รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 11 เมษายน 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 11, 2013 11:50 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 11 เมษายน 2556

Summary:

1. ADB เตือนลงทุนภาครัฐล่าช้ากระทบต่อเศรษฐกิจไทย

2. กรุงเทพโพลล์ เผย นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเกือบ 70 % ตั้งใจจะเข้าร่วมเทศกาลสงกรานต์

3. การส่งออกของเยอรมนีในเดือน ก.พ. 56 หดตัวร้อยละ -1.5 ขณะที่การนำเข้าลดลงร้อยละ -3.8

Highlight:

1. ADB เตือนลงทุนภาครัฐล่าช้ากระทบต่อเศรษฐกิจไทย
  • ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB ) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปี 56-57 จะเติบโตได้ต่อเนื่องร้อยละ 4.9 และร้อยละ 5 ตามลำดับ จากปัจจัยอุปสงค์ในประเทศและโครงการลงทุนด้านบริหารจัดการน้ำและการคมนาคมของรัฐบาล โดยการลงทุนในช่วงแรกจะส่งผลต่อ GDP ไม่ถึงร้อยละ 1 แต่หากในช่วงหลังมีการเบิกจ่ายได้มากขึ้นก็จะช่วยให้ GDP เพิ่มขึ้นได้อย่างน้อยร้อยละ 1 อย่างไรก็ดี ในช่วง 2 ปีข้างหน้าเศรษฐกิจไทยอาจเผชิญความเสี่ยงคือ การลงทุนของภาครัฐที่ล่าช้า และการไหลเข้าของเงินทุนที่ส่งผลให้เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นจนอาจทำลายขีดความสามารถแข่งขันด้านการส่งออกของไทย สำหรับความท้าทายทางด้านนโยบายที่สำคัญของไทยในระยะกลางคือ การลงทุนของภาครัฐที่น้อยเกินไปเพียงร้อยละ 10-11 ของ GDP ประสิทธิภาพในการบริหารจัดการภาครัฐ ความโปร่งใสในการตรวจสอบได้และการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยในปี 56 มีแรงขับเคลื่อนหลักจากอุปสงค์ในประเทศและการลงทุนภาครัฐที่มีแผนการลงทุนต่างๆ ชัดเจนขึ้น โดยแผนบริหารจัดการน้ำในระยะยาวของภาครัฐวงเงินลงทุนรวม 3.5 แสนล้านบาท ขณะที่ร่าง พ.ร.บ. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... วงเงิน 2 ล้านล้านบาท ซึ่งมีแผนการลงทุนในช่วงปี 2556-2563 ซึ่งร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวถือเป็นยุทธศาสตร์การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ และจะส่งผลสำคัญต่อประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจและการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสะท้อนจากรายงานประจำปี 2011-2012 เกี่ยวกับศักยภาพการแข่งขันของประเทศต่างๆ ทั่วโลกของ World Economic Forum (WEF) ที่ได้จัดอันดับความสามารถแข่งขันของไทยไว้ที่ลำดับ 38 จากประเทศต่างๆ จำนวน 144 ประเทศ ซึ่งเป็นลำดับที่ตามหลังสิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน ทั้งนี้ แผนการลงทุนต่างๆ ของภาครัฐถือเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป และจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่แท้จริง (Real GDP) ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากกรณีที่ไม่มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเฉลี่ยในช่วงปี 2556-2563 ร้อยละ 1.0 ต่อปี และมีการจ้างงานรวมของประเทศเพิ่มขึ้นประมาณ 5 แสนตำแหน่ง
2. กรุงเทพโพลล์ เผยนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเกือบ 70 % ตั้งใจจะเข้าร่วมเทศกาลสงกรานต์
  • ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์)จึงได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเรื่อง "นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติกับเทศกาลสงกรานต์ในประเทศไทย ปี 2556 " โดยเก็บข้อมูลเมื่อวันที่ 2 - 4 เม.ย. ที่ผ่านมา พบว่าสิ่งที่โดดเด่นของประเทศไทยและทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอยากมาท่องเที่ยวมากกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียนมากที่สุดคือ โบราณสถานและโบราณวัตถุ (ร้อยละ 26.9 ) รองลงมาคือ แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ (ร้อยละ 24.4 ) และวัฒนธรรมประเพณีและศิลปะพื้นบ้าน (ร้อยละ 14.5) เมื่อถามถึงความตั้งใจเข้าร่วมเทศกาลสงกรานต์ที่กำลังจะมาถึงนี้ พบว่านักท่องเที่ยวชาวต่างชาติส่วนใหญ่ร้อยละ 69.9 ตั้งใจว่าจะเข้าร่วมโดยสถานที่ที่ตั้งใจว่าจะไปร่วมงานเทศกาลสงกรานต์มากที่สุดคือ เชียงใหม่ (ร้อยละ 14.9 ) รองลงมาคือ ภูเก็ต (ร้อยละ 10.3 ) และถนนข้าวสาร (ร้อยละ 8.4 ) ขณะที่ร้อยละ 30.1 คิดว่าจะไม่เข้าร่วมทั้งนี้เมื่อถามผู้ที่ตั้งใจจะเข้าร่วมเทศกาลสงกรานต์ว่ามีความกังวลใจเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
  • สศค. วิเคราะห์ว่าเทศกาลสงกรานต์เป็นเทศการปีใหม่ของไทยที่เป็นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เป็นอย่างดี จากข้อมูลของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.)พบว่าการเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากสถิติเปรียบเทียบระหว่างปี 2554 กับ 2555 พบว่ามีอัตราการเติบโตของการเดินทางเข้าออกประเทศ เฉลี่ยสูงขึ้นประมาณร้อยละ 10-15 ต่อปีโดยคาดว่าช่วงเทศกาลท่องเที่ยวในประเพณีสงกรานต์ปี 2556 จะมีแนวโน้มนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าออกประเทศกว่าวันละ 150,000 คนโดยเฉพาะทางท่าอากาศยานสุวรรณภูมินอกจากนี้ จากข้อมูลล่าสุดนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนก.พ.56 มีจำนวนทั้งสิ้น 2.3 ล้านคนขยายตัวร้อยละ25.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและขยายตัวร้อยละ 6.0 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนก่อนหน้าหลังหักผลทางฤดูกาล (m-o-m SA)โดย 3 อันดับแรกที่มีการขยายตัวได้ดีมาจากนักท่องเที่ยวจีน มาเลเซีย และรัสเซีย ขยายตัวร้อยละ 162.8 28.3 และ 31.9 ตามลำดับ
3. การส่งออกของเยอรมนีในเดือน ก.พ. 56 หดตัวร้อยละ -1.5 ขณะที่การนำเข้าลดลงร้อยละ -3.8
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนี รายงานว่า การส่งออกของเยอรมนีในเดือน ก.พ. 56 หดตัวร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อปรับผลทางฤดูกาล หดตัวร้อยละ -1.5 ขณะที่การนำเข้าขยายตัวร้อยละ 5.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อปรับผลทางฤดูกาล หดตัวร้อยละ -3.8 ส่งผลให้ยอดเกินดุลการค้าอยู่ที่ 1.71 หมื่นล้านยูโร เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ 1.56 หมื่นล้านยูโร
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจของเยอรมันมีสัญญาณเติบโตในอัตราชะลอลง โดยล่าสุด GDP ในไตรมาสที่ 4 ปี 55 ขยายตัวร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสแดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.4 และเมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้ว หดตัวร้อยละ -0.6 ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.2 จากผลของการส่งออกที่หดตัวลงเป็นสำคัญ โดยการส่งออกหดตัวร้อยละ -2.0 ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 1.5 ทั้งนี้ สถานการณ์การส่งออกที่หดตัวลงของเยอรมนีสะท้อนถึงเศรษฐกิจของยูโรโซนที่ยังคงอยู่ในภาวะหดตัวจากปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะยุโรป เนื่องจากยูโรโซนถือเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของเยอรมัน อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาสถานการณ์ของภาคการผลิตล่าสุด พบว่ามีสัญญาณการขยายตัว โดยล่าสุด คำสั่งซื้ออุตสาหกรรมและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือน ก.พ. 56 ขยายตัวร้อยละ 2.3 และร้อยละ 0.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามลำดับ อีกทั้งเศรษฐกิจของเยอรมันยังคงมีปัจจัยสนับสนุนจากการบริโภคภาคเอกชนและการบริโภคภาครัฐบาลที่ยังสามารถเติบโตได้ โดยในไตรมาสที่ 4 ปี 55 เมื่อปรับผลทางฤดูกาลแล้ว ขยายตัวร้อยละ 0.1 และร้อยละ 0.4 ตามลำดับทั้งนี้ เศรษฐกิจของเยอรมันโดยรวมยังถือว่ามีความแข็งแกร่งโดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ถือเป็นภาคอุตสาหกรรมที่สร้างรายได้เข้าประเทศเป็นอันดับหนึ่ง ทั้งนี้ สศค. คาดว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของยูโรโซนในปี 56 จะหดตัวร้อยละ -0.2 (คาดการณ์ ณ เดือน มี.ค. 56)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ