รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 8 มีนาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Friday March 8, 2013 11:40 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 8 มีนาคม 2556

Summary:

1. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมเดือน ก.พ.56 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 74.3 จุด

2. ธนาคารกลางอินโดนีเซียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 5.75 ต่อปี

3. BOJ มีมติ 8 ต่อ 1 คัดค้านการดำเนินมาตรการ Asset Purchase ทั้นทีอย่างไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุด

Highlight:

1. ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมเดือน ก.พ.56 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 74.3 จุด
  • ธนาคารศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมในเดือน ก.พ.56 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และปรับตัวสูงสุดในรอบ 19 เดือน นับตั้งแต่เดือน ส.ค.54 มาอยู่ที่ระดับ 74.3 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือน ม.ค.56 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 72.1 จุด
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น สะท้อนทิศทางการบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวดีต่อเนื่อง จาก (1) มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ อาทิ การปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันทั่วประเทศ นโยบายรับจำนำข้าว และการปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการ เป็นต้น และ (2) แรงกดดันจากเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก โดยในเดือน ก.พ. 56 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้คาดว่า ในปี 56 การบริโภคภาคเอกชนซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 52.1 ของ GDP ในปี 55 จะขยายตัวต่อเนื่องจากปีก่อนหน้า ที่ร้อยละ 3.9 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 3.4-4.4) ทั้งนี้ ควรติดตามความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ซึ่งอาจส่งผลลบต่อภาคการส่งออกและรายได้จาดดการส่งออก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน รวมถึงภาพรวมของเศรษฐกิจไทยได้ในระยะต่อไป
2. ธนาคารกลางอินโดนีเซียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 5.75 ต่อปี
  • ธนาคารกลางอินโดนีเซียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 5.75 ต่อปี ถึงแม้ว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อจะเริ่มมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นก็ตาม ทั้งนี้ อินโดนีเซียได้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับดังกล่าวต่อเนื่องมาเป็นเวลา 1 ปีแล้ว
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ธนาคารกลางอินโดนีเซียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากแรงกดดันเงินเฟ้อที่อยู่ภายใต้กรอบเป้าหมายร้อยละ 3.5-5.5 แม้ว่าเดือน ก.พ. 56 อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นสูงสุดนับแต่เดือน ก.ค. 54 มาอยู่ที่ร้อยละ 5.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากเป็นผลกระทบชั่วคราวจากเทศกาลตรุษจีนที่ทำให้ราคาสินค้า โดยเฉพาะในหมวดอาหารสดเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ความเสี่ยงจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะวิกฤตทางการคลังในยูโรโซน และปัญหาเพดานหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ยังอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอินโดนีเซียที่พึ่งพาการส่งออกไประดับค่อนข้างสูงที่ร้อยละ 49.5 ของ GDP
  • ทั้งนี้ ภาพรวมเศรษฐกิจอินโดนีเซียที่คาดว่าจะขยายตัวดีต่อเนื่องในปี 56 โดยเฉพาะจากอุปสงค์ในประเทศที่คาดว่าจะขยายตัวดีต่อเนื่อง ทั้งในส่วนของการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชน อาจส่งผลให้แรงกดดันจากเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นระยะต่อไป และอาจส่งผลให้ธนาคารกลางอินโดนีเซียพิจารณาดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดมากขึ้นในอนาคต
3. BOJ มีมติ 8 ต่อ 1 คัดค้านการดำเนินมาตรการ Asset Purchase ทันทีอย่างไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุด
  • ที่ประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติ 8 ต่อ 1 คัดค้านข้อเสนอการดำเนินมาตรการ Asset Purchase ทันทีอย่างไม่มีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุด ทำให้มาตรการดังกล่าวดังกล่าวคงวงเงินไว้ที่ 76 ล้านล้านเยน หรือ 8.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ มติดังกล่าวเกิดขึ้นในการประชุมครั้งสุดท้ายก่อนที่นาย Masaaki Shirakawa ประธาน BOJ จะหมดวาระลงในวันที่ 19 มี.ค. 56
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ท่าทีของนาย Haruhiko Kuroda สนับสนุนการใช้มาตรการ Asset Purchase และดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าข้อเสนอนี้จะได้รับการสนับสนุนจากนายกรัฐมนตรี Shinzo Abe และมีความเป็นไปได้ว่า นาย Kuroda จะได้รับเลือกให้เป็นประธาน BOJ คนต่อไป จึงมีความเป็นไปได้ว่ามาตรการ Asset Purchase ที่มติที่ประชุมของ BOJ คัดค้านในครั้งนี้ อาจมีการหยิบยกขึ้นมาพิจารณาอีกครั้งหากนาย Haruhiko Kuroda ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธาน BOJ คนใหม่จริง บ่งชี้ความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินของญี่ปุ่นในขณะนี้ จากการเปลี่ยนตำแหน่งผู้นำ BOJ จึงยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไปในประเด็นผู้นำคนใหม่ของ BOJ และแนวความคิดของต่อนโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
  • อย่างไรก็ตาม มติที่ประชุมดังกล่าวทำให้ค่าเงินเยนกลับแข็งค่าขึ้นร้อยละ 0.1 มาอยู่ที่ 94.0 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐในช่วงเย็นวานนี้ ภายหลังจากค่าเงินเยนอ่อนค่าลงร้อยละ 12 ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา สอดคล้องกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์ Nikkei 225 ที่เพิ่มขึ้นเหนือระดับ 12,000 จุดเป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือน ก.ย. 51 และกลับมาปิดตลาดที่ 11,968.08 จุด ทำให้ดัชนีฯ ปรับเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.3 จากวันก่อน บ่งชี้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อเศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้น

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ