รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 2 เมษายน 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 2, 2013 10:41 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 2 เมษายน 2556

Summary:

1. พาณิชย์เผยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน มี.ค. 56 ชะลอตัวลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.69

2. ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการประชุม กนง. วันที่ 3 เม.ย. มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

3. ผลสำรวจเผยราคาบ้านใน 100 เมืองใหญ่ของจีนยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในเดือนมี.ค.

Highlight:

1. พาณิชย์เผยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน มี.ค. 56 ชะลอตัวลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.69
  • ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน มี.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 2.69 ลดลงจากเดือน ก.พ. 56 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.23 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปไตรมาส 1/56 เทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ร้อยละ 3.09 โดยอัตราเงินเฟ้อปี 56 คาดว่าจะยังคงอยู่ในกรอบที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ไว้ที่ร้อยละ 2.80 - 3.40 (สมมติฐานอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 28.50-32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) เนื่องจากราคาสินค้าไม่ได้สูงขึ้นมากนักและภาครัฐยังคงมาตรการดูแลและควบคุมราคาสินค้าและพลังงาน นอกจากนั้น ยังได้รับผลดีจากการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติมการต่ออายุมาตรการลดค่าครองชีพของประชาชนออกไปจนถึงเดือน ก.ย. 56
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อเดือน มี.ค. 56 ลดลงจากเดือนก่อนหน้า แสดงให้เห็นถึงแรงกดดันเงินเฟ้อที่ลดลง เนื่องจากผลของมาตรการดูแลด้านราคาของภาครัฐและการรักษาเสถียรภาพด้านราคาของธนาคารแห่งประเทศไทย อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาอัตราการขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (%mom)พบว่าดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปขยายตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.07 ลดลงมากจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 0.21 สาเหตุหลักจากสินค้าสำคัญหลายหมวดปรับตัวลดลง เช่น สินค้าในหมวดเนื้อสัตว์ ไข่ไก่ ยานพาหนะและน้ำมันเชื้อเพลิง และอาหารสำเร็จรูป โดยหดตัวร้อยละ -0.62 -0.49 -0.2 -0.1 ตามลำดับ ทั้งนี้ สศค.คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 56 จะอยู่ที่ร้อยละ 3.0 โดยมีสมมุติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบที่ 113 ดอลล่าร์/บาร์เรล ค่าเงินบาทอยู่ที่ 29.4 บาท/ดอลล่าร์สหรัฐ
2. ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการประชุม กนง. วันที่ 3 เม.ย. มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.75 เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังคงให้ภาพการขยายตัวที่ดีอยู่ ขณะที่อัตราดอกเบี้ย ณ ระดับปัจจุบันยังคงสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยแม้ว่าอาจจะช่วยบรรเทาแรงกดดันของการแข็งค่าของเงินบาทบางส่วน แต่อาจเป็นปัจจัยเร่งความร้อนแรงของระบบเศรษฐกิจ และสร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงินในระยะยาว มองไปข้างหน้า แม้ความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยอาจขึ้นอยู่กับทิศทางของค่าเงินบาทผ่านผลกระทบต่อการส่งออก แต่เชื่อว่าทางการยังมีเครื่องมือในการบริหารจัดการไม่ให้ค่าเงินบาทส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมอย่างรุนแรง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การประชุม กนง.ในวันที่ 3 เม.ย.56 จะเป็นการประชุมครั้งที่ 3 ของปี 56 โดยในครั้งนี้จะมีประเด็นสำคัญที่ใช้ประกอบการตัดสินใจเพิ่มเติม คือ เรื่องการแข็งค่าอย่างรวดเร็วของค่าเงินบาท เนื่องจากพบว่าค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็วจากระดับ 30.3 บาท/ดอลล่าร์สหรัฐในช่วงต้นปีลงมาอยู่ที่ 29.2 บาท/ดอลล่าร์สหรัฐในเดือน มี.ค. คิดเป็นการแข็งค่ากว่าร้อยละ 3.6 ภายในระยะเวลา 3 เดือน และถ้าเปรียบเทียบสกุลเงินของประเทศคู่แข่งสำคัญจะพบว่าค่าเงินสกุลอื่นๆอ่อนค่าสวนทางกับค่าเงินบาทโดยทั้งสิ้น ยกตัวอย่างเช่น สกุลเงินเยน วอน ริงกิต และดอลล่าร์สิงคโปร์ (อ่อนค่าลงร้อยละ 8.6 5.0 2.7 2.4 ตามลำดับ) ซึ่งอาจส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลกได้ เนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งจะทำให้สินค้าไทยมีราคาสูงขึ้นเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ดังนั้นประเด็นเรื่องค่าเงินบาทจะมีส่วนสำคัญต่อการประชุม กนง.ในครั้งนี้อย่างมาก ทั้งนี้ สศค.คาดว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ณ สิ้นปี 56 จะมีแนวโน้มอยู่ที่ร้อยละ 2.75 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 2.25 - 3.25 คาดการณ์ ณ ธ.ค.55)
3. ผลสำรวจเผยราคาบ้านใน 100 เมืองใหญ่ของจีนยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในเดือน มี.ค.
  • บริษัทวิจัยตลาดอสังหาริมทรัพย์โซวฟุนเปิดเผยผลสำรวจราคาบ้านใหม่ใน 100 เมืองใหญ่ของจีนปรับตัวสูงขึ้น 1.06% เมื่อเทียบรายเดือนในเดือน มี.ค. ซึ่งสูงกว่าที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.83 ในเดือน ก.พ. ขณะที่เมื่อเทียบรายปี ราคาอสังหาริมทรัพย์จีนใน 100 เมืองใหญ่ทะยานขึ้นร้อยละ 3.9 ในเดือน มี.ค. ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 10 เมื่อเทียบรายเดือน และเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 เมื่อเทียบรายปี นอกจากนี้ ราคาบ้านมือสองในย่านใจกลาง 10 เมืองใหญ่ที่สุดของจีน ซึ่งรวมถึงกรุงปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ ทะยานขึ้นร้อยละ 18.06 ในเดือน มี.ค.เมื่อเทียบกับปีก่อน และสูงขึ้นร้อยละ 2.81 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
  • สศค. วิเคราะห์ว่า หลังจากจีนมีนโยบายเปิดประเทศและนำนโยบายด้านกลไกตลาดมาใช้เศรษฐกิจจีนได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วส่งผลให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ซึ่งในระยะยาวแล้ว จีนจะยังคงเผชิญความเสี่ยงจากภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์หากผลตอบแทนจากการลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงอยู่ในระดังสูงกว่าการลงทุนประเภทอื่นๆ ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาทางการจีนได้พยายามออกมาตรการต่างๆ เพื่อจัดการดูแลฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ของตน อาทิ การกำหนดให้ผู้ซื้อบ้านหลังที่สองต้องวางเงินดาวน์ด้วยเงินของตนเองอย่างน้อยร้อยละ 40 การกำหนดเงื่อนไขในการระดมทุนจากต่างประเทศของบริษัทอสังหาฯ รวมไปถึงการกำหนดเพิ่มภาษีสำหรับกำไรที่ได้จากการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์เป็นร้อยละ 20 ที่ประกาศออกมาเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ