสามิตยาสูบเมื่อเดือนสิงหาคม 2555

2.3 กรมศุลกากร จัดเก็บรายได้รวม 30,922 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 672 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.2 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 13.6) โดยอากรขาเข้าจัดเก็บได้สูงกว่าประมาณการ572 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.9 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 13.5) เป็นผลจากมูลค่าการนำเข้า โดยเฉพาะหมวดรถยนต์และส่วนประกอบรถยนต์ที่ขยายตัวต่อเนื่อง สืบเนื่องจากโครงการรถยนต์ใหม่คันแรก ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ และเงินบาทในช่วง 2 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2556 (ตุลาคม - พฤศจิกายน 2555) ขยายตัวร้อยละ 23.0 และร้อยละ 23.5 ตามลำดับ

2.4 รัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้ 21,196 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 3,642 ล้านบาท หรือร้อยละ 14.7 (ต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 40.0)

2.5 หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวม 62,979 ล้านบาท สูงกว่าเป้าหมาย 37,557 ล้านบาท หรือร้อยละ 147.7 (สูงกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้วร้อยละ 131.1) โดยมีรายได้จัดเก็บที่สูงกว่าเป้าหมายที่สำคัญ ได้แก่ (1) รายได้จากค่าใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 3จี งวดที่ 1 จำนวน 20,843 ล้านบาท (2) การส่งคืนเงินที่กันไว้เพื่อชดเชยค่าภาษีอากรสำหรับผู้ส่งออกสินค้าจำนวน 8,227 ล้านบาท (3) รายได้จากสัมปทานปิโตรเลียมจัดเก็บได้สูงกว่าเป้าหมาย 2,161 ล้านบาท สาเหตุมาจากมูลค่าการขายปิโตรเลียมที่สูงขึ้นและ (4) เงินชำระหนี้ค่าข้าวจากโครงการขายข้าวรัฐบาลรัสเซียจำนวน 1,118 ล้านบาท

2.6 การคืนภาษีของกรมสรรพากร จำนวน 68,073 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 9,622 ล้านบาท หรือร้อยละ 16.5 ประกอบด้วยการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม 62,169 ล้านบาท สูงกว่าประมาณการ 11,900 ล้านบาท หรือร้อยละ 23.7 และการคืนภาษีอื่นๆ (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคลภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์) จำนวน 5,904 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 2,278 ล้านบาท หรือร้อยละ 27.8

สำนักนโยบายการคลัง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง

โทร 02 273 9020 ต่อ 3543 และ 3544

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 8/2556 18 มกราคม 2556--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ