รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 23 เมษายน 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 23, 2013 10:59 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 23 เมษายน 2556

Summary:

1. ธปท. ชี้ค่าเงินบาทเข้าสู่แดนแข็งค่ามากเกินไป พร้อมใช้มาตรการดูแลที่มีตามความเหมาะสม

2. นักเศรษฐศาสตร์เชื่อเศรษฐกิจไทย 3 - 6 เดือนยังสดใส

3. นักวิเคราะห์คาดจีนเตรียมปรับลดราคาน้ำมัน 25 เม.ย.นี้ ตามราคาตลาดโลก

Highlight:

1. ธปท. ชี้ค่าเงินบาทเข้าสู่แดนแข็งค่ามากเกินไป พร้อมใช้มาตรการดูแลที่มีตามความเหมาะสม
  • ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เงินบาทแข็งค่าเข้าสู่แดนที่แข็งค่ามากเกินไป แต่ต้องดูว่าการปรับตัวของตลาดเป็นอย่างไร และจำเป็นต้องใช้มาตรการต่างๆ ที่มีอยู่หรือไม่ ในจังหวะที่เหมาะสมอย่างไร เพราะทุกมาตรการมีผลดีผลเสียและผลกระทบในระยะยาว ดังนั้น การจะใช้มาตรการบางครั้งต้องให้เวลาตลาดปรับตัวด้วย อย่างไรก็ตาม การที่เงินบาทแข็งค่ามาจากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่มีความเข้มแข็งในระดับหนึ่งทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่น จึงไม่น่าแปลกที่เงินบาทจะแข็งค่าขึ้นมาเกินพื้นฐาน พร้อมกล่าวเตือนให้นักลงทุนในตลาดต้องใช้ความระมัดระวังในการลงทุน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ค่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องจากระดับ 30.33 บาท/ดอลลาร์สหรัฐในช่วงต้นปี 56 มาอยู่ที่ระดับ 28.70 บาท/ดอลล่าร์สหรัฐ คิดเป็นการแข็งค่าขึ้นร้อยละ 5.4 ภายในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบภาคการส่งออกเนื่องจากทำให้ราคาสินค้าของไทยสูงขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศคู่แข่งสำคัญ และส่งผลให้สูญเสียความสามารถทางการแข่งขันในตลาดโลก นอกจากนั้น ประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดคือเรื่องการเก็งกำไรค่าเงินบาทของนักลงทุนต่างประเทศ ซึ่งนอกจากจะทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเกินปัจจัยพื้นฐานแล้วยังจะทำให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินอีกด้วย ทั้งนี้ สศค.ได้ปรับลดคาดการณ์มูลค่าการส่งออกสินค้าในปี 56 ลงเหลือขยายตัวร้อยละ 9.0 (คาดการณ์ ณ มี.ค. 56)
2. นักเศรษฐศาสตร์เชื่อเศรษฐกิจไทย 3 - 6 เดือนยังสดใส
  • ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 31 แห่ง จำนวน 60 คน เรื่อง "ดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ต่อเศรษฐกิจไทยใน 3 - 6 เดือนข้างหน้า" โดยผลสำรวจพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักเศรษฐศาสตร์ต่อสถานะเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 56.68 จุด ลดลง 0.07 จุด แต่ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่า 50 เป็นครั้งที่สองติดต่อกัน แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในสถานะแข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง และในอีก 3 และ 6 เดือนข้างหน้าดัชนีฯ ยังอยู่ในระดับที่สูงกว่า 50 แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มเศรษฐกิจของไทยที่สดใสอย่างต่อเนื่อง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 56 คาดว่าจะได้รับปัจจัยบวกจากอุปสงค์ภายในประเทศที่จะยังคงขยายตัวได้ดีตามการบริโภคและการลงทุนทั้งในภาครัฐและเอกชน โดยปัจจัยสำคัญมาจากการที่ภาคเอกชนได้อานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ได้แก่ มาตรการการเพิ่มค่าแรงรายวันขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศ และโครงการรับจำนำข้าวที่ส่งผลโดยตรงต่อกลุ่มแรงงานและครัวเรือนในระดับฐานราก นอกจากนี้ การลงทุนภาครัฐก็มีแนวไน้มขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 14.2 จากรายจ่ายงบประมาณและรายจ่ายตามแผนบริหารจัดการน้ำของภาครัฐวงเงินลงทุนรวม 3.5 แสนล้านบาท ที่เริ่มทยอยลงทุนได้มากขึ้นตั้งแต่ต้นปี 56 อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังคงได้รับความความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 56 จะขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 5.3 โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 4.8 - 5.8 (คาดการณ์ ณ มี.ค.56)
3. นักวิเคราะห์คาดจีนเตรียมปรับลดราคาน้ำมัน 25 เม.ย.นี้ ตามราคาตลาดโลก
  • สำนักข่าวซินหัวเผยว่า บริษัทเจวายดี ออนไลน์ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการข้อมูลด้านการตลาด คาดการณ์ว่า คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน (NDRC) เตรียมปรับลดราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันในประเทศในวันพฤหัสบดีนี้ ตามการปรับตัวลงของราคาน้ำมันดิบทั่วโลก โดยราคาน้ำมันเบนซินจะลดลง 400 - 500 หยวน/ตัน หรือประมาณ 0.3 หยวนต่อลิตร นอกจากนี้ ยังระบุว่าราคาน้ำมันดิบในต่างประเทศลดลงราว 6% ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา และคาดว่า NDRC จะประกาศปรับลดราคาน้ำมันในบ่ายวันพุธนี้ ซึ่งจะมีผลในวันรุ่งขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า นอกเหนือจากปัจจัยการลดลงของราคาน้ำมันดิบโลกแล้ว ราคาน้ำมันในจีนยังได้รับปัจจัยกดดันจากภาวะอุปสงค์ในประเทศที่ชะลอตัวลงตามการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีน (อัตราการขยายตัวของ GDP ของจีนชะลอลงแตะร้อยละ 7.7 ในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ จากร้อยละ 7.9 ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปีที่แล้ว) นอกจากนี้ รัฐบาลจีนจำเป็นต้องรับมือต่อข้อร้องเรียนในเรื่องราคาน้ำมันในช่วงที่ผ่านมา โดยยอมผ่อนคลายการควบคุมราคาของภาครัฐ ด้วยวิธีการตัดลดระยะเวลาสำหรับการพิจารณาปรับเปลี่ยนราคาให้สั้นลง เพื่อให้ระดับราคาขายปลีกสามารถสะท้อนภาพการเปลี่ยนแปลงในตลาดน้ำมันโลกได้ดียิ่งขึ้น และเป็นปัจจัยช่วยลดการเก็งกำไรของพวกผู้ขายส่งลงไป

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ