รายงานภาวะเศรษฐกิจรายสัปดาห์ระหว่างวันที่ 25 - 29 มีนาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 1, 2013 10:37 —กระทรวงการคลัง

Executive Summary
Indicators this week
  • การส่งออก ในเดือน ก.พ.56 หดตัวที่ร้อยละ -5.8 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • การนำเข้า ในเดือน ก.พ.56 ขยายตัวในอัตราชะลอลงร้อยละ 5.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ก.พ. 56 หดตัวร้อยละ -1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
  • GDP สหรัฐฯ ไตรมาส 4 ปี 55 ขยายตัวร้อยละ 1.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ในขณะที่ GDP เกาหลีใต้ ขยายตัวร้อยละ 1.5
  • GDP เวียดนาม ไตรมาสที่ 1 ปี 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวที่ร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่น เดือน มี.ค. 56 เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 10 เดือน อยู่ที่ระดับ 50.4 จุด
  • อัตราการว่างงานญี่ปุ่น เดือน ก.พ. 56 อยู่ที่ร้อยละ 4.3 ของกำลังแรงงานรวม
  • ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมไต้หวัน เดือน ก.พ. 56 กลับมาหดตัวร้อยละ -11.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • มูลค่าการส่งออกฮ่องกง เดือน ก.พ. 56 กลับมาหดตัวonร้อยละ -16.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน
  • อัตราเงินเฟ้อสิงคโปร์ เดือน ก.พ. 56 ปรับตัวสูงขึ้นที่ร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
Indicators next week
 Indicators                                    Forecast           Previous
 Mar : Head line Inflation (%YoY)                2.8                 3.2

สาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันขายปลีกที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ประกอบกับสินค้าในหมวดเนื้อหมู เนื้อไก่ และไข่ มีการปรับตัวลดลง อย่างไรก็ดี ราคาผักสดมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากอากาศที่ร้อนจัด ทำให้ผลผลิตน้อยลง ทั้งนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.17 (mom)

Economic Indicators: This Week
  • การส่งออกในเดือน ก.พ.56 มีมูลค่าอยู่ที่ 17,928.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือหดตัวที่ร้อยละ -5.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 16.1 โดยสาเหตุหลักมาจากการหดตัวของการส่งออกทองคำ ประกอบกับปัจจัยฐานสูงในปีก่อนหน้า และเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ซึ่งหากพิจารณาในด้านมิติสินค้า จะพบว่า หดตัวแทบทุกหมวดสินค้าหลัก โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมที่หดตัวร้อยละ -3.1 จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 21.2 จากการชะลอลงของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ใฟฟ้า และยานยนต์ที่ร้อยละ 2.0 5.1 และ 6.0 ตามลำดับ รวมถึงภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเกษตรที่หดตัวเช่นเดียวกันร้อยละ -11.4 และ -15.0 ตามลำดับ
  • การนำเข้าในเดือน ก.พ. 56 มีมูลค่าที่ 19,485.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นอัตราการขยายตัวร้อยละ 5.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 40.9 จากการหดตัวและชะลอตัวลงในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะหมวดสินค้าทุนและสินค้าอุปโภคบริโภค ที่หดตัวร้อยละ -2.3 และ -5.4 ตามลำดับ ในขณะที่สินค้าวัตถุดิบและสินค้ายานยนต์ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 23.4 และ 26.7 ตามลำดับ และจากการที่มูลค่าการนำเข้าสูงกว่ามูลค่าการส่งออกทำให้ดุลการค้าในเดือน ก.พ. 56 ขาดดุล -1.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ในเดือน ก.พ. 56 กลับมาหดตัวร้อยละ -1.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีปัจจัยหลักจากการลดการผลิตลงในอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนส่งออกมากกว่าร้อยละ 60 เป็นสำคัญ อาทิ HDD เสื้อผ้าสำเร็จรูป อาหารทะเล และเครื่องใช้ไฟฟ้า อย่างไรก็ดี บางอุตสาหรรมยังคงขยายตัวได้ต่อเนื่อง ได้แก่ รถยนต์ ที่ผลิตเพื่อตอบสนองอุปสงค์ที่ยังตกค้าง เหล็กและเหล็กกล้า จากการขยายตัวของภาคก่อสร้างทั้งโครงการภาครัฐและภาคเอกชน
Economic Indicators: Next Week
  • อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในเดือนมี.ค. 56 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 2.8 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 3.2 โดยมีสาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันขายปลีกที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ประกอบกับสินค้าในหมวดเนื้อหมู เนื้อไก่ และไข่ มีการปรับตัวลดลง อย่างไรก็ดี ราคาผักสดมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากอากาศที่ร้อนจัด ทำให้ผลผลิตน้อยลง ทั้งนี้ คาดว่าอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.17 (mom)

Global Economic Indicators: This Week

US: mixed signal
  • GDP ไตรมาส 4 ปี 55 (ตัวเลขสมบูรณ์) ขยายตัวร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 0.1 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) ส่งผลให้ทั้งปี 55 เศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 2.2 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน มี.ค. 56 อยู่ที่ระดับ 59.7 จุด ลดลงมากจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 68.0 จุด (ตัวเลขปรับปรุง) โดยผลสำรวจภาวะธุรกิจปัจจุบันและผลสำรวจการคาดการณ์อนาคตระยะสั้นการคาคการณ์ปรับตัวลดลง ผลจากความกังวลการตัดลดงบประมาณรายจ่ายอัตโนมัติทุกรายการ (Sequestration) อย่างไรก็ตาม คาดว่าดัชนีฯ จะปรับตัวดีขึ้นในเดือนถัดไปหลังจากที่สภาคองเกรสเห็นชอบร่างกฎหมายงบประมาณใหม่เฉพาะกิจสำหรับปีงบประมาณปัจจุบันซึ่งคาดว่าจะทำให้ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนมีความมั่นใจในเศรษฐกิจดีขึ้น
Japan: mixed signal
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน มี.ค. 56 ปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 10 เดือน อยู่ที่ระดับ 50.4 จุด สะท้อนกิจกรรมการผลิตภาคอุตสาหกรรมในญี่ปุ่นที่ส่งสัญญาณการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 10 เดือน ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 56 ปรับลดต่อเนื่องที่ร้อยละ -0.7 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ -0.3 โดยภาวะเงินฝืดถือเป็นปัญหาสำคัญที่รัฐบาลญี่ปุ่นติดตามและเร่งแก้ไข และอัตราการว่างงาน เดือน ก.พ. 56 อยู่ที่ร้อยละ 4.3 ของกำลังแรงงานรวม โดยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากร้อยละ 4.2 ในเดือนก่อน อย่างไรก็ตาม ตัวเลขการจ้างงานญี่ปุ่นก็ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
South Korea: mixed signal
  • GDP ไตรมาส 4 ปี 55 (ตัวเลขปรับปรุง) ขยายตัวร้อยละ 1.5 จากช่วงเดียวกันปีก่อน สอดคล้องกับตัวเลขเบื้องต้นที่ออกมาก่อนหน้า นับเป็นอัตราต่ำสุดในรอบเกือบ 3 ปี สาเหตุจากการลงทุนรวมที่หดตัวต่อเนื่อง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน มี.ค. 56 ปรับตัวเพิ่มขี้นจากระดับ 102 จุดในเดือนก่อน อยู่ที่ระดับ 104 จุด นับเป็นระดับสูงสุดในรอบ 1 ปี สะท้อนมุมมองบวกของผู้บริโภคต่อเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้นในปีนี้ ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 56 กลับมาหดตัวร้อยละ -9.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากอุปสงค์ทั้งในและนอกประเทศที่กลับมาหดตัวในช่วงเดือนดังกล่าว ขณะที่ผลผลิตภาคบริการ เดือน ก.พ. 56 ไม่มีการขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 1.7 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว)
Taiwan
  • ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 56 กลับมาหดตัวร้อยละ -11.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ภายหลังจากที่ขยายตัวเร่งขึ้นมากที่ร้อยละ 19.0 ในเดือนก่อน ซึ่งมีสาเหตุจากยอดส่งออกในเดือนเดียวกันกลับมาหดตัวอีกครั้งเป็นสำคัญ
Philippines: mixed signal
  • มูลค่าการนำเข้า เดือน ม.ค. 56 หดตัวร้อยละ -8.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นการหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน จากการนำเข้าชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพื่อนำมาประกอบเป็นอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์หดตัวลง สอดคล้องกับ ตัวเลขการส่งออกสินค้าหมวดดังกล่าวที่ลดลงเช่นกัน โดยรวมส่งผลให้ดุลการค้าในเดือน ม.ค. 56 ขาดดุล 710 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
Singapore: mixed signal
  • อัตราเงินเฟ้อ เดือน ก.พ. 56 ปรับตัวสูงขึ้นที่ร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากค่าใช้จ่ายในหมวดขนส่งที่ขยายตัวถึงร้อยละ 13.9 ขณะที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน ก.พ. 56 หดตัวร้อยละ -0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน อยู่ที่ระดับ 94.8 จุด สาเหตุหลักจากการผลิตสินค้าประเภทปิโตรเลียมหดตัวถึงร้อยละ -5.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
Vietnam: mixed signal
  • GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวที่ร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาสที่ 4 ปี 56 ซึ่งขยายตัวที่ร้อยละ 5.4 จากภาคบริการที่ขยายตัวร้อยละ 5.6 ทั้งนี้ GDP ไตรมาสที่ 1 ปี 56 ขยายตัวในอัตรา เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ยอดค้าปลีกเดือน มี.ค. 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวในอัตราชะลอลงอยู่ที่ร้อยละ 11.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 12.4 จากสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและการว่างงานที่เพิ่มขึ้นทำให้อำนาจการซื้อของประชาชนเวียดนามลดลง มูลค่าการส่งออก เดือน มี.ค. 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 16.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน จากการส่งออกสินค้าประเภทอัญมณีและโลหะมีค่าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 614.4 และ 44.5 ตามลำดับ ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน มี.ค. 56 (ตัวเลขเบื้องต้น) ขยายตัวเร่งขึ้นที่ร้อยละ 24.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากการนำเข้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และพลาสติกที่ขยายตัวมากถึงร้อยละ 50.1 และ 28.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่งผลให้เวียดนามขาดดุลการค้าในเดือน มี.ค. 56 เป็นมูลค่า 0.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ อัตราเงินเฟ้อ เดือน มี.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 6.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 7.0 จากดัชนีในหมวดอาหารที่ลดลงร้อยละ -4.1
Hong Kong: mixed signal

มูลค่าการส่งออก เดือน ก.พ. 56 กลับมาหดตัวร้อยละ -16.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากปัจจัยในช่วงวันหยุดยาวของเทศกาลตรุษจีน ส่งผลให้การส่งออกไปยังจีน สหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค หดตัวเร่งขึ้นในช่วงเดือนดังกล่าว ขณะที่มูลค่าการนำเข้า เดือน ก.พ. 56 หดตัวร้อยละ -18.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการนำเข้าเครื่องจักรและชิ้นส่วนยานยนต์ที่หดตัวเป็นสำคัญ ส่งผลให้ดุลการค้าในเดือนเดียวกันขาดดุล -3.3 พันล้านดอลลาร์ฮ่องกง

Weekly Financial Indicators
  • ดัชนี SET ปรับตัวสูงขึ้นจากสัปดาห์ก่อน แต่มีความผันผวนระหว่างสัปดาห์สูง โดยในสัปดาห์ก่อนหน้าเมื่อวันที่ 22 มี.ค. 56 ดัชนีฯ ปรับลดลงถึงกว่า 50 จุดภายใน 1 วัน ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 101,364.14 ล้านบาท ก่อนที่ดัชนีฯ จะปรับสูงขึ้นในสัปดาห์นี้ โดย ณ วันที่ 28 มี.ค. 56 ปิดที่ 1,544.57 จุด ด้วยมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่ 64,989.12 ล้านบาท หลังจากที่ไซปรัสและสหภาพยุโรปสามารถเจรจาตกลงแผนให้ความช่วยเหลือทางการเงินได้ ทำให้ความเชื่อมั่นนักลงทุนดีขึ้น ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 25 - 28 มี.ค. 56 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 1,857.07 ล้านบาท ขณะที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลค่อนข้างคงที่ โดยนักลงทุนยังคงจับตามองความผันผวนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งนี้ ระหว่างวันที่ 25 - 28 มี.ค. 56 นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 6,124.10 ล้านบาท (ไม่รวมพันธบัตร ธปท.)
  • ค่าเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย โดย ณ วันที่ 28 มี.ค. 56 ปิดที่ระดับ 29.27 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยอ่อนค่าลงร้อยละ -0.27 จากสัปดาห์ก่อนหน้า ทั้งนี้ ค่าเงินเยน ริงกิตมาเลเซีย วอนเกาหลี และสิงคโปร์ดอลลาร์ ซึ่งเป็นคู่ค้าหลักของไทยมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ในขณะที่ค่าเงินยูโร อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ดัชนีค่าเงินบาท (NEER) ในสัปดาห์นี้อ่อนค่าลงเล็กน้อยที่ร้อยละ -0.49 จากสัปดาห์ก่อนหน้า
  • ราคาทองคำค่อนข้างทรงตัว โดยราคาทองคำ ณ วันที่ 28 มี.ค. 56 ปิดที่ 1,596.17 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ใกล้เคียงกับต้นสัปดาห์ที่ปิดที่ 1,604.09 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

ที่มา: Macroeconomic Analysis Group: Fiscal Policy Office

Tel 02-273-9020 Ext 3253 : www.fpo.go.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ