รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 22 เมษายน 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 22, 2013 11:14 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 22 เมษายน 2556

Summary:

1. พาณิชย์ เผยนายกฯสั่งปรับแผนส่งออก H2/56 หวังรักษาเป้าที่ร้อยละ 8-9

2. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ภาคอสังหาริมทรัพย์ ในไตรมาสที่ 1 ปี 56 อยู่ที่ระดับ 57.8

3. IMF ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลก แต่ยังคงให้มุมมองบวกต่อภูมิภาคอาเซียนและไทย

Highlight:

1. พาณิชย์ เผยนายกฯสั่งปรับแผนส่งออก H2/56 หวังรักษาเป้าที่ร้อยละ 8-9
  • รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายให้กระทรวงพาณิชย์เร่งปรับแผนการทำงานใหม่เพื่อกระตุ้นการส่งออกในช่วงไตรมาส 3 และ ไตรมาส 4 ของปีนี้ เพื่อรักษาเป้าหมายมูลค่าการส่งออกให้เติบโตได้ที่ร้อยละ 8-9 แม้ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานได้เริ่มประกาศปรับลดเป้าหมายการส่งออกสินค้าไทยปีนี้ลงแล้วก็ตาม อย่างไรก็ตาม วันที่ 26 เม.ย.56 จะมีการประชุมร่วมกับคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ถึงผลกระทบของค่าเงินบาทแข็งค่าที่มีต่อภาคการส่งออก เพื่อให้ทำงานร่วมกันได้สะดวกขึ้น และมีข้อมูลในการแก้ปัญหาที่ชัดเจนมากขึ้น
  • สศค.วิเคราะห์ว่า ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา เงินบาทได้แข็งค่าอย่างรวดเร็ว ทำให้มีความกังวลต่อภาคการส่งออกของไทย อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลล่าสุดในช่วง 2 เดือนแรก พบว่าการส่งออกยังสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 4.1 แต่หากหักทองคำที่มีความผันผวนออกพบว่าการส่งออกยังขยายตัวได้ร้อยละ 8.4 โดยการส่งออกขยายตัวได้ดีในสินค้าประเภทยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่มีการขยายตัวร้อยละ 20.9 และ 12.3 ในช่วง 2 เดือนแรกตามลำดับ ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรมีการหดตัวร้อยละ -7.2 จากการหดตัวของน้ำตาลทราย และผลไม้กระป๋อง เป็นหลัก ทั้งนี้ สศค. มองภาพรวมการส่งออกในปี 56 จะสามารถขยายตัวได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า เนื่องจากคาดว่าเศรษฐกิจโลก จะมีการฟื้นตัวดีขึ้นจากปีก่อน อย่างไรก็ดี สถานการณ์ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่ายังคงเป็นปัจจัยหลักที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ ภาวะแล้ง และความไม่สงบในส่วนต่างๆของโลก ยังคงเป็นอีกสองปัจจัยที่อาจส่งผลต่อการส่งออกไทยในอนาคต
2. ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอสังหาริมทรัพย์ ในไตรมาสที่ 1 ปี 56 อยู่ที่ระดับ 57.8
  • ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอสังหาริมทรัพย์ ในไตรมาสที่ 1 ปี 56 อยู่ที่ระดับ 57.8 ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 4 ปี 55 ที่อยู่ที่ระดับ 56.8 ตามยอดขาย การลงทุนในประเทศ และการจ้างงานที่ดีขึ้น ทั้งนี้ เมื่อแยกประเภทผู้ประกอบการ พบว่าผู้ประกอบการที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อยู่ที่ระดับ 62.2 ขณะที่ผู้ประกอบการที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อยู่ที่ระดับ 53.3
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอสังหาริมทรัพย์ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง บ่งชี้ว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในไตรมาสที่ 1 ปี 56 ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 32.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สอดคล้องกับยอดขายปูนซิเมนต์ที่ขยายตัวร้อยละ 15.6 ในช่วง 2 เดือนแรกปี 56 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวต่อเนื่องของอุปสงค์ภายในประเทศจากปี 55 โดยเฉพาะการลงทุนในส่วนของภูมิภาคที่มีการเพิ่มการลงทุน เพื่อสนันสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในเขตเศรษฐกิจสำคัญ โดยเฉพาะภาคเหนือ ตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ทั้งนี้ คาดว่า ในปี 56 การลงทุนภาคเอกชนที่แท้จริง จะขยายตัวร้อยละ 9.3 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ร้อยละ 8.3 - 10.3) คาดการณ์ ณ เดือนมี.ค. 56
3. IMF ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลก แต่ยังคงให้มุมมองบวกต่อภูมิภาคอาเซียนและไทย
  • กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ได้ทำการปรับประมาณการเศรษฐกิจโลกในปี 56 ลงมาอยู่ที่ร้อยละ 3.3 จากที่เคยประเมินไว้ที่ร้อยละ 3.5 ในครั้งก่อน จากปัจจัยลบหลักๆ เช่น ปัญหาการว่างงานและปัญหาหนี้สาธารณะของยูโรโซนที่ยังแก้ไม่ได้ และการตัดลดงบประมาณของสหรัฐฯ ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก โดย IMF ได้ทำการปรับลดอัตราการเติบโตของภูมิภาคหลักๆของโลกลง ได้แก่ สหรัฐฯ (จากร้อยละ 2.1 เป็น 1.9) กลุ่มยูโรโซน (จากร้อยละ -0.1เป็น -0.3) จีน (จากร้อยละ 8.1เป็น 8.0) บราซิล (จากร้อยละ 3.5 เป็น 3.0) รัสเซีย (จากร้อยละ 3.7เป็น 3.4) และอินเดีย (จากร้อยละ 5.9เป็น 5.7) ขณะที่ญี่ปุ่นที่มีการประกาศดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ได้ถูกปรับอัตราการเติบโตในปีนี้ขึ้นจากร้อยละ 1.2 เป็น 1.6 เช่นเดียวกันกับเศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียนที่กำลังมีการเติบโตที่ดีได้ถูกปรับประมาณการขึ้นจากร้อยละ 5.6 เป็น 5.9
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจ 14 ประเทศคู่ค้าสำคัญในปี 56 คาดว่าจะเติบโตที่ร้อยละ 3.8 (คาดการณ์ ณ เดือนมี.ค. 56) ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับประมาณการของ IMF จะพบว่า IMF มีมุมมองในแง่ลบต่อเศรษฐกิจรายประเทศมากกว่าเป็นส่วนใหญ่ โดยมีเพียง 3 ประเทศเท่านั้นที่ IMF ประมาณการการเติบโตไว้มากกว่า สศค. ได้แก่ ญี่ปุ่น (ร้อยละ 1.6) ฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 6.0) และ ไทย ที่มองว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตที่ร้อยละ 5.9 ในปี 56 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการฟื้นตัวจากภาวะอุทกภัยใหญ่เมื่อปลายปี 54 ขณะที่ สศค. ประมาณการว่าไทยจะเติบโตได้ที่ร้อยละ 5.3 จากแรงส่งด้านการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนในประเทศ ชดเชยการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากกว่าประเทศคู่ค้าอย่างเห็นได้ชัด

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ