รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 27 มีนาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 27, 2013 11:55 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 27 มีนาคม 2556

Summary:

1. สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) แนะรัฐบาล ดึงเอกชนร่วมลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

2. ผู้จัดการกองทุนตราสารหนี้ระบุยังมีโอกาสที่เงินทุนต่างชาติจะไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ต่อเนื่อง

3. เศรษฐกิจสหรัฐฯ เอื้อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว

Highlight:

1. สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) แนะรัฐบาล ดึงเอกชนร่วมลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
  • สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยว่า การขับเคลื่อนนโยบายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ภายใต้ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ที่เน้นการลงทุนในระบบรางนั้น เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้เดินไปข้างหน้านั้น รัฐบาลสามารถใช้แนวทางดึงภาคเอกชนที่มีความพร้อมและศักยภาพด้านการลงทุนเข้ามามีส่วนร่วมลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยอาศัยกลไกตลาดทุน ที่ภาคเอกชนสามารถจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการเงินเข้ามาระดมทุนเพื่อเข้ามาลงทุน ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงและความกังวลต่อปัญหาหนี้สาธารณะไม่ให้สูงเกินไป
  • สศค.วิเคราะห์ว่า การลงทุนภาครัฐ (Public Investment)มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะที่เป็นการลงทุนในโครงสร้างขั้นพื้นฐาน (Infrastructure)ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศในระยะยาว ทั้งนี้ การระดมเงินทุนตามร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท จะเป็นการระดมเงินกู้ในประเทศเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้เพิ่มทางเลือกในการระดมทุนเพื่อเปิดโอกาสให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล เช่น กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน(Infrastructure Fund) และการร่วมทุนภาครัฐ-เอกชน (PPP ) ซึ่งขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐบาล พ.ศ... (กฎหมาย PPP)อยู่ระหว่างการทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อลงพระปรมาภิไธย
2. ผู้จัดการกองทุนตราสารหนี้ระบุยังมีโอกาสที่เงินทุนต่างชาติจะไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ต่อเนื่อง
  • บลจ.กรุงศรี กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน มีเงินทุนต่างชาติไหลเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด มีมูลค่าซื้อสะสมแล้วกว่า 1.3 แสนล้านบาท และเริ่มเห็นการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวมากขึ้นด้วย ซึ่งสะท้อนว่านักลงทุน เริ่มมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันสัดส่วนการลงทุนของต่างชาติในตลาดตราสารหนี้ไทยประมาณร้อยละ 12 - 13 ของมูลค่าตราสารหนี้ และยังถือว่าน้อยมาก หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ที่มีการลงทุนสูงถึงร้อยละ 30 - 40 ของมูลค่าตราสารหนี้ ดังนั้น โอกาสที่เงินทุนจะเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้จึงมีอีกค่อนข้างมาก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ตั้งแต่ต้นปี 56 จนถึงปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติได้มีการซื้อตราสารหนี้สุทธิประมาณ 85,414 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 69.6 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเกิดจากอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน(Bond Yields ) ของประเทศไทยเฉลี่ยสูงกว่าประเทศในอาเซียน ยกเว้นอินโดนีเซียและเวียดนาม สะท้อนได้จากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของไทยอายุ 10 ปีเฉลี่ยร้อยละ 3.5 ขณะที่ของอินโดนีเซียและเวียดนามเฉลี่ยร้อยละ 5.5 และ 9.3 ตามลำดับ โดยเงินทุนไหลเข้าในตลาดตราสารหนี้ข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น โดยค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นจากต้นปี 56 ประมาณร้อยละ 3.6 ซึ่งการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นนอกจากจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกโดยตรงแล้ว แต่ถือเป็นโอกาสดีสำหรับภาครัฐที่จะลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานโดยการเร่งนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าทุนจากต่างประเทศ และเป็นโอกาสสำหรับผู้มีหนี้เป็นสกุลเงินต่างประเทศที่จะเร่งชำระหนี้ต่อไป
3. เศรษฐกิจสหรัฐฯ เอื้อเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว
  • ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) เปิดเผยว่า นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายอย่างมากของสหรัฐฯ ไม่เพียงช่วยให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวเท่านั้น แต่ยังเอื้อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจชาติอื่นด้วย โดยที่ผ่านมา มีเสียงวิจารณ์กันไปทั่วโลกว่า โครงการเข้าซื้อสินทรัพย์ของ FED ที่มีเป้าหมายเพื่อทำให้ต้นทุนการกู้ยืมระยะยาวถูกลงและกระตุ้นการลงทุนนั้น ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศในตลาดเกิดใหม่
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ในช่วงที่ผ่านมา การดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศของสหรัฐ เช่น การกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Fund) ที่ร้อยละ 0 - 0.25 การซื้อสินทรัพย์ในตลาดไปแล้วมากกว่า 2.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ฟื้นตัวขึ้นเป็นลำดับ โดยล่าสุด อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในปี 55 ขยายตัวร้อยละ 2.2 ภาคอสังหาริมทรัพย์มีสัญญาณดีขึ้นทั้งยอดสร้างบ้านใหม่และยอดขายบ้านมือสอง รวมทั้งอัตราการว่างงานในเดือน ก.พ. 56 อยู่ที่ระดับต่ำสุดในรอบ 4 ปีที่ร้อยละ 7.7 ของกำลังแรงงานรวม นอกจากนี้ การดำเนินนโยบายดังกล่าวยังได้ส่งผลให้ประชาชนของหลายประเทศทั่วโลกมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นจากราคาสินทรัพย์ที่ปรับตัวสูงขึ้น สำหรับประเทศไทยก็ได้รับประโยชน์จากจากการส่งสินค้าไปยังสหรัฐฯ ที่ถือเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 3 ของไทย โดยล่าสุด มูลค่าการส่งออกสินค้าในปี 55 ขยายตัวร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าในเดือน ม.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 16.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยสินค้าส่งออกที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป อัญมณีและเครื่องประดับ และเครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 325


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ