รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 9 เมษายน 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 9, 2013 13:35 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 9 เมษายน 2556

Summary:

1. สภาอุตสาหกรรมคาดราคาสินค้าเตรียมปรับตัวสูงขึ้น พิษค่าแรง 300 บาท

2. เกษตรฯ เผยกาตาร์ปลดล็อคห้ามนำเข้าเนื้อไก่จากไทยแล้ว

3. วัฒนธรรมสะสมทองคำทำลายเศรษฐกิจอินเดีย

Highlight:

1. สภาอุตสาหกรรมคาดราคาสินค้าเตรียมปรับตัวสูงขึ้น พิษค่าแรง 300 บาท
  • รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า ในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้มีโอกาสที่จะเห็นผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมปรับราคาสินค้าในประเทศขึ้นตามภาระต้นทุนที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน ซึ่งภาระค่าแรงดังกล่าวยังส่งผลให้ต้นทุนวัตถุดิบปรับขึ้นคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 10 -15 และคงปรับขึ้นในสินค้าอุปโภคบริโภคทุกประเภท ซึ่งจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระดับการใช้แรงงาน โดยเป็นสินค้าที่ใช้แรงงานมาก อาจจะปรับขึ้นได้ถึงร้อยละ 15 โดยการปรับเป็นไปได้ 3 รูปแบบ คือ 1.ขึ้นราคาในปริมาณสินค้าเท่าเดิม 2. ทั้งขึ้นราคาและลดปริมาณ และ 3. ลดปริมาณลงและขายในราคาเท่าเดิม
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของสินค้าและบริการที่พึ่งพาแรงงานเข้มข้น (Labour intensive goods) เช่น สินค้าประมง สินค้าหัตถกรรม และการก่อสร้าง ฯลฯ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) จะได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ทั้งนี้การปรับเพิ่มราคาควรสะท้อนต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจริงเพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้บริโภคและผู้ผลิต โดยกระทรวงพาณิชย์จะมีหน้าที่ควบคุมการปรับเพิ่มราคาของสินค้ารายการสำคัญต่างๆ อย่างไรก็ดี พบว่าอัตราเงินเฟ้อในช่วงไตรมาส 1/56 อยู่ที่ร้อยละ 3.1 ซึ่งเป็นระดับที่เหมาะสมกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยและไม่พบการปรับขึ้นราคาสินค้าอย่างผิดปกติหลังมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในช่วงต้นปี ทั้งนี้คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 56 จะอยู่ที่ร้อยละ 3.0
2. เกษตรฯ เผยกาตาร์ปลดล็อคห้ามนำเข้าเนื้อไก่จากไทยแล้ว
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เผยว่า การพบเชื้อไข้หวัดนกชนิดH7N9 ในประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ส่งผลให้มีผู้ป่วยและเสียชีวิตขณะนี้ไม่ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการผลิตและส่งออกไก่สดของไทยแต่อย่างใดซึ่งจะเห็นได้จากมีหน่วยงานจากต่างประเทศเดินทางมาตรวจประเมินระบบการควบคุมการผลิตสัตว์ปีกของประเทศไทย เพื่อจะได้อนุญาตให้นำเข้าเนื้อสัตว์ปีกสดได้อีกครั้ง และล่าสุดขณะนี้ประเทศกาตาร์ได้ประกาศยกเลิกมาตรการห้ามนำเข้าสัตว์ปีกจากไทยแล้ว
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การยกเลิกมาตรการห้ามนำเข้าสัตว์ปีกจากไทย จะทำให้ไทยสามารถส่งออกเนื้อไก่สด รวมทั้งผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ได้มากขึ้นและยังเป็นการช่วยลดปัญหาสินค้าล้นตลาดอีกด้วย ซึ่งไก่นับเป็นสินค้าหลักในหมวดสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าการส่งออกสูง โดยการส่งออกไก่แปรรูปและไก่สดแข่แข็ง มีสัดส่วนประมาณร้อยละ 2.0 ของมูลค่าการส่งออกรวม โดยจากข้อมูลล่าสุด เดือน ก.พ. 56 พบว่าการส่งออกไก่แปรรูปมีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 149.82 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นการส่งออกไปยัง ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ และสิงคโปร์เป็นหลัก ในขณะที่มูลค่าการส่งออกไก่สดแช่แข็งเดือน ก.พ. 56 มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 17.67 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นการส่งออกไปยัง ลาว เนเธอร์แลนด์ มาเลเซีย และฮ่องกงเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการควรมองหาตลาดใหม่เพื่อกระจายความเสี่ยง
3. วัฒนธรรมสะสมทองคำทำลายเศรษฐกิจอินเดีย
  • ความนิยมชมชอบในทองคำของอินเดียกำลังกลายมาเป็นภัยคุกคามต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งนี้การที่ผลตอบแทนจากการเข้าซื้อทองคำ พุ่งแซงหน้าการลงทุนประเภทอื่นๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้บรรดาผู้ซื้อทองไม่อยากจะไปหาทางเลือกการลงทุนประเภทอื่นๆ ซึ่งความต้องการทองคำนี้ ทำให้อินเดียต้องเจอกับการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 6.7 ของจีดีพี ในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว ซึ่งที่ผ่านมาอินเดียพยายามที่จะควบคุมการนำเข้าทองคำ เพื่อยับยั้งการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดดังกล่าว ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าทองคำร้อยละ6เมื่อเดือนมกราคม56
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ผลจากการที่รัฐบาลอินเดียมีนโยบายประกันเงินฝากไว้ที่ระดับเพดาน 2,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ประชาชนอินเดียเห็นว่าการฝากธนาคารมีความเสี่ยงมากขึ้น และหันมาสะสมทองคำแทน ซึ่งกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ โดยส่งผลทำให้มีเงินออมในระบบน้อย ต้นทุนของการลงทุนสูง และมีการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์น้อย ตลอดจนทำให้วิสาหกิจต่างๆ หาเงินลงทุนได้ยากขึ้น ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ (อินเดียมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจชะลอลงจากร้อยละ 9.0 ในปี 54 เหลือร้อยละ 6.2 ในปี 55) ดังนั้น นอกเหนือไปจากมาตรการการขี้นภาษีนำเข้าทองคำดังกล่าวแล้ว รัฐบาลอินเดียจำเป็นต้องสนับสนุนให้ชาวอินเดียกระจายการลงทุนให้กว้างขึ้น ทั้งในระบบเงินฝาก สหกรณ์ พันธบัตร กองทุนรวม ตราสารหนี้ และตลาดหลักทรัพย์

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ