นายกิตติรัตน์ฯ กล่าวเปิดงานพบปะนักลงทุนว่า ภายใต้ภาวะของเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนและผลกระทบจาก ภัยพิบัติทางธรรมชาติ เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้อย่างมีเสถียรภาพ โดยในปี 2555 เศรษฐกิจไทย ได้ขยายตัวในอัตราที่สูงถึงร้อยละ 6.4 ต่อปี ทั้งนี้ นโยบายของรัฐบาลในปีแรก ที่มุ่งเน้นการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย และขยายโอกาส ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจภายในประเทศมีความเข้มแข็งและสามารถรองรับความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกและภัยพิบัติทางธรรมชาติได้
อย่างไรก็ดี เพื่อรองรับต่อความท้าทายเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมในอนาคต รัฐบาลจะดำเนินการตามยุทธศาสตร์ของประเทศ (Country Strategy) ใน 4 ด้าน ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขัน (Growth and Competitiveness) ด้วยการเพิ่มรายได้จากฐานเดิมและสร้างรายได้จากโอกาสใหม่ ยุทธศาสตร์ที่ 2 การสร้างโอกาสความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันในสังคม (Inclusive Growth) ด้วยการสร้างโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากร และการคุ้มครองสิทธิผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม ยุทธศาสตร์ที่ 3 การสร้างความเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Growth) ด้วยการลดการใช้พลังงาน การฟื้นฟูป่าและต้นน้ำ และการพัฒนาพลังงานสะอาดและพลังงานทดแทน และ ยุทธศาสตร์ที่ 4 การปรับสมดุลและการพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ
นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้ตระหนักถึงความจำเป็นในการปรับปรุงและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเสริมสร้างขีดความสามารถและการกระจายความพัฒนาไปสู่พื้นที่ต่างๆ ของประเทศ และอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ 2 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ ระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีในระหว่างปี 2556-2563 จะเพิ่มขึ้นสูงสุดไม่เกินร้อยละ 50 ซึ่งยังคงอยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลัง
นายชัชชาติฯ กล่าวถึงโอกาสของไทยภายใต้การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนว่า การพัฒนาระบบโลจิสติกส์เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ไทยและอาเซียนได้รับประโยชน์จากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง โดยในปัจจุบัน ประเทศไทยยังพึ่งพาการขนส่งทางถนนที่สูงกว่าร้อยละ 86 ของการขนส่งทั้งหมด ซึ่งทำให้ต้นทุนทางโลจิสติกส์ของประเทศอยู่ในระดับที่สูงถึงร้อยละ 15.2 ของจีดีพี การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ 2 ล้านล้านบาท ทั้งรถไฟรางคู่ (Double Track) รถไฟความเร็วสูง (High Speed Train) และการขนส่งมวลชน (Mass Transit) จะช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์และลดการนำเข้าพลังงานเพื่อการขนส่ง อันจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ คาดว่า การดำเนินการตามยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศจะส่งผลให้ต้นทุนโลจิสติกส์ต่อจีดีพีของประเทศลดลงจากปัจจุบันไม่น้อยกว่าร้อยละ 2.0 และระดับจีดีพีที่แท้จริงจะขยายตัวเพิ่มขึ้นในช่วงการก่อสร้างจากกรณีฐานอีกร้อยละ 1.0 ต่อปี
นายอาคมฯ กล่าวถึงเศรษฐกิจไทยในปี 2555 ว่า การขยายตัวร้อยละ 6.4 จากปีก่อนแสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวจากสถานการณ์อุทกภัยในช่วงปลายปี 2554 โดยอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยได้รับการสนับสนุนจากการบริโภคภายในประเทศผ่านการดำเนินมาตรการของภาครัฐ เช่น การลดภาษีนิติบุคคล มาตรการรถยนต์คันแรก และการปรับเพิ่มแรงงานขั้นต่ำ เป็นต้น รวมทั้งการผลิตภาคเอกชนที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งเห็นได้จากการขยายตัวของอัตราการใช้กำลังการผลิตที่กลับมาอยู่ในระดับก่อนสถานการณ์อุทกภัย ในขณะเดียวกัน เสถียรภาพภายในประเทศและต่างประเทศ ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ทั้งจากอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ อัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับต่ำ และเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง โดยในปี 2556 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถขยายตัวได้ในอัตราร้อยละ 4.5-5.5 โดยอุปสงค์ภาคต่างประเทศคาดว่า จะเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
นายอารีพงศ์ฯ กล่าวถึง เสถียรภาพความยั่งยืนเชิงเศรษฐกิจว่า เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันนับว่ามีเสถียรภาพมากกว่าในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 อย่างมาก ทั้งจาก 1) ความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศและการกระจายตัวของแหล่งการส่งออกอันช่วยลดผลกระทบจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลก 2) ความสมดุลระหว่างตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตรและธนาคารพาณิชย์ ซึ่งช่วยลดการพึ่งพาการระดมทุนผ่านช่องทางธนาคารพาณิชย์เพียงอย่างเดียวดังเช่นในอดีต และ 3) ความเพียงพอของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้น นอกจากนี้ เสถียรภาพทางการคลังในปัจจุบันอยู่ในระดับดี
ในระยะต่อไป นโยบายการคลังเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศ ทั้งในด้านการดำเนินนโยบายการคลังแบบขาดดุลเพื่อสนับสนุน การขยายตัวทางเศรษฐกิจภายใต้ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน การปรับอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลจากร้อยละ 30 เป็นร้อยละ 23 ในปี 2555 และร้อยละ 20 ในปี 2556 และการจัดหาแหล่งทุนให้เพียงพอสำหรับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ทั้งนี้ กระทรวงการคลังมีแผนที่จะเข้าสู่งบประมาณสมดุลในอีก 4-5 ปีข้างหน้า และจะรักษาระดับหนี้สาธารณะให้อยู่ภายใต้กรอบความยั่งยืน
นางสาวจุฬารัตน์ฯ ได้กล่าวว่าในช่วงที่ผ่านมา ตลาดตราสารหนี้ได้มีพัฒนาการที่สำคัญหลายประการ ทั้งในด้านความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ตราสารหนี้ ผ่านการออกพันธบัตรรัฐบาลในรูปแบบใหม่ อาทิ พันธบัตรรัฐบาลที่ผลตอบแทนอ้างอิงกับอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Linked Bonds: ILB) และการจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ให้นักลงทุนรายย่อยผ่านตู้ ATM (Electronic Retail Bond) เป็นต้น และในด้านการเสริมสร้างสภาพคล่องของตลาดตราสารหนี้ไทย ผ่านการขยายช่วงอายุของพันธบัตรรัฐบาลอ้างอิง (Benchmark Bond) ออกไปถึง 50 ปี พัฒนาการของตลาดตราสารหนี้ไทยดังกล่าวได้ส่งผลให้ตราสารหนี้ไทยเป็นที่สนใจมากจากนักลงทุนต่างประเทศ นอกจากนี้ แม้ว่าสภาพคล่องภายในประเทศจะมีเพียงพอที่จะสนับสนุนความต้องการกู้เงินของภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน อย่างไรก็ตาม การออกพันธบัตรรัฐบาลในสกุลเงินต่างประเทศยังคงมีความสำคัญที่จะรักษาความตระหนัก (Presence) และความคุ้นเคยกับตราสารหนี้ไทย
นายไพบูลย์ฯ ได้เชิญชวนให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นของไทย โดยกล่าวว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยได้ปรับสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีปัจจัยสำคัญจากความมั่งคั่งและกำลังซื้อของประชาชนที่เพิ่มขึ้นและการลงทุนภาคเอกชนที่เร่งตัว ส่งผลให้ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปรับเพิ่มขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้ นายไพบูลย์ฯ เห็นว่า แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวสูงขึ้นมาก แต่ยังสามารถปรับขึ้นได้อีกจาก P/E Ratio ของไทยที่ 12 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคที่ 13-14 เท่า
การพบปะนักลงทุนในครั้งนี้ถือว่าประสบผลสำเร็จอย่างมาก สะท้อนจากความสนใจจำนวนมากของผู้จัดการกองทุนและนักลงทุนขนาดใหญ่จำนวนมากเข้าร่วมงาน และจากคำถามต่างๆ ทางด้านเศรษฐกิจที่นักลงทุนได้สอบถาม ซึ่งประเทศไทยได้ชี้แจงให้ข้อมูลอย่างครบถ้วนและชัดเจน
--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 18/2556 28 กุมภาพันธ์ 2556--