รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 1 เมษายน 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 1, 2013 13:38 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 1 เมษายน 2556

Summary:

1. ไทย - บังกลาเทศ ต่อ MOU ซื้อขาย "ข้าวนึ่ง" 1 ล้านตัน

2. ธปท.ชี้คอนโดฯ ชานเมืองพุ่ง พบแรงงานภาคเกษตรไหลเข้าภาคก่อสร้าง

3. ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯส่งสัญญาณที่ดีต่อเนื่องในเดือนมี.ค. 56

Highlight:

1. ไทย - บังกลาเทศ ต่อ MOU ซื้อขาย "ข้าวนึ่ง" 1 ล้านตัน
  • รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่าได้ลงนามในข้อตกลงว่าด้วยการแก้ไขบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยการซื้อขายข้าวระหว่างรัฐบาลไทยกับบังกลาเทศ เมื่อวันที่ 29 มี.ค.56 โดยรัฐบาลไทยและบังกลาเทศตกลงที่จะซื้อขายข้าวนึ่งปริมาณไม่เกิน 1 ล้านตันต่อปี โดยมีเงื่อนไขขึ้นอยู่กับสถานการณ์การผลิตข้าวของแต่ละประเทศ และระดับราคาซื้อขายในตลาดโลก ทั้งนี้ เมื่อปี 2554 กระทรวงพาณิชย์ได้ทำสัญญาซื้อขายข้าวนึ่งแบบรัฐต่อรัฐกับบังกลาเทศ 200,000 ตัน
  • สศค. วิเคราะห์ว่า จากข้อมูลด้านการส่งออกข้าวของไทยในช่วง 2 เดือนแรกของปี 56 พบว่ามีการส่งออกข้าวเป็นมูลค่า 730.42 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 2.4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยข้าวที่มีสัดส่วนส่งออกได้มากที่สุดคือ ข้าวหอม ข้าวขาว และข้าวนึ่ง ซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 40.66 33.0 และ 15.35 ตามลำดับ โดยหากพิจารณาด้านตลาดส่งออกข้าวของไทยพบว่า ตลาดหลักของไทยในช่วง 2 เดือนแรกคือ อิรัก สหรัฐฯ เบนิน ฮ่องกง และจีน ตามลำดับ ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกข้าวในปี 56 จะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า เนื่องจากรัฐมีแนวโน้มที่จะระบายข้าวที่อยู่ในคลังสินค้าจากนโยบายการจำนำข้าวในปีก่อนหน้า
2. ธปท.ชี้คอนโดฯ ชานเมืองพุ่ง พบแรงงานภาคเกษตรไหลเข้าภาคก่อสร้าง
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้รายงานภาวะอสังหาริมทรัพย์ล่าสุดในเดือน ก.พ. 56 พบว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลค่อนข้างทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า แต่ในส่วนของอาคารชุดยังคงปรับตัวสูงขึ้นทั้งด้านอุปสงค์ และอุปทาน ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาวะการเงินที่เอื้อต่อการกู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ สอดคล้องกับแรงงานภาคก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น โดยส่วนหนึ่งมาจากภาคเกษตรกรรม เนื่องจากเป็นช่วงนอกฤดูเก็บเกี่ยว ทำให้ผู้มีงานทำในภาคเกษตรกรรมหดตัวร้อยละ 0.4
  • สศค.วิเคราะห์ว่า แนวโน้มการลงทุนภาคเอกชนในปี 56 คาดว่าจะยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง (ซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 25.0 ของการลงทุนภาคเอกชนรวม) ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจในประเทศและการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยเฉพาะหัวเมืองเศรษฐกิจหลักและเมืองเศรษฐกิจเกิดใหม่ ทำให้มีการก่อสร้างเพื่อการพาณิชย์และที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นมากสะท้อนจากเครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุน อาทิ ยอดขายปูนซิเมนต์และภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ในช่วง 2 เดือนแรกปี 56 ขยายตัวร้อยละ 15.6 และร้อยละ 42.8 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ การลงทุนภาคเอกชนปี 56 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 9.3 (โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 8.3 -10.3 คาดการณ์ ณ มีนาคม 56)
3. ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯส่งสัญญาณที่ดีต่อเนื่องในเดือนมี.ค. 56
  • เศรษฐกิจสหรัฐฯได้แสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากเดือน ก.พ. 56 โดยดัชนีการผลิตทั้งภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ(Institute for Supply Management Index) บ่งชี้การขยายตัวในเดือนมี.ค. 56 ที่ระดับ 54 และ 55.8 ตามลำดับ ส่งผลให้มีการคาดการณ์ว่าการจ้างงานจะเพิ่มขึ้นในเดือนนี้ประมาณ 2 แสนตำแหน่ง ทำให้อัตราการว่างงานของสหรัฐฯจะอยู่ที่ร้อยละ 7.7 ซึ่งนับว่าเป็นระดับที่ต่ำที่สุดตั้งแต่เดือนธ.ค. 2551 ด้านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (University of Michigan's Consumer Sentiment Index) เพิ่มจากระดับ 77.6 ในเดือนก่อนหน้าขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 78.6 ในเดือน มี.ค. นี้ ซึ่งถือได้ว่าสูงกว่าที่ตลาดได้คาดการณ์ไว้ด้านตลาดหุ้นในสหรัฐฯ ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากโดยดัชนี S&P 500 กลับมาอยู่ที่ระดับก่อนวิกฤติได้แล้ว เช่นเดียวกันกับ ดัชนี Dow Jones ที่ทำสถิติดัชนีสูงสุดตั้งแต่ก่อตั้งมา ขณะที่การประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 56 ทางธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงสนับสนุนเศรษฐกิจด้วยการเข้าซื้อพันธบัตรในระดับ 85 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อเดือน เพื่ออัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบ และคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับใกล้ศูนย์ต่อไป เนื่องจากยังไม่บรรลุเป้าหมายอัตราการว่างงานที่ร้อยละ 6.5 และอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงเกิน ร้อยละ 2.5
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นในเดือนมี.ค. 56 ที่เพิ่มสูงขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์เป็นสัญญาณที่บ่งชี้ว่ามีการฟื้นตัวที่แข็งแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องของภาคเศรษฐกิจจริงของสหรัฐฯทั้งจากการจ้างงานและราคาบ้านที่สูงขึ้นได้เริ่มลดความกดดันจากปัจจัยลบที่มาจากรัฐบาลสหรัฐฯ ทั้งการตัดงบประมาณอัตโนมัติ (Sequestration) การขึ้นภาษี Payroll tax และแนวโน้มที่ดีจากการบริโภค ซึ่งจะนำไปสู่การขยายตัวของภาคการผลิตและเศรษฐกิจในภาพรวมต่อไป ทั้งนี้แนวโน้มดังกล่าวนี้ทำให้มีความเป็นไปได้มากขึ้นที่ทางธนาคารกลางสหรัฐฯอาจมีการพิจารณาลดขนาดหรือกระทั่งหาทางยกเลิกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจุดที่จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของมาตรการดังกล่าวนั้นคือตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯ

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ