รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 11 มีนาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 11, 2013 11:22 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 11 มีนาคม 2556

Summary:

1. ธปท.ชี้ ศก.-ระบบเงินคุมดอกเบี้ย

2. Fitch Rating ปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือประเทศไทย จากเดิมที่ BBB เป็น BBB+

3. การฟื้นตัวของจีนอ่อนกำลังลงใน 2 เดือนแรกของปี 56

Highlight:

1. ธปท.ชี้ ศก.-ระบบเงินคุมดอกเบี้ย
  • ผู้ว่าการธปท. กล่าวว่า การดำเนินนโยบายการเงินในปีนี้ จะให้น้ำหนักระหว่างอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจกับเสถียรภาพของระบบการเงินในประเทศเป็นโจทย์สำคัญ เพราะมองว่าอัตราเงินเฟ้อปีนี้คงยังอยู่ในกรอบเป้าหมายที่กำหนดไว้ 0.5-3% แต่ก็ต้องติดตามอย่างต่อเนื่องในระยะต่อไป โดยใช้อัตราดอกเบี้ยในการส่งสัญญาณกับผู้ที่อยู่ในตลาดการเงิน และมีจัดสรรเงินทุนในระบบ ซึ่งหากดอกเบี้ยต่ำก็อาจจูงใจให้คนใช้จ่ายเกินตัว และผู้ออมเงินที่อาจไม่อยากฝากเงินกับสถาบันการเงิน จึงนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงกว่า แต่ได้ผลตอบแทนมากขึ้น เช่น คอนโดมิเนียม ดังนั้น สิ่งสำคัญ คือ ธปท.ต้องดูแลให้มีความเหมาะสม
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจของไทยในปี 56 จะสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า โดยสศค. คาดว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 5.0 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 4.5 - 5.5) โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการเติบโตของการบริโภคภาคเอกชน การลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐ เป็นสำคัญ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะอยู่ในระดับปานกลางที่ร้อยละ 3.0 ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 1.9 โดยจากสภาพเศรษฐกิจที่ขยายตัวได้ดี อาจทำให้เกิดการเก็งกำไรเกินควรได้ในภาคเศรษฐกิจต่างๆ โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ ด้วยเหตุนี้ หน่วยงานที่รับผิดชอบจึงควรมีการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันการเกิดภาวะฟองสบู่ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต ซึ่งการเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสม จะช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้อย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว
2. Fitch Rating ปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือประเทศไทย จากเดิมที่ BBB เป็น BBB+
  • Fitch Rating บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ ปรับเพิ่มอันดับความน่าเชื่อถือประเทศไทย โดยในส่วนสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (IDR) เป็น BBB+ จากเดิมที่ BBB และปรับเพิ่มเครดิตสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นของไทย จาก F3 เป็น F2 และปรับเพิ่มเพดานอันดับเครดิตจาก BBB+ เป็น A- เนื่องจากอัตราการขยายตัวของ GDP โดยเฉลี่ยของไทยระหว่างปี 2008 - 2012 นั้น ขยายตัวได้ที่ร้อยละ 2.9 ซึ่งสูงเกินกว่าค่าเฉลี่ยกลางของเครดิตในระดับ BBB และ A ซึ่งมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 2.4 และ 2.5 ตามลำดับ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยจะเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน อาทิปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลก ความยืดเยื้อของวิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรป รวมถึงปัญหาอุทกภัยเมื่อปลายปี 2554 แต่เศรษฐกิจไทยยังคงขยายตัวได้อย่างแข็งแกร่ง โดยในปี 55 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 6.4 และปี 56 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะยังคงขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 5.0 ในขณะที่ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจมีความมั่นคงเช่นกันทั้งเสถียรภาพภายในและภายนอกประเทศ สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อในปี 55 ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 3.0 และทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่ 179.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการประสานนโยบายการเงินและการคลังที่ผ่อนคลายของรัฐบาล ทั้งนี้ จากการที่ บริษัท Fitch Rating ปรับเพิ่มอันดับความเชื่อถือในครั้งนี้ จะเป็นปัจจัยบวกกับการลงทุนของไทยที่ นอกจากจะทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้นแล้ว ยังจะทำให้ต้นทุนในการลงทุนถูกลงด้วย
3. การฟื้นตัวของจีนอ่อนกำลังลงใน 2 เดือนแรกของปี 56
  • แรงฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนในไตรมาสสุดท้ายของปี 2555 ได้อ่อนแรงลงในช่วงต้นปี 2556 สัญญาณหนึ่งคือดัชนี Purchasing Managers Index (PMI)ที่ได้แสดงถึงการขยายตัวที่ช้าลง โดยดัชนี PMI ภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.พ. ลดลงต่อเนื่องจาก เดือน ม.ค. มาอยู่ที่ 50.1 ส่วนดัชนีPMI ภาคบริการอยู่ที่54.5 ลดลงจากเดือน ม.ค. เช่นกัน นอกจากนี้ ตัวเลขยอดค้าปลีกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนใน 2 เดือนแรกของปี 2556 เติบโตที่ร้อยละ 12.3 และ 9.9 ตามลำดับเป็นอัตราการเติบโตที่ไม่สูงนักเมื่อเทียบกับที่จีนเคยทำได้ในช่วงเดียวกันของหลายๆปีก่อน อย่างไรก็ดี ทางการจีนยังคงประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจจีนไว้ที่ร้อยละ 7.5 ในปี 2556 นี้ดังเดิม
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สัญญาณการฟื้นตัวดังกล่าวเป็นสิ่งที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เนื่องจากการเติบโตของจีนมีผลต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยอย่างมาก สิ่งหนึ่งที่ควรพิจารณาควบคู่ไปด้วยคือ กฎระเบียบและทิศทางของนโยบายรัฐบาล เนื่องจากภาครัฐมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจจีนค่อนข้างสูง โดยจีนเริ่มแสดงท่าทีของการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างระมัดระวังมากขึ้น เช่น การลดการใช้จ่ายด้านการบริโภคของภาครัฐลงเพื่อจำกัดการคอร์รัปชั่น การขึ้นเงินดาวน์และภาษีกำไรจากการขายอสังหาริมทรัพย์เพื่อลดภาวะฟองสบู่ หรือการที่ผู้นำของจีน นายเวิ่น เจีย เป่า แสดงความเห็นต่อเศรษฐกิจจีนว่ายังมีความไม่สมดุลและไม่ยั่งยืนเป็นต้น ปัจจัยดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการเติบโตของจีนอาจได้รับผลกระทบจากการกำหนดแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจของตนเองและเป็นไปได้มากว่าเศรษฐกิจจีนจะไม่ร้อนแรงอย่างที่เคยเป็นในช่วงปี2546-2550ที่มีอัตราการเติบโตถึง 2 หลักติดต่อกันอย่างไรดี จีนจะยังคงเติบโตต่อไปและในระยะยาวจีนจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจโลกจากกำลังการบริโภคขนาดใหญ่และการลงทุนภาครัฐที่จะมีอย่างต่อเนื่อง

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ