เอกสารแนบ: รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมกราคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 27, 2013 11:35 —กระทรวงการคลัง

เอกสารแนบ

"เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2556 บ่งชี้ถึงการขยายตัวได้อย่างสมดุลมากขึ้น โดยมีแรงขับเคลื่อนสำคัญทั้งจากอุปสงค์ภายในประเทศ โดยเฉพาะการใช้จ่ายของรัฐบาลที่ขยายตัวในระดับสูง ขณะที่การส่งออกขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง สำหรับด้านการผลิต มีสัญญาณการขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว"

1. การบริโภคภาคเอกชนในเดือนมกราคม 2556 ยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือนมกราคม 2556 ขยายตัวร้อยละ 16.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 6.8 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาลออกพบว่าขยายตัวร้อยละ 8.6 ต่อเดือน สำหรับการบริโภคสินค้าคงทน สะท้อนได้จากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนมกราคม 2556 ขยายตัวร้อยละ 108.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 162.7 จากความต้องการของผู้บริโภค และการทยอยส่งมอบรถยนต์จากโครงการรถยนต์คันแรกที่มียอดค้างส่งมอบ ประกอบกับกิจกรรมส่งเสริมการขายของค่ายรถยนต์ต่างๆ ที่เริ่มในช่วงต้นปี ขณะที่ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเดือนมกราคม 2556 ขยายตัวร้อยละ 19.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 22.4 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่าขยายตัวร้อยละ 8.0 ต่อเดือน ตามการขยายตัวของยอดขายรถจักรยานยนต์ใน กทม.และในภูมิภาคที่ขยายตัวร้อยละ 18.1 และร้อยละ 20.1 ตามลำดับ เนื่องจากปัจจัยฐานต่ำจากอุทกภัยในช่วงปลายปี 54 นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในเดือนมกราคม 2556 อยู่ที่ระดับ 72.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 70.6 และเป็นการปรับขึ้นสูงสุดในรอบ 16 เดือน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้น

           เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชน        2555                  2555             2556
                                                   Q1      Q2      Q3     Q4     ม.ค.
ภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ (%yoy)              14.0    12.0     6.2    20.1   18.0    16.1
   %qoq_SA / %mom_SA                        -    10.3     2.3     4.9   -0.3     8.6
ปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค (%yoy)          -0.4     2.9    -4.7    -8.5    8.8     n.a.
   %qoq_SA / %mom_SA                        -     0.7    -6.0    -1.6   16.7       -
ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่ง (%yoy)                86.6    -5.4    77.0    78.6  268.7   108.6
   %qoq_SA / %mom_SA                        -    85.3    38.7    32.6    9.3     0.0
ปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ (%yoy)          5.8    -0.6     4.4    -0.4   24.8    19.7
   %qoq_SA / %mom_SA                        -    19.0     6.5    -2.0    0.9     8.0
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค                       67.6    65.3    67.7    68.4   69.4    72.1

2. การลงทุนภาคเอกชนในเดือนมกราคม 2556 ขยายตัวได้ดีต่อเนื่องเช่นกัน ทั้งจากการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรและหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนมกราคม 2556 ขยายตัวร้อยละ 36.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 155.8 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่าขยายตัวร้อยละ 18.5 ต่อเดือน สำหรับเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนในหมวดการก่อสร้างขยายตัวต่อเนื่องเช่นกัน สะท้อนจากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนมกราคม 2556 ขยายตัวร้อยละ 56.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 15.6 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่าขยายตัวร้อยละ 7.7 ต่อเดือน จากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่กลับสู่สภาวะปกติจากสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น และการปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ได้รับอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ ทั้งที่อยู่อาศัยแนวราบและที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดที่ปรับเพิ่มขึ้น ขณะที่ด้านอุปทาน (Supply) ของภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีการขยายการลงทุนสูงในต่างจังหวัดมากขึ้นโดยเฉพาะหัวเมืองใหญ่ เช่น ภาคอีสาน ภาคตะวันออก เป็นต้น ในขณะที่ยอดจำหน่ายปูนซีเมนต์ในเดือนมกราคม 2556 ขยายตัวร้อยละ 16.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 8.6 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่าขยายตัวร้อยละ 8.3 ต่อเดือน ซึ่งสอดคล้องกับอุปสงค์ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เติบโตได้ดี และอุปทาน (Supply) ของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง

           เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชน          2555                  2555             2556
                                                    Q1      Q2      Q3     Q4     ม.ค.
เครื่องชี้การลงทุนในเครื่องจักร
ปริมาณนำเข้าสินค้าทุน (%yoy)                   22.1    10.2    20.2    17.3   43.1     n.a.
   %qoq_SA / %mom_SA                         -    19.7     6.1     2.5   10.9       -
ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ (%yoy)           76.2    33.5    62.3    53.5  231.9    36.6
   %qoq_SA / %mom_SA                         -   183.9     6.0    13.4   -1.4    18.5
เครื่องชี้การลงทุนก่อสร้าง
ภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ (%yoy)       21.3     4.2    26.3     7.2   47.8    56.5
   %qoq_SA / %mom_SA                         -     2.9    21.4    -2.4   19.4     7.7
ปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ (%yoy)                 10.6     5.4     5.2    12.1   20.6    16.9
   %qoq_SA / %mom_SA                         -     2.0     2.9    10.8    4.0     8.3

3. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยด้านการคลังในเดือนมกราคม 2556 พบว่า นโยบายการคลังมีส่วนช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจต่อเนื่อง พบว่า ผลการจัดเก็บรายได้สุทธิของรัฐบาล (หลังหักจัดสรรให้อปท.) ในเดือนมกราคม 2556 มีจำนวนทั้งสิ้น 161.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 45.0 สำหรับผลการเบิกจ่ายงบประมาณรวม ในเดือนมกราคม 2556 มีจำนวน 208.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.8 โดยรายจ่ายงบประมาณปีปัจจุบันเบิกจ่ายได้จำนวน 181.1 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.5 แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 173.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.2 และ (2) รายจ่ายลงทุน 7.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 75.4 สำหรับรายจ่ายเหลื่อมปีเบิกจ่ายได้ 27.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 81.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับฐานะการคลัง พบว่า ดุลเงินงบประมาณในเดือนมกราคม 2556 ขาดดุลจำนวน -36.4 พันล้านบาท สะท้อนบทบาทนโยบายการคลังในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทย

    เครื่องชี้ภาคการคลัง                          FY2555                     FY2556
                                                    Q1/FY56     พ.ย.     ธ.ค.     ม.ค.    YTD
รายได้สุทธิของรัฐบาล (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.)     1,975.6   487.0   174.0    166.1    161.7   648.7
   (%y-o-y)                                     4.4    22.2    25.3     31.1     20.1    21.7
รายจ่ายรวม                                   2,295.3   785.9   299.9    173.9    208.1   994.0
   (%y-o-y)                                     5.4    60.5    99.6      0.8     38.3    55.2
ดุลเงินงบประมาณ                                -314.7  -291.8  -136.6     12.0    -36.4  -319.5

4. การส่งออกในเดือนมกราคม 2556 ขยายตัวต่อเนื่องตัว โดยพบว่า การส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนมกราคม 2556 มีมูลค่า 18.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 16.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 13.4 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่าขยายตัวร้อยละ 5.3 ต่อเดือน และนับเป็นการขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 นับจากเดือนกันยายน 2555 ซึ่งการส่งออกที่กลับมาขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นไปตามฤดูกาล ทั้งนี้ สินค้าส่งออกในเดือนมกราคม 2556 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ สินค้าในหมวดยานยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ขยายตัวร้อยละ 40.3 29.8 และ 20.5 ตามลำดับ และสินค้าในหมวดเกษตร เช่น ข้าวผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่ขยายตัวร้อยละ 31.3 และ 26.5 ตามลำดับ ประกอบกับการส่งออกได้ดีในทุกตลาด โดยตลาดส่งออกหลักกลับมาขยายตัวได้ดี ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย จีน เป็นต้น สำหรับมูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนมกราคม 2556 พบว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐอยู่ที่ 23.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 40.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 4.7 ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐที่ต่ำกว่ามูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปดอลลาร์สหรัฐทำให้ดุลการค้าในเดือนมกราคม 2556 ขาดดุลอยู่ที่ -5.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

5. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการผลิตในเดือนมกราคม 2556 พบว่า มีสัญญาณขยายตัวต่อเนื่องแม้ว่าชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม 2556 (เบื้องต้น) ขยายตัวร้อยละ 8.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 23.4 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่าหดตัวร้อยละ -1.6 ต่อเดือน โดยมีปัจจัยสำคัญจากการลดกำลังการผลิตในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ และเครื่องแต่งกาย อย่างไรก็ดี ยังมีกลุ่มอุตสาหกรรมบางกลุ่มที่กลับมาขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ กลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องหนัง และเครื่องประดับ เป็นสำคัญ สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ในเดือนมกราคม 2556 อยู่ที่ระดับ 97.3 ปรับตัวลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 98.8 เป็นผลมาจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน โดยเฉพาะผู้ประกอบการกลุ่ม SMEs รวมถึงราคาพลังงานมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับความกังวลต่อการแข็งค่าของเงินบาทและภาวะเศรษฐกิจการเงินโลก ในขณะที่การผลิตภาคการเกษตรยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรในเดือนมกราคม 2556 ขยายตัวร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.1 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่าหดตัวร้อยละ -3.4 ต่อเดือน ตามการลดลงของผลผลิตในหมวดพืชผลสำคัญ เช่น ปาล์มน้ำมัน เนื่องจากอยู่ในช่วงปลายฤดูกาลเก็บเกี่ยว สำหรับผลผลิตหมวดปศุสัตว์ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 2.4 จากการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลงของผลผลิตสุกรและไก่เนื้อเป็นสำคัญ ขณะที่ผลผลิตมันสำปะหลังและอ้อยโรงงานยังคงขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 4.6 และร้อยละ 1.2 ตามลำดับ ตามสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว สำหรับเครื่องชี้ภาคบริการที่สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศยังคงขยายตัวดีต่อเนื่อง โดยนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนมกราคม 2556 มีจำนวนทั้งสิ้น 2.2 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 12.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 30.4 และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล (m-o-m SA) พบว่าหดตัวร้อยละ -3.0 ต่อเดือน ทั้งนี้ กลุ่มประเทศที่มีอัตราการขยายตัวได้สูงมาจากนักท่องเที่ยวจากจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เป็นหลัก ที่ขยายตัวร้อยละ 38.6 35.6 และ 32.4 ตามลำดับ

     เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทาน                 2555                 2555             2556
                                                      Q1     Q2     Q3     Q4     ม.ค.
ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (%yoy)                    2.5     -6.8   -1.5  -11.0   44.0     8.6
   %qoq_SA / %mom_SA                          -     39.8    2.8   -4.9    7.4    -1.6
ดัชนีผลผลิตเกษตรกรรม (%yoy)                    5.3      4.1    5.6   14.7    2.8     0.8
   %qoq_SA / %mom_SA                          -      0.3    1.4    0.9    0.4    -3.4
นักท่องเที่ยวต่างชาติ (%yoy)                     16.0      8.1    9.8    8.6   39.3    12.5
   %qoq_SA / %mom_SA                          -     15.4   10.0    3.1    6.5    -3.0

6. เสถียรภาพเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศอยู่ในเกณฑ์ดีมาก โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมกราคม 2556 อยู่ที่ร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 3.6 และเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าขยายตัวร้อยละ 0.2 สาเหตุหลักจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าประเภทเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อสุกรและราคาไข่ ประกอบกับการปรับขึ้นของราคาค่าไฟฟ้าที่มีสาเหตุจากการปรับค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (ft) เพิ่มขึ้น สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.6 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 1.8 สำหรับอัตราการว่างงานในเดือนธันวาคม 2555 อยู่ที่ร้อยละ 0.5 ของกำลังแรงงานรวม ซึ่งคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงานเท่ากับ 1.9 แสนคน สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะ ต่อ GDP ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2555 อยู่ที่ร้อยละ 44.0 ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 60.0 สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมกราคม 2556 อยู่ในระดับสูงที่ 181.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 3.0 เท่า

        เครื่องชี้เสถียรภาพเศรษฐกิจ         2555                    2555                     2556
                                               Q1     Q2     Q3     Q4    พ.ย.   ธ.ค.   ม.ค.
ภายในประเทศ
   เงินเฟ้อทั่วไป (%yoy)                   3.0    3.4    2.5    2.9    3.2    2.7    3.6    3.4
   เงินเฟ้อพื้นฐาน (%yoy)                  2.1    2.7    2.0    1.8    2.1    1.9    1.8    1.6
   อัตราการว่างงาน (yoy%)                0.7    0.7    0.9    0.6    0.5    0.4    0.5    n.a.
   หนี้สาธารณะ/GDP                      44.0   41.5   43.5   43.9   44.0   43.8   44.0    n.a.
ภายนอกประเทศ
   ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้าน $)              2.7    1.4   -2.3    2.7    0.9    0.4    0.7    n.a
   ทุนสำรองทางการ (พันล้าน $)           181.6  179.2  174.7  183.6  181.6  181.6  181.6  181.7
   ฐานะสุทธิ Forward (พันล้าน $)          24.1   29.2   30.7   24.8   24.1   24.8   24.1   23.6

ที่มา: สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ