รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 18 - 22 กุมภาพันธ์ 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 26, 2013 11:01 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary
Indicators this week
  • เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ปี 55 ขยายร้อยละ 18.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 3.6

จากไตรมาสก่อนหน้า (%QoQ_SA)

  • ผลการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือน ม.ค. 56 สามารถเบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 208.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.3

จากช่วงเดียวกันปีก่อน

  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ม.ค. 56 อยู่ที่ระดับ 97.3
  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ม.ค.56 ขยายตัวร้อยละ 12.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน ม.ค. 56 ขยายตัว ร้อยละ 0.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตร

ที่เกษตรกรขายได้ หดตัวร้อยละ -3.8

  • วันที่ 20 ก.พ. 56 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.75
  • GDP มาเลเซีย ไตรมาส 4 ปี 55 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ o6.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP สิงคโปร์ ไตรมาส 4 ปี 55 ขยายตัวขึ้นที่ร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • GDP ไต้หวัน ไตรมาส 4 ปี 55 ขยายตัวร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
Indicators next week
 Indicators                                    Forecast           Previous
 Feb : Headline Inflation (%YoY)                  3.3                3.4

โดยมีสาเหตุหลักจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศตามการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบโลก และการเพิ่มขึ้นของราคาเนื้อสัตว์ เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ราคาสินค้าจำพวกผักมีการปรับตัวลดลง จากสภาพอากาศที่เหมาะสม ทำให้มีปริมาณสินค้าเข้ามาในตลาดมาก ทั้งนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะขยายตัวที่ร้อยละ 0.28 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (%mom)

Economic Indicators: This Week
  • เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ปี 55 ขยายร้อยละ 18.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งตัวขึ้นมากจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 3.1 และเมื่อพิจารณาผลของฤดูกาลออก (QoQ_SA) พบว่าขยายตัวร้อยละ 3.6 โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากอุปสงค์ในประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนที่ขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 12.2 และร้อยละ 21.7 จากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 6.0 และร้อยละ 16.2 ตามลำดับ ในขณะที่อุปสงค์จากต่างประเทศกลับมาขยายตัว จากการส่งออกสินค้าและบริการที่ขยายตัวร้อยละ 19.0 จากไตรมาสก่อนที่หดตัวร้อยละ -2.8 ตามทิศทางการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญและเศรษฐกิจโลก ส่วนด้านการผลิตฟื้นตัวขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 37.4 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -1.1 จากอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์และอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออก ส่งผลให้ในปี 55 เศรษฐกิจไทยขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 6.4 จากปี 54 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.1
  • ผลการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือนม.ค. 56 สามารถเบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 208.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในเดือนม.ค. 56 มีการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบัน 181.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.5 แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 173.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.2 (2) รายจ่ายลงทุน 7.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 75.4 ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญ ได้แก่ เงินอุดหนุนกองทุนและเงินทุนหมุนเวียน 30.2 พันล้านบาท และรายจ่ายเพื่อการชำระหนี้ 12.7 พันล้านบาท เป็นสำคัญ สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณจากปีก่อนเบิกจ่ายได้ 27.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 81.9
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ม.ค. 56 พบว่าดุลงบประมาณขาดดุลจำนวน -36.4 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุลจำนวน -13.5 ล้านบาท จึงส่งผลให้ดุลเงินสดก่อนกู้ขาดดุลจำนวน -49.9 พันล้านบาท ทั้งนี้ ฐานะการคลังในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 56 งบประมาณขาดดุลจำนวน -319.5 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุลจำนวน -134.6 พันล้านบาท ทำให้รัฐบาลขาดดุลเงินสดก่อนกู้จำนวน -454.1 พันล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน ม.ค. 56 อยู่ที่ 224.1 พันล้านบาท
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ม.ค. 56 อยู่ที่ระดับ 97.3 ปรับตัวลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 98.8 โดยเป็นผลมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและการแข็งค่าของเงินบาทที่ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย ทั้งนี้ ค่าดัชนีฯยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 100 สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่อยู่ในระดับที่ไม่ดี เนื่องจากผู้ประกอบการยังมีความวังกลต่อต้นทุนปัจจัยการผลิตที่จะเพิ่มขึ้นจากนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วัน ที่ส่งผลกระทบต่ออุตสหกรรม SMEs และอุตสากรรมที่ใช้แรงงานข้มเข้น ประกอบกับราคาวัตถุดิบและพลังงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้น
  • นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือน ม.ค.56 มีจำนวนทั้งสิ้น 2.2 ล้านคน ขยายตัว ร้อยละ 12.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่หดตัวร้อยละ -3.0 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) โดยพิจาณาจาก Contribution to Growth พบว่า การขยายตัวดังกล่าวมาจากนักท่องเที่ยวจีน ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ขยายตัวร้อยละ 38.6 35.6 และ 32.4 ตามลำดับ
  • ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือน ม.ค. 56 ขยายตัวที่ ร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.1 ตามการลดลงของผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญ โดยเฉพาะปาล์มน้ำมัน เนื่องจากปัจจัยฐานปีก่อน ประกอบกับอยู่ในช่วงปลายฤดูกาลเก็บเกี่ยว สอดคล้องกับผลผลิตหมวดปศุสัตว์ที่ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 2.4 ตามการการลดลงผลผลิตสุกรและไก่เนื้อเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี ผลผลิตมันสำปะหลังและอ้อยโรงแรงงานยังคงขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 4.6 และร้อยละ 1.2 ตามสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว
  • ดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้ในเดือนม.ค.56 หดตัวร้อยละ -3.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -6.1 ตามการหดตัวต่อเนื่องของราคายางพารา และราคาผลผลิตในหมวดปศุสัตว์ ตามผลผลิตที่ในออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่อุปสงค์ค่อนข้างทรงตัว ส่วนราคาข้าวหอมมะลิยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งได้รับปัจจัยบวกจากโครงการรับจำนำข้าวเปลือกของรัฐบาล อย่างไรก็ดี จะพบว่าดัชนีราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้เริ่มหดตัวในอัตราชะลอลงมากเมื่อเทียบช่วงก่อนหน้า ส่วนหนึ่งได้รับปัจจัยบวกจากปัจจัยฐานที่เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ประกอบกับราคาสินค้าในตลาดโลกที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น
  • วันที่ 20 ก.พ. 56 คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.75 จากการที่ กนง. ประเมินว่า นโยบายการเงินที่ผ่อนปรนในช่วงที่ผ่านมามีส่วนเอื้อให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวในเกณฑ์ดี ในขณะที่เงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม ภายใต้ภาวะที่เศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนอยู่ และเศรษฐกิจในประเทศยังมีความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินจากการเร่งขึ้นของราคา โดย กนง. ระบุว่าจะติดตามความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินดังกล่าว รวมถึงสถานการณ์เงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด และพร้อมที่จะดำเนินการที่เหมาะสมต่อไป
Economic Indicators: Next Week
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.พ. 56 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 3.3 ลดลงจากเดือนก่อนหน้าเล็กน้อย โดยมีสาเหตุหลักจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศตามการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันดิบโลก และการเพิ่มขึ้นของราคาเนื้อสัตว์ เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ราคาสินค้าจำพวกผักมีการปรับตัวลดลง จากสภาพอากาศที่เหมาะสม ทำให้มีปริมาณสินค้าเข้ามาในตลาดมาก ทั้งนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะขยายตัวที่ร้อยละ 0.28 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (%mom)

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal
  • ยอดสร้างบ้านใหม่ เดือน ม.ค. 56 อยู่ที่ 0.89 ล้านหลัง (annual rate) คิดเป็นการหดตัวร้อยละ -8.5 จากเดือนก่อนหน้า ในขณะที่ใบอนุญาตก่อสร้างอยู่ที่ 0.93 ล้านหน่วย (annual rate) หรือขยายตัวเพียงเล็กน้อยร้อยละ 1.8 จากเดือนก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับขึ้นภาษี payroll ร้อยละ 2.0 ส่งผลต่อรายได้ที่สามารถใช้จ่ายได้ และทำให้ประชาชนชะลอการซื้ออสังหาริมทรัพย์ อัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 1.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ต่ำกว่าระดับเป้าหมายของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ร้อยละ 2.0
Japan: worsening economic trend
  • มูลค่าการส่งออก เดือน ม.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 6.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน นับเป็นการกลับมาขยายตัวครั้งแรกในรอบ 8 เดือน จากปัจจัยฐานต่ำในช่วงปีที่ผ่านมา โดยยอดส่งออกไปยังยูโรโซนยังคงหดตัวต่อเนื่อง ขณะที่การส่งออกไปยังจีนซึ่งเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น ขยายตัวเล็กน้อยหลังจากหดตัวเร่งขึ้นต่อเนื่องในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลกระทบจากกรณีพิพาทประเด็นกรรมสิทธิ์การครอบครองหมู่เกาะเซนกากุ/เตียวหยูของทั้งสองประเทศ ประกอบกับค่าเงินเยนแข็งค่า อย่างไรก็ตาม คาดว่าการส่งออกญี่ปุ่นในปีนี้น่าจะขยายตัวดีกว่าปีที่ผ่านมา ผลจากรายได้ของคู่ค้าที่ปรับตัวดีขึ้นประกอบกับค่าเงินเยนอ่อนค่า มูลค่าการนำเข้า เดือน ม.ค. 56 ขยายตัวเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 7.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากร้อยละ 1.9 ในเดือนก่อนหน้าผลจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือน ม.ค. 56 ขาดดุล 1.63 ล้านล้านเยนหรือ 17.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
Eurozone: worsening economic trend
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.พ. 56 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ -23.9 จุดในเดือนก่อนหน้า สู่ระดับ 23.6 จุด ซึ่งปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน และอยู่ระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือน สะท้อนความเชื่อมั่นผู้บริโภคยูโรโซนต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ดัชนีดังกล่าวยังคงอยู่ในแดนลบ บ่งชี้ความเชื่อมั่นที่ยังเปราะบาง ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อยูโรโซน (Markit's Composite PMI) (ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน ก.พ. 56 ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 47.3 จุด จากระดับ 48.6 จุดในเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีดังกล่าวอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 จุด อย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 18 โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมและดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ (ตัวเลขเบื้องต้น) ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 47.8 และ 47.3 จุด ตามลำดับ บ่งชี้ถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจยูโรโซนที่ยังคงหดตัวต่อเนื่องนับตั้งแต่เกิดวิกฤตหนี้สาธารณะ
China: mixed signal
  • ราคาบ้านใหม่ เดือน ม.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 0.7 จากเดือนก่อน โดยราคาบ้าน 53 ใน 70 เมืองของจีนเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน อันเป็นผลมาจากนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเมื่อกลางปี 55 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาบ้านเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เดือน ส.ค. 55 เป็นต้นมา อาจเป็นเหตุให้รัฐบาลดำเนินมาตรการชะลอการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ดำเนินการมาแล้ว 3 ปีต่อไปอีกระยะหนึ่ง
Malaysia: improving economic trend
  • GDP ไตรมาส 4 ปี 55 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 6.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) โดยมีสาเหตุจากนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางมาเลเซีย ภาคอุปสงค์ในประเทศที่ยังคงแข็งแกร่ง และโครงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและการเร่งใช้จ่ายก่อนจากเลือกตั้งของรัฐบาลมาเลเซีย ทำให้ทั้งปี 55 เศรษฐกิจมาเลเซียขยายตัวร้อยละ 5.6 เร่งขึ้นจากปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 5.1 ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อ เดือน ม.ค. 56 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาสินค้าในหมวดอาหารที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
Singapore: mixed signal
  • GDP ไตรมาส 4 ปี 55 ขยายตัวขึ้นที่ร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) เนื่องจากภาคการส่งออก (สัดส่วนร้อยละ 228.1 ของ GDP ปี 54) หดตัวต่อเนื่องมาจากไตรมาสก่อนที่ร้อยละ -1.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทำให้ทั้งปี 55 เศรษฐกิจสิงคโปร์ขยายตัวร้อยละ 1.3 ซึ่งหดตัวจากปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 5.5 ส่วนมูลค่าการส่งออก เดือน ม.ค. 56 ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เกิดจากการส่งออกไปยังมาเลเซียซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของสิงคโปร์ (คิดเป็นร้อยละ 12.21 ของการส่งออกรวมปี 54) กลับมาขยายตัวเป็นบวกเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือนที่ร้อยละ 9.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อน ประกอบกับผลจากฐานที่ต่ำในปีก่อนเนื่องจากผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยในไทยที่ส่งผลเชิงลบต่อห่วงโซ่อุปทาน ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 0.6 เนื่องจากการนำเข้าสินค้ากลุ่มพลังงานลดลงมาก (สัดส่วนประมาณ 1/3 ของมูลค่าการนำเข้ารวม) ทำให้โดยรวมสิงคโปร์ได้ดุลการค้าเกินดุลต่อเนื่อง 1.86 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์
Hong Kong: mixed signal
  • อัตราการว่างงาน เดือน ม.ค. 56 ทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้าที่ร้อยละ 3.4 ของกำลังแรงงานรวม โดยจำนวนผู้มีงานทำเพิ่มขึ้น 16,400 ตำแหน่ง ทำให้จำนวนผู้มีงานทำรวมเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3,706,000 คน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากช่วงเทศกาลตรุษจีน ซึ่งคาดว่าจะเป็นผลระยะสั้น และอาจทำให้อัตราการว่างงานกลับมาเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป
Taiwan: mixed signal
  • GDP ไตรมาส 4 ปี 55 ขยายตัวร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า เร่งขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.7 จากอุปสงค์ในประเทศที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ขณะที่การบริโภคภาครัฐหดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 ที่ร้อยละ -1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ หลังขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว GDP ไตรมาส 4 ปี 55 ขยายตัวร้อยละ 1.8 จากไตรมาสก่อนหน้า ส่งผลให้ทั้งปี 55 GDP ขยายตัวร้อยละ 1.3 สะท้อนเศรษฐกิจไต้หวันที่ปรับตัวดีขึ้น ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่เริ่มมีทิศทางฟื้นตัวต่อเนื่อง
Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องในช่วงกลางสัปดาห์ ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยสูง โดยดัชนีฯ ปรับขึ้นสูงสุดในวันที่ 20 ก.พ. 56 ที่ระดับ 1,546.64 จุด สูงสุดในรอบกว่า 19 ปี ก่อนจะปิดที่ระดับ 1,528.74 จุด ในวันที่ 21 ก.พ. 56 ด้วยมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยที่สูงถึง 55,627 ล้านบาทต่อวัน จากแรงซื้อของนักลงทุนสถาบันในประเทศเป็นสำคัญ โดยนักลงทุนยังคงติดตามผลการเลือกตั้งทั่วไปของอิตาลีที่จะมีขึ้นในวันที่ 24 - 25 ก.พ. 56 ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 18 - 21 ก.พ. 56 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 373.60 ล้านบาท ในขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลค่อนข้างคงที่ หลังจากกนง. มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 2.75 ต่อปี ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 18 - 21 ก.พ. 56 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 1,245.9 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย โดย ณ วันที่ 21 ก.พ. 56 ปิดที่ระดับ 29.86 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ อ่อนค่าลงเล็กน้อยร้อยละ -0.13 จากสัปดาห์ก่อนหน้า ซึ่งเป็นไปในแนวทางเดียวกับค่าเงินของคู่ค้าสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นยูโร เยน หยวน ริงกิตมาเลเซีย วอนเกาหลี และสิงคโปร์ดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ผลจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่แข็งค่าขึ้นมากจากสรุปบันทึกการประชุม FOMC ที่ส่งสัญญาณว่ามาตรการ QE ของสหรัฐฯ อาจสิ้นสุดเร็วกว่าคาด ทำให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงเล็กน้อยร้อยละ -0.23จากสัปดาห์ก่อนหน้า
  • ราคาทองคำลดลงต่อเนื่อง โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 21 ก.พ. 56 ปิดที่ 1,575.66 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ลดลงมากจากต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,609.55 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ