รายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2556 “เศรษฐกิจไทยปี 2556 คาดว่าจะสามารถขยายตัวอย่างต่อเนื่องที่ร้อยละ 5.3”

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 1, 2013 09:06 —กระทรวงการคลัง

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง แถลงข่าวประมาณการเศรษฐกิจไทย ณ เดือนมีนาคม 2556 ว่า “เศรษฐกิจไทยในปี 2556 คาดว่าจะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 5.3 (โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 4.8 — 5.8) ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์ครั้งก่อนที่คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 5 เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศยังมีแนวโน?มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยการบริโภคภายในประเทศจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจ ทั้งนี้ การขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนได้รับผลดีจากรายได้ภาคครัวเรือนที่ปรับตัวดีขึ้นจากการจ้างงานที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี รวมถึงมาตรการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการปรับค่าแรงรายวันขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศ หรือ โครงการรับจำนำข้าว เป็นต้น สำหรับการบริโภคภาครัฐก็ขยายตัวดีตามการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีของรัฐบาลในปี 2556 ที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การลงทุนภายในประเทศจะยังสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ โดยการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะยังคงเร่งตัวในระดับสูงต่อเนื่องจากปีก่อน เนื่องจากได้รับผลดีจากการดำเนินนโยบายภาครัฐในการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวจากอุทกภัยในปีที่ผ่านมา รวมทั้งจากมาตรการของรัฐเพื่อการส่งเสริมการลงทุน ในขณะที่การลงทุนภาครัฐคาดว่าจะเร่งตัวขึ้นในปีนี้จากการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐและการลงทุนตามแผนการบริหารจัดการน้ำของภาครัฐวงเงินลงทุนรวม 3.5 แสนล้านบาท สำหรับอุปสงค์ภายนอกจะส่งผลดีต่อภาคการส่งออกในปีนี้ โดยการส่งออกคาดว่าขยายตัวร้อยละ 9.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 8.0 — 11.0) ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยรวมที่คาดว่าจะขยายตัวดีขึ้นจากปีก่อน ถึงแม้การส่งออกจะได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าบ้างก็ตาม

สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2556 จะยังอยู่ที่ร้อยละ 3.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.5 — 3.5) ตามราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศ ดุลการค้าจะเกินดุลเล็กน้อยจากปีที่แล้ว เนื่องจากมูลค่าการนำเข้าที่เร่งตัวเพิ่มขึ้นในอัตราที่มากกว่ามูลค่าการส่งออก ซึ่งจะส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลเล็กน้อยที่ประมาณร้อยละ 0.04 ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ (-0.5) — (0.5) ของ GDP)”

ทั้งนี้ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กล่าวเพิ่มเติมว่า “ในการประมาณการเศรษฐกิจ ยังคงจำเป็นต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นความผันผวนของค่าเงินบาท ระดับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าโดยเฉพาะประเด็นเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐอเมริกาและความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะของกลุ่มยูโรโซน รวมถึงภาวะภัยแล้งที่อาจส่งผลต่อภาคเกษตรกรรมและรายได้ประชาชนในชนบท”

สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการการคลัง โทร. 0-2273-9020 ต่อ 3273

ตารางสรุปสมมติฐานและผลการประมาณการเศรษฐกิจปี 2556 (ณ เดือนมีนาคม 2556)

                                                                  2555         2556 f

(ณ มีนาคม 2556)

                                                                   เฉลี่ย              ช่วง

สมมติฐานหลัก สมมติฐานภายนอก

1)  อัตราการขยายตัวเฉลี่ย 14 ประเทศคู่ค้าหลัก (ร้อยละต่อปี)                  3.9           3.9            3.4-4.4
2) ราคาน้ำมันดิบดูไบ (ดอลลาร์สหรัฐ ต่อบาร์เรล)                           109.1          113          108.0-118.0
3) ราคาสินค้าส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละต่อปี)                         0.5           2.9            1.9-3.9
4) ราคาสินค้านำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละต่อปี)                         1.8           3.2            2.2-4.2
สมมติฐานด้านนโยบาย
5) อัตราแลกเปลี่ยน (บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ)                                31.1          29.4           28.4-30.4
6) อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ณ สิ้นปี (ร้อยละต่อปี)                       2.75          2.75           2.25-3.25
7) รายจ่ายภาคสาธารณะตามปีงบประมาณ (ล้านล้านบาท)                      2.89          3.26           3.11-3.21

ผลการประมาณการ

1) อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (ร้อยละต่อปี)                             6.4           5.3            4.8-5.8
2) อัตราการขยายตัวของการบริโภครวม (ร้อยละต่อปี)                         6.6           4.4            3.9-4.9
    - การบริโภคภาคเอกชน (ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี)                     6.6           4.6            4.1-5.1
    - การบริโภคภาครัฐ (ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี)                        7.4           3.5            3.0-4.0
3) อัตราการขยายตัวของการลงทุนรวม (ร้อยละต่อปี)                         10.2          10.3            9.3-11.3
    - การลงทุนภาคเอกชน (ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี)                     14.6           9.3            8.3-10.3
    - การลงทุนภาครัฐ (ณ ราคาคงที่) (ร้อยละต่อปี)                         8.9          14.2           13.2-15.2
4) อัตราการขยายตัวปริมาณส่งออกสินค้าและบริการ (ร้อยละต่อปี)                 2.9           5.7            4.7-6.7
5) อัตราการขยายตัวปริมาณนำเข้าสินค้าและบริการ (ร้อยละต่อปี)                 6.2           5.8            4.8-6.8
6) ดุลการค้า (พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)                                      8.3           5.8            4.8-6.8
  - สินค้าส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละต่อปี)                            3.2            9             8.0-10.0
  - สินค้านำเข้าในรูปดอลลาร์สหรัฐ (ร้อยละต่อปี)                            7.8          10.6            9.6-11.6
7) ดุลบัญชีเดินสะพัด (พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)                                 2.7           0.2          (-1.8)-(2.1)
  - ร้อยละของ GDP                                                  0.5            0           (-0.5)-(0.5)
8) อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (ร้อยละต่อปี)                                       3             3             2.5-3.5
    อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ร้อยละต่อปี)                                    2.1           1.9            1.4-2.4
9) อัตราการว่างงาน (ร้อยละของกำลังแรงงานรวม)                          0.7           0.6            0.5-0.7

เอกสารแนบ

รายงานประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2556

1. ด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

เศรษฐกิจไทยในปี 2556 คาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องจากปีก่อนที่ร้อยละ 5.3 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.8 — 5.8) จากอุปสงค์ภาคเอกชนที่มีแนวโน้มขยายตัวดี โดยการบริโภคภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.6 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.1 — 5.1) ทั้งนี้ เห็นได้จากยอดจำหน่ายรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์มีการขยายตัวสูง โดยรายได้ภาคครัวเรือนที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล อันได้แก่ มาตรการการเพิ่มค่าแรงรายวันเป็น 300 บาทขั้นต่ำทั่วประเทศ และโครงการรับจำนำข้าว ที่ส่งผลโดยตรงต่อกลุ่มแรงงานและครัวเรือนรายได้ระดับฐานราก ซึ่งจะช่วยส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนยังคงขยายตัวต่อไป ในส่วนของการขยายตัวของการลงทุนภาครัฐที่คาดว่าจะขยายตัวได้ในระดับสูงที่ร้อยละ 14.2 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 13.2 — 15.2) นั้น มีปัจจัยสนับสนุนจากทั้งรายจ่ายงบประมาณและรายจ่ายตามแผนบริหารจัดการน้ำของภาครัฐวงเงินลงทุนรวม 3.5 แสนล้านบาทที่เริ่มทยอยลงทุนได้มากขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2556 โดยการลงทุนภาครัฐที่เด่นได้แก่การลงทุนในหมวดก่อสร้างจากโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง บางใหญ่-บางซื่อ ขณะที่การบริโภคภาครัฐคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.5 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 3.0 — 4.0) ตามการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีของรัฐบาลในปี 2556 ที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 9.3 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 8.3 - 10.3) ซึ่งยังคงอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะหมวดเครื่องมือเครื่องจักร โดยมีแรงสนับสนุนจากมาตรการภาครัฐในส่วนของมาตรการส่งเสริมการลงทุน อย่างไรก็ดี สำหรับการค้าระหว่างประเทศนั้น คาดว่า การส่งออกสินค้าและบริการยังคงเป็นองค์ประกอบสำคัญของการขยายตัวเศรษฐกิจในปีนี้ เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกโดยรวม โดยปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการจะขยายตัวร้อยละ 5.7 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.7 - 6.7) และมูลค่าการส่งออกขยายตัวดีที่ร้อยละ 9.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 8.0 -10.0) ถึงแม้ว่าจะได้รับผลกระทบบางส่วนจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นและยังคงมีความเสี่ยงจากความเปราะบางทางเศรษฐกิจของกลุ่มยูโรโซนโดยเฉพาะในส่วนของประเทศไซปรัสที่ยังคงมีปัญหา ส่วนปริมาณการนำเข้าสินค้าและบริการคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 5.8 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 4.8 — 6.8) และมูลค่าการนำเข้าขยายตัวที่ร้อยละ 10.6 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 9.6-11.6) โดยอัตราเร่งที่เพิ่มขึ้นมาจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ซึ่งเพิ่มขึ้นทุกหมวดโดยเฉพาะน้ำมันดิบ โลหะ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แสดงให้เห็นถึงการขยายตัวของ อุปสงค์การนำเข้าภายในประเทศเพื่อการผลิตที่เพิ่มขึ้น

2. ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ

เสถียรภาพภายในประเทศ ในด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2556 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 3.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 2.5 — 3.5) ตามราคาน้ำมันในตลาดโลกที่คาดว่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นจะช่วยลดแรงกดดันเงินเฟ้อจากสินค้านำเข้าหลายรายการ รวมทั้งน้ำมันดิบ อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงด้านภัยพิบัติทางธรรมชาติและภัยแล้ง อาจส่งผลให้ราคาธัญพืชในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น ในส่วนของอัตราการว่างงาน คาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 0.6 ของกำลังแรงงานรวม (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 0.5 — 0.7 ของกำลังแรงงานรวม) ในด้านเสถียรภาพภายนอกประเทศ คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุลเล็กน้อยที่ 0.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 0.04 ของ GDP (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ (-0.5) — (0.5) ของ GDP) เนื่องจากดุลการค้าที่คาดว่าจะเกินดุลลดลงจากปีก่อนเล็กน้อยมาอยู่ที่ 5.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 4.8 — 6.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ตามมูลค่าสินค้านำเข้าที่คาดว่าจะขยายตัวในอัตราเร่งกว่ามูลค่าสินค้าส่งออก

--ข่าวกระทรวงการคลัง กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สนง.ปลัดกระทรวงการคลัง ฉบับที่ 29/2556 29 มีนาคม 2556--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ