รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 18 - 22 มีนาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 22, 2013 13:30 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary
Indicators this week
  • ผลการเบิกจ่ายงบประมาณ เดือนก.พ. 56 สามารถเบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 152.1 พันล้านบาท หรือลดลงร้อยละ -41.3

เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่ง เดือน ก.พ. 56 ขยายตัวร้อยละ 92.1 จากช่วงเดียวกันปีก่อน

ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ขยายตัวร้อยละ 14.0

  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 56 อยู่ที่ระดับ 95.5 จากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 97.3
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมของจีน จัดทำโดย HSBC เดือน มี.ค. 56 อยู่ที่ระดับ 51.7 จุด
  • มูลค่าการส่งออกญี่ปุ่น เดือน ก.พ. 56 หดตัวร้อยละ -2.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่มูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ร้อยละ 11.9
  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหภาพยุโรป เดือน มี.ค. 56 อยู่ที่ระดับ -23.5
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวมสหภาพยุโรป เดือน มี.ค. 56 ลดลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 46.9
  • ธนาคารกลางอินเดีย มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่moร้อยละ 7.75 ต่อปี
  • อัตราการว่างงานสิงคโปร์ ในไตรมาส 4 ปี 55 อยู่ที่ร้อยละ 1.8 ของกำลังแรงงานรวม
Indicators next week
 Indicators                                    Forecast           Previous
 Feb : MPI (%YoY)                                5.5                10.1

สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่ยังคงอยู่ในระดับที่ไม่ดีนัก โดยปัจจัยหนึ่งเป็นผลมาจากฐานการคำนวณปี 55 ที่เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมหลักก็ยังคงขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ยังคงมีการเร่งการผลิตเพื่อส่งมอบให้ลูกค้าที่สั่งจองไว้เมื่อปลายปี 54 นอกจากนี้ อุตสาหกรรมอื่นๆ อาทิ เครื่องปรับอากาศ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า คาดว่าน่าจะมีการขยายการผลิตอย่างต่อเนื่อง ตามภาวะอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นทั้งจากในและต่างประเทศ

 Indicators                                    Forecast           Previous
 Feb : Iron Sales (%YoY)                         20.5               26.8

ตามการขยายตัวของปริมาณจำหน่ายเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ซึ่งสอดคล้องกับยอดจำหน่ายรถยนต์ที่ยังคงขยายตัวในระดับสูง และการขยายตัวของปริมาณจำหน่ายเหล็กเส้นข้ออ้อย และเหล็กเส้นกลม ซึ่งสอดคล้องกับตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังคงขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะเร่งตัวขึ้นมากในเดือนก่อนหน้าก็ตาม โดยตลาดที่อยู่อาศัยในเขตหัวเมืองใหญ่สามารถขยายตัวได้ดีและจำนวนที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ในต่างจังหวัดเร่งขึ้นค่อนข้างมาก

Economic Indicators: This Week
  • ผลการเบิกจ่ายงบประมาณในเดือนก.พ. 56 สามารถเบิกจ่ายได้ทั้งสิ้น 152.1 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -41.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในเดือนก.พ. 56 มีการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบัน 130.4 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -46.6 แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 122.6 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -47.9 (2) รายจ่ายลงทุน 7.9 พันล้านบาท ลดลงร้อยละ -11.3 ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณที่สำคัญ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายบุคลากรสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12.7 พันล้านบาท และรายจ่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง 11.2 พันล้านบาท เป็นสำคัญ สำหรับการเบิกจ่ายงบประมาณจากปีก่อนเบิกจ่ายได้ 21.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 43.7
  • ฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสดในเดือน ก.พ. 56พบว่า ดุลงบประมาณขาดดุลจำนวน -17.0 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่เกินดุลจำนวน 17.8 พันล้านบาท โดยมีสาเหตุหลักจากรายจ่ายเงินอุดหนุนของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานจำนวน 14.2 พันล้านบาท จึงส่งผลให้ดุลเงินสดก่อนกู้เกินดุลจำนวน 809 ล้านบาท ทั้งนี้ ฐานะการคลังในช่วง 5 เดือนแรกของปีงบประมาณ 56 งบประมาณขาดดุลจำนวน -338.2 พันล้านบาท และเมื่อรวมกับดุลเงินนอกงบประมาณที่ขาดดุลจำนวน -115.1 พันล้านบาท ทำให้รัฐบาลขาดดุลเงินสดก่อนกู้จำนวน -453.3 พันล้านบาท และเงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน ม.ค. 56 อยู่ที่ 262.6 พันล้านบาท
  • ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือน ก.พ. 56 มีจำนวน 63,452 คัน หรือขยายตัวร้อยละ 92.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 108.6 แต่ถือได้ว่ายังคงขยายตัวในระดับสูง ส่วนหนึ่งได้รับปัจจัยบวกจาก (1) การทยอยส่งมอบรถยนต์จากโครงการรถยนต์คันแรกที่มียอดค้างอยู่ (2) ปัจจัยฐานต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยในช่วงปลายปี 54 (3) การฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวต่อเนื่องตามทิศทางของเศรษฐกิจโดยรวม และ (4) ค่ายรถยนต์ต่างๆ มีการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดมากขึ้น รวมถึงมีกิจกรรมส่งเสริมการขายที่เริ่มตั้งแต่ช่วงต้นปี
  • ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนก.พ. 56 มีจำนวน 66,458 คัน หรือขยายตัวร้อยละ 14.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 36.6 ตามการขยายตัวในอัตราชะลอลงของรถกระบะขนาด 1 ตัน ที่ขยายตัวร้อยละ 6.3 จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 29.9 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมีการเร่งส่งมอบไปแล้วในช่วงก่อนหน้า อย่างไรก็ดี แนวโน้มปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ยังคงสดใส แม้ว่าจะขยายตัวในอัตราชะลอลงจากปีก่อน เนื่องจากได้รับปัจจัยบวกจากแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 56 โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนที่คาดว่าจะขยายตัวในอัตราเร่ง ตามการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
  • ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.พ. 56 อยู่ที่ระดับ 95.5 ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 97.3 สะท้อนความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่อยู่ในระดับที่ไม่ดี โดยเป็นผลมาจากวันทำงานในเดือน ก.พ.ที่น้อยกว่าปกติรวมทั้งอยู่ในช่วงเทศกาลตรุษจีน โรงงานบางส่วนได้หยุดดำเนินการ อีกทั้งผู้ประกอบการยังมีความกังวลและได้รับผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ทั้งในส่วนของค่าจ้างแรงงาน ราคาพลังงาน และราคาวัตถุดิบ
Economic Indicators: Next Week
  • ผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ก.พ. 56 คาดว่าจะขยายตัวในอัตราชะลอลงร้อยละ 5.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปัจจัยหนึ่งเป็นผลมาจากฐานการคำนวณปี 55 ที่เริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ดี อุตสาหกรรมหลักก็ยังคงขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่ยังคงมีการเร่งการผลิตเพื่อส่งมอบให้ลูกค้าที่สั่งจองไว้เมื่อปลายปี 54 นอกจากนี้ อุตสาหกรรมอื่นๆ อาทิ เครื่องปรับอากาศ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า คาดว่าน่าจะมีการขยายการผลิตอย่างต่อเนื่อง ตามภาวะอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นทั้งจากในและต่างประเทศ
  • ปริมาณจำหน่ายเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กรวมภายในประเทศในเดือน ก.พ. 56 คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องร้อยละ 20.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนตามการขยายตัวของปริมาณจำหน่ายเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ซึ่งสอดคล้องกับยอดจำหน่ายรถยนต์ที่ยังคงขยายตัวในระดับสูง และการขยายตัวของปริมาณจำหน่ายเหล็กเส้นข้ออ้อย และเหล็กเส้นกลม ซึ่งสอดคล้องกับตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังคงขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่องแม้ว่าจะเร่งตัวขึ้นมากในเดือนก่อนหน้าก็ตาม โดยตลาดที่อยู่อาศัยในเขตหัวเมืองใหญ่สามารถขยายตัวได้ดีและจำนวนที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ในต่างจังหวัดเร่งขึ้นค่อนข้างมาก

Global Economic Indicators: This Week

US: improving economic trend
  • ภาคอสังหาริมทรัพย์ส่งสัญญาณดีขึ้น โดยยอดสร้างบ้านใหม่ เดือน ก.พ. 56 อยู่ที่ 0.92 ล้านหลัง (annual rate) ขยายตัวร้อยละ 0.8 จากเดือนก่อนหน้า ดีขึ้นจากเดือน ม.ค. 56 ที่หดตัวร้อยละ -7.3 ในขณะที่ใบอนุญาตก่อสร้างอยู่ที่ 0.95 ล้านหน่วย (annual rate) ขยายตัวร้อยละ 4.6 จากเดือนก่อนหน้าจากที่หดตัวเล็กน้อยเช่นกันในเดือนก่อนที่ร้อยละ -0.6 ขณะที่ยอดขายบ้านมือสอง เดือน ก.พ. 56 อยู่ที่ 4.98 ล้านหลัง (annual rate) ขยายตัวร้อยละ 6.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 0.8 จากเดือนก่อนหน้า เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าภาคอสังหาริมทรัพย์สหรัฐฯ ได้ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่หดตัวมากในช่วงปี 50-53 ภายหลังวิกฤติซับไพรม์ ซึ่งเป็นชนวนวิกฤติเศรษฐกิจและการเงินโลกในปี 51 ที่ลุกลามรุนแรง และยังคงเห็นผลกระทบได้ถึงปัจจุบัน
Japan: mixed signal
  • มูลค่าการส่งออก เดือน ก.พ. 56 กลับมาหดตัวร้อยละ -2.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ผลจากการส่งออกไปจีนและยูโรโซนที่หดตัว ขณะที่ยอดการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 56 ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าในเดือนเดียวกันเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 11.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเงินเยนที่อ่อนค่าในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับราคาสินค้าเชื้อเพลิงและพลังงานปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากญี่ปุ่นยังจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าดังกล่าวเข้ามาเพื่อทดแทนพลังงานนิวเคลียร์ ทำให้มูลค่านำเข้าในรูปเยนปรับตัวสูงขึ้นส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล -7.7 แสนล้านเยนหรือ -8.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
Euro zone: mixed signal
  • มูลค่าการส่งออก เดือน ม.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 5.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -5.4 จากการส่งออกของเยอรมนี ซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดของยูโรโซน ที่ยังคงขยายตัวได้ดี โดยการส่งอออกในหมวดสินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะหมวดยานยนต์ และหมวดเคมีภัณฑ์ขยายตัวเร่งขึ้น มูลค่าการนำเข้า เดือน ม.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 1.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า ส่งผลให้ดุลการค้า เดือน ม.ค. 56 ขาดดุล 3.9 พันล้านยูโร ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน มี.ค. 56 อยู่ที่ระดับ -23.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า แต่ยังคงต่ำกว่าระดับ 0 ต่อเนื่อง สะท้อนการบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงไม่ฟื้นตัว ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อรวม เดือน มี.ค. 56 ลดลงจากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 46.9 ซึ่งต่ำกว่าระดับ 50.0 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 20 โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ เดือน มี.ค. 56 อยู่ที่ระดับ 46.5 สอดคล้องกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต เดือน มี.ค. 56 ที่อยู่ที่ระดับ 46.6 สะท้อนภาคการผลิตที่ยังคงซบเซาต่อเนื่อง
Malaysia: mixed signal
  • อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 56 ปรับเร่งขึ้นอยู่ที่ร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากราคาสินค้าในหมวดอาหาร ที่ขยายตัวร้อยละ 3.3 ส่วนหนึ่งจากเทศกาลตรุษจีนที่ในปีนี้ตรงกับเดือน ก.พ.
China: mixed signal
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม จัดทำโดย HSBC (ตัวเลขเบื้องต้น) เดือน มี.ค. 56 อยู่ที่ระดับ 51.7 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนระดับ 50.4 จุด จากดัชนีคำสั่งซื้อใหม่และดัชนีการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 2 เดือนระดับ 52.8 จุด บ่งชี้การขยายตัวอย่างต่อเนื่องขของภาคอุตสาหกรรม ราคาบ้านใหม่ เดือน ก.พ. 56 ขยายตัวร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สูงสุดในรอบ 14 เดือน ทำให้รัฐบาลจีนออกมาตรการเรียกเก็บภาษีกำไรจากการขายทรัพย์สินร้อยละ 20 และเพิ่มอัตราเงินดาวน์และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ (Mortgage rate) สำหรับผู้ซื้อบ้านหลังที่ 2 เพื่อชะลอราคาบ้านที่เพิ่มขึ้น
Singapore: mixed signal
  • ยอดค้าปลีกเดือน ม.ค. 56 หดตัวร้อยละ -2.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนจากยอดขายสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มที่หดตัวถึงร้อยละ -24.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากวันหยุดเทศกาลตรุษจีนในปี 55 อยู่ในช่วงปลายเดือน ม.ค.แต่วันหยุดในปี 56 อยู่ในช่วงต้นเดือน ก.พ. ส่วนมูลค่าการส่งออก เดือน ก.พ. 56 หดตัวร้อยละ -0.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกสินค้าในหมวดเวชสำอางค์และเครื่องขุดเจาะน้ำมันซึ่งหดตัวในช่วงวันหยุดเทศกาลตรุษจีนขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน ก.พ. 56 หดตัวถึงร้อยละ -14.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากการนำเข้าสินค้าจากอินเดียที่หดตัวลงถึงร้อยละ -67.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้ดุลการค้าเดือน ก.พ. 56 เกินดุล 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่อัตราการว่างงานไตรมาส 4 ปี 55 อยู่ที่ร้อยละ 1.8 ของกำลังแรงงานรวม ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 20 เดือนเนื่องจากการจ้างงานในภาคการก่อสร้างเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี 55
India: mixed signal
  • ธนาคารกลางอินเดีย มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 7.50 ต่อปี ติดต่อกัน 2 เดือน ภายหลังจากมีมติปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวลง 25 bps เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 56 ที่ผ่านมา เพื่อกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจอินเดีย
Taiwan: mixed signal
  • อัตราการว่างงาน เดือน ก.พ. 56 ทรงตัว 3 เดือนติดต่อกัน ที่ร้อยละ 4.2 ของกำลังแรงงานรวม จากการจ้างงานและกำลังแรงงานที่เพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่เท่าๆ กัน
Hong Kong: mixed signal
  • อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 56 ปรับเพิ่มอยู่ที่ร้อยละ 4.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากร้อยละ 3.0 ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งผลกระทบจากราคาอาหารที่ปรับสูงขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีนเป็นสำคัญ และอัตราการว่างงาน เดือน ก.พ. 56 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 3.1 ในเดือนก่อน มาอยู่ที่ร้อยละ 3.2 ของกำลังแรงงานรวม
Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับตัวลดลงมาก หลังจากแตะระดับ 1,600 จุดระหว่างวันในสัปดาห์ก่อนหน้า โดย ณ วันที่ 21 มี.ค. 56 ดัชนีฯ ปิดที่ 1,529.52 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันสูงถึง 71,715.11 ล้านบาท หลังจากที่ยูโรโซนยื่นข้อเสนอให้ไซปรัสเก็บภาษีจากผู้ฝากเงินจนทำให้ต่อมารัฐบาลไซปรัสปฏิเสธความช่วยเหลือทางการเงินวงเงิน 10 พันล้านยูโร ตลอดจนการเรียกเก็บ Margin เพิ่มเติมของโบรกเกอร์บางบริษัท อีกทั้งกองทุนประเภท Trigger fund เริ่มทยอยขายสินทรัพย์เพื่อทำกำไร หลังจากที่ราคาปรับสูงขึ้นมากแล้ว ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 18 - 21 มี.ค. 56 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ -6,433.83 ล้านบาท ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลค่อนข้างคงที่ โดยนักลงทุนยังคงจับตามองความผันผวนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 18 - 21 มี.ค. 56 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 3,668.29 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง โดย ณ วันที่ 21 มี.ค. 56 ปิดที่ระดับ 29.19 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยแข็งค่าขึ้นร้อยละ 1.45 จากสัปดาห์ก่อนหน้า ผลจากผู้เล่น Offshore ตลอดจนบริษัทส่งออกที่มีอุปสงค์เงินบาทจำนวนมาก ทั้งนี้ ค่าเงินเยนซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของไทยมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ในขณะที่ค่าเงินยูโร เยน ริงกิตมาเลเซีย และวอนเกาหลี อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้แข็งค่าขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 1.31 จากสัปดาห์ก่อนหน้า
  • ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อย โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 21 มี.ค. 56 ปิดที่ 1,614.09 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ สูงขึ้นจากต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,604.80 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ