รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 5 เมษายน 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 5, 2013 10:39 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 5 เมษายน 2556

Summary:

1. หอการค้าไทยเผย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มี.ค . 56 อยู่ที่ระดับ 75.0 จุด

2. ยอดค้าปลีกออสเตรเลียเดือน ก.พ. 56 ขยายตัวร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน

3. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อยูโรโซนเดือน มี.ค. 56 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 46.5 จุด จาก 47.9 ในเดือนก่อน

Highlight:

1. หอการค้าไทยเผย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน มี.ค . 56 อยู่ที่ระดับ 75.0 จุด
  • ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมเดือน มี.ค . 56 อยู่ที่ระดับ 75.0 จุด เพิ่มขึ้นจากระดับ 74.3 จุด ในเดือน ก.พ. 56 สาเหตุจากราคาน้ำมันในประเทศลดลง ตลอดจนรายได้ของประชาชนปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังคงกังวลกับเงินบาทที่แข็งค่าเร็ว และวิกฤติไฟฟ้าในเดือน เม.ย.56 รวมถึงการส่งออกที่มลดลง และความไม่แน่นอนทางการเมืองในอนาคต
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยโดยรวมปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือน ต.ค. 55 จากความเชื่อมั่นในภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ส่งผลให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจาก GDP ไตรมาส 4 ปี 55 ขยายตัวได้สูงถึง 18.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือร้อยละ 3.6 จากไตรมาสก่อนหน้า (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) อีกทั้งเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนในช่วง 2 เดือนแรกของปี 56 ยังคงบ่งชี้การขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในช่วงเดือน ม.ค. - ก.พ. 56 ขยายตัวดีที่ร้อยละ 10.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ผลจากยอดจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่เก็บได้จากการใช้จ่ายในประเทศ ณ ราคาคงที่ขยายตัวดีถึงร้อยละ 15.7 อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะเศรษฐกิจยูโซนที่ยังคงมีความเปราะบาง ตลอดจนวิกฤติการเมืองในคาบสมุทรเกาหลี อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และอาจส่งผลต่อการบริโภคภาคเอกชนโดยรวมในระยะต่อไปได้
2. ยอดค้าปลีกออสเตรเลียเดือน ก.พ. 56 ขยายตัวร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติออสเตรเลียประกาศว่า ยอดค้าปลีกในเดือน ก.พ. 56 มียอดรวม 19.2 พันล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน หรือขยายตัวร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน (ขจัดผลทางฤดูกาลแล้ว) บ่งชี้ภาคการบริโภคภาคเอกชนของออสเตรเลียที่ยังคงแข็งแกร่ง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ยอดค้าปลีกออสเตรเลีย เดือน ก.พ. 56 ที่ขยายตัวดีดังกล่าว เป็นผลจากการขยายตัวของยอดขายสินค้าในหมวดเครื่องนุ่งห่มและอาหารปรุงสำเร็จที่ขยายตัวดีที่ร้อยละ 2.6 และ 1.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ ทั้งนี้ ภาคการบริโภคภาคเอกชนออสเตรเลียเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจออสเตรเลีย ด้วยสัดส่วนกว่าร้อยละ 53.5 ของ GDP (สัดส่วนปี 55 ) ยอดค้าปลีกในเดือน ก.พ. 56 ที่ขยายตัวเร่งดีต่อเนื่องจึงเป็นเครื่องสะท้อนความแข็งแกร่งของอุปสงค์ภายในประเทศของออสเตรเลียได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ เครื่องชี้ทางเศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนอื่นๆ ก็มีแนวโน้มเป็นไปในทิศทางบวกเช่นเดียวกันอาทิ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ในเดือน ก.พ. 56 ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 108.3 จุด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 54 ทั้งนี้ สศค. คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจออสเตรเลียปี 56 จะขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 3.1 (ประมาณการ ณ เดือน มี.ค. 56)
3. ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อยูโรโซนเดือน มี.ค. 56 ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 46.5 จุด จาก 47.9 ในเดือนก่อน
  • ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อยูโรโซนเดือน มี.ค. 56 อยู่ในระดับต่ำกว่า 50.0 จุด ติดต่อกันเป็นเวลา 19 เดือน มาอยู่ที่ระดับ 46.5 จุด และลดลงจากเดือนก่อนที่อยู่ที่ระดับ 47.9 จุด โดยดัชนีฯ ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 46.5 และ 46.4 จุด ตามลำดับ สะท้อนว่าภาคการผลิตและบริการยูโรโซนมีทิศทางหดตัวต่อเนื่องในระยะต่อไป
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อที่สะท้อนการหดตัวต่อเนื่องดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นผลจากวิกฤตหนี้สาธารณะที่เรื้อรังต่อเนื่องมานับตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ปี 52 ที่ได้ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจจริงของประเทศที่ประสบปัญหา และลุกลามกระทบเศรษฐกิจประเทศอื่นๆในยูโรโซน แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมา ทางการยุโรปได้ออกมาตรการต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นก็ตาม อย่างไรก็ตาม ประเด็นด้านการเมืองในประเทศเศรษฐกิจสำคัญของยูโรโซน โดยเฉพาะการจัดตั้งรัฐบาลอิตาลีซึ่งไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน รวมไปถึงการเลือกตั้งของเยอรมนีที่จะมีขึ้นในเดือน ก.ย. 56 อาจส่งผลกระทบต่อความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบายแก้ปัญหาดังกล่าว นอกจากนี้ อัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับสูง และยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยล่าสุดในเดือน ก.พ. 56 อยู่ที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 12.0 ของกำลังแรงงานรวม เป็นความเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจยูโรโซน และอาจทำให้เศรษฐกิจยูโรโซนถดถอยต่อเนื่องในปี 56 ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจยูโรโซนปี 56 จะหดตัวที่ร้อยละ -0.2 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ -0.7-0.3 คาดการณ์ ณ สิ้นเดือน มี.ค. 56)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ