Macro Morning Focus ประจำวันที่ 19 เมษายน 2556
1. ส.อ.ท. เผยส่งออกรถยนต์และยอดขายรถยนต์ในประเทศ มี.ค. 56 สูงสุดในรอบกว่า 20 ปี
2. ราคาบ้านใหม่จีนเดือน มี.ค. 56 ขยายตัวต่อเนื่องอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 19 เดือน
3. การส่งออกของญี่ปุ่นในเดือน มี.ค. 56 กลับมาขยายตัวอีกครั้ง ขณะที่การนำเข้าญี่ปุ่นขยายตัวชะลอลง
Highlight:
- รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยยอดการส่งออกรถยนต์ในเดือน มี.ค. 56 มีจำนวน 102,742 คัน ทำลายสถิติสูงสุดเกินกว่า 1 แสนคัน และเป็นยอดส่งออกที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยคิดเป็นการขยายตัว ร้อยละ 14.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ด้วยมูลค่า 44,548.28 ล้านบาท หรือขยายตัวร้อยละ 5.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ ในช่วงไตรมาสแรกของปี 56 มียอดส่งออกรถยนต์รวม 283,966 คัน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 28.7 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ด้วยมูลค่าการส่งออก 125,641.35 ล้านมบาท หรือขยายตัวร้อยละ 22.3 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศเดือน มี.ค. 56 มีจำนวนทั้งสิ้น 156,951 คัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ หรือคิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 41.4 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากการทยอยส่งมอบรถยนต์ให้กับผู้จองรถยนต์ไว้ในโครงการรถยนต์ใหม่คันแรกตามนโยบายรัฐบาล ทั้งนี้ ตั้งแต่เดือน ม.ค. - มี.ค. 56 ยอดขายรถยนต์ในประเทศรวมแล้วมีจำนวน 412,680 คัน เพิ่มขึ้นจากปี 55 ร้อยละ 47.7
- สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกรถยนต์ที่ขยายตัวดี ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยด้านอุปทานที่ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ดำเนินการผลิตเต็มกำลังการผลิต (เดือนก.พ. 56 อัตราการใช้กำลังการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์อยู่ที่ร้อยละ 103.4) อีกทั้งอุปสงค์ของการสินค้ายานยนต์ส่งออกของไทยมีแนวโน้มดี ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะตลาดออสเตรเลีย (สัดส่วนการส่งออกร้อยละ 16.3 ของมูลค่าส่งออกยานต์รวมของไทยในปี 55) อินโดนีเซีย (สัดส่วนร้อยละ 13.1) และญี่ปุ่น (สัดส่วนร้อยละ 7.2) ที่เป็นตลาดส่งออกสินค้ายานยนต์ที่สำคัญของไทย ในขณะที่ยอดขายรถยนต์ภายในประเทศยังขยายตัวดีต่อเนื่อง จากนโยบายภาครัฐที่เอื้อให้ผู้บริโภคซื้อรถยนต์ อีกทั้งผู้บริโภคมีความนิยมรถยนต์ขยาดกลางและเล็กมากขึ้นเพื่อประหยัดพลังงาน ตลอดจนเศรษฐกิจภายในประเทศที่ขยายตัวดีเอื้อให้ผู้บรโภคสามารถตัดสินใจซื้อสินค้าคงทน (Durable goods) ซึ่งรวมถึงรถยนต์ได้มากขึ้น ทั้งนี้ การส่งออกสินค้ายานยนต์ที่ขยายตัวดี จะเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในอนาคต ในขณะที่ยอดขายในประเทศที่สูง จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนการบริโภคภาคเอกชนโดยเฉพาะในหมวดสินค้าคงทนต่อไป
- ราคาบ้านใหม่จีนเดือน มี.ค. 56 ขยายตัวต่อเนื่องอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 19 เดือนที่ร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ผลจากราคาบ้าน 68 ใน 70 เมืองปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่ราคาบ้านอีก 2 เมืองที่เหลือปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน โดยเฉพาะราคาบ้านในเมืองใหญ่ อาทิ กวางเจา เสิ่นเจิ้น ปักกิ่ง ที่ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 11.0 8.9 และ 8.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ
- สศค. วิเคราะห์ว่า ราคาบ้านใหม่ของจีนในเดือน มี.ค. 56 ขยายตัวเร่งขึ้นมาก สูงกว่าอัตราการขยายตัวเฉลี่ยรายเดือนของราคาบ้านใหม่ปี 55 ซึ่งหดตัวร้อยละ -0.87 อันเป็นผลมาจากประชาชนเร่งทำธุรกรรมการซื้อขายบ้านให้เสร็จสิ้น หลังจากที่รัฐบาลประกาศว่าจะนำมาตรการเก็บภาษีกำไรจากการขายอสังหาริมทรัพย์ (Capital Gain Tax) กลับมาใช้อีกครั้ง โดยจะเรียกเก็บในอัตราร้อยละ 20 ซึ่งรัฐบาลจีนเคยใช้มาตรการดังกล่าวมาแล้วในปี 37 ทดแทนการเก็บภาษีขายอสังหาริมทรัพย์ร้อยละ 1 - 2 ของราคาขาย ทั้งนี้ ทางการจีนยังไม่มีการระบุเวลาบังคับใช้ ทำให้ประชาชนเร่งทำธุรกรรมดังกล่าว นอกจากนี้ รัฐบาลกลางยังให้รัฐบาลท้องถิ่นกำหนดมาตรการควบคุมการขยายตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ และส่งให้รัฐบาลกลางพิจารณาในวันที่ 1 เม.ย. 56 ที่ผ่านมา ซึ่งการดำเนินการของรัฐบาลในครั้งนี้เป็นการเพิ่มความเข้มข้นของนโยบายป้องกันภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 2 ปี เนื่องจากตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา ราคาบ้านก็กลับขยายตัวในอัตราเร่งจากเดือนก่อนอย่างต่อเนื่อง หลังจากรัฐบาลจีนเริ่มดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
- มูลค่าการส่งออกของญี่ปุ่นในเดือน มี.ค. 56 ขยายตัวร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เป็นการกลับมาขยายตัวอีกครั้ง หลังจากหดตัวร้อยละ -2.9 ในเดือนก่อน ขณะที่มูลค่าการนำเข้าขยายตัวร้อยละ 5.5 ซึ่งชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 11.9 การนำเข้าที่เร่งขึ้นมากในขณะที่การส่งออกยังคงอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ในเดือน มี.ค. 56 ญี่ปุ่นขาดดุลการค้า 362.4 พันล้านเยน ซึ่งลดลงจากเดือนก่อนที่ขาดดุล 779.4 พันล้านเยน
- สศค. วิเคราะห์ว่า การส่งออกของญี่ปุ่นกลับมาขยายตัวอีกครั้ง จากการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ที่ขยายตัวร้อยละ 7.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน และประเทศในเอเชียตะวันออกด้วยกัน เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ที่ขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 7.3 และ 8.4 ตามลำดับ ซึ่งอาจเป็นผลจากเศรษฐกิจคู่ค้าหลักเช่นสหรัฐฯ (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.6 ของมูลค่าการส่งออกรวมของญี่ปุ่นปี 55) เริ่มฟื้นตัว ประกอบกับค่าเงินเยนที่มีแนวโน้มอ่อนค่าลงตั้งแต่ต้นปี 56 (โดยรวมในไตรมาสที่ 1 ปี 56 ค่าเงินเยนอ่อนค่าลงมากถึงกว่าร้อยละ 5.0 ) ทำให้สินค้าญี่ปุ่นได้เปรียบในด้านราคา ในส่วนของการนำเข้าที่ยังคงขยายตัวมาจากการนำเข้าจากการคาดการณ์ของผู้บริโภคญี่ปุ่นว่าเศรษฐกิจจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาตั้งแต่เดือน ม.ค. 56 (ในเดือนมี.ค. 56 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคอยู่ที่ระดับ 44.8 จุด ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 6 ปี) ซึ่งทำให้ชาวญี่ปุ่นบริโภคเพิ่มขึ้น และส่งผลให้การนำเข้าเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ สศค. คาดการณืว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 56 นี้จะขยายตัวร้อยละ 1.5 (คาดการณ์ ณ มี.ค. 56)
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257