รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 6 มีนาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 6, 2013 11:33 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 6 มีนาคม 2556

Summary:

1. ธปท.จ่อปรับจีดีพีโตเกินร้อยละ 5.0 เดิมคาดร้อยละ 4.9

2. ณรงค์ชัยมองเงินไหลเข้าประเทศไทยยังไม่น่าเป็นห่วง

3. ภาวะตลาดหุ้นยุโรป: หุ้นยุโรปปิดลบ หลัง PMI จีน,อังกฤษชะลอตัว

Highlight:

1. ธปท. จ่อปรับจีดีพีโตเกินร้อยละ 5.0 เดิมคาดร้อยละ 4.9
  • ผู้อำนวยการสำนักนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งถัดไปซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 3 เม.ย.นี้ธปท.อาจเสนอที่ประชุม กนง.ให้พิจารณาปรับเพิ่มประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ใหม่โดยตัวเลขใหม่ที่คาดว่าจะปรับขึ้นนั้น คงไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 จากปัจจุบันอยู่ที่ร้อยละ 4.9 สาเหตุที่ทำให้ธปท.อาจปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ใหม่ เพราะตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 4 โตเกินกว่าที่คาด
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจไทยปี 56 มีแนวโน้มขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจากการขยายตัวของการลงทุนภาครัฐที่เร่งตัวสูงขึ้น และการปรับตัวดีขึ้นของเศรษฐกิจโลกเป็นสำคัญซึ่งจะช่วยหนุนภาคการส่งออกของไทย ขณะที่อุปสงค์ภาคเอกชนมีแนวโน้มชะลอลง หลังจากที่มีการเร่งการบริโภคและการลงทุนเพื่อฟื้นฟูจากวิกฤตอุทกภัยไปมากแล้วในปีก่อน อย่างไรก็ตาม รายได้ภาคครัวเรือนที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลโดยเฉพาะการเพิ่มค่าแรงรายวันเป็น 300 บาททั่วทั้งประเทศ และโครงการรับจำนำข้าว จะช่วยส่งผลให้การบริโภคภาคเอกชนไม่ชะลอลงมากนัก ทั้งนี้ สศค.คาดว่าเศรษฐกิจไทยปี 56 จะขยายตัวที่ร้อยละ 5.0 (โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 4.5 - 5.5 คาดการณ์ ณ เดือน ธ.ค. 55)
2. ณรงค์ชัยมองเงินไหลเข้าประเทศไทยยังไม่น่าเป็นห่วง
  • นายณรงค์ชัย อัครเศรณี ประธานกรรมการ บลจ.เอ็มเอฟซี กล่าวว่าขณะนี้มีเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามาในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง แต่ยังเป็นจำนวนไม่มากหรือยังไม่ถึงกับท่วมโลกตามที่หลายฝ่ายกังวล โดยต่างชาติยังมองว่าการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลทำได้ดีในสายตาของต่างชาติจึงเกิดความเชื่อมั่นนำเงินเข้ามาลงทุน โดยเงินทุนของธนาคารกลางต่างๆอัดฉีดออกสู่ระบบเพื่อซื้อสินทรัพย์จากภาคเอกชนจำนวน 7.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐนั้น บางส่วนไหลออกไปลงทุนในประเทศกำลังพัฒนารวมถึงประเทศไทยด้วย ทั้งนี้มองว่าเงินทุนที่ไหลเข้ามาเพื่อลงทุนในระยะยาว ถือเป็นสิ่งที่ดีควรต้อนรับ แต่ควรจับตาดูการไหลเข้ามาเพื่อลงทุนเก็งกำไรในระยะสั้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เงินทุนจากต่างประเทศเริ่มไหลเข้าสู่ประเทศไทยสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 56 โดยในเดือน ม.ค 56 เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลเข้าสุทธิ 1,544 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยส่วนใหญ่เป็นเม็ดเงินต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในตราสารหนี้และตราสารทุนไทย ส่งผลกระทบต่อค่าเงินบาทให้แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วจากระดับ 30.62 บาท/ดอลล่าร์สหรัฐในเดือน ธ.ค. 55 มาอยู่ที่ 29.8 บาท/ดอลล่าร์สหรัฐในเดือน ก.พ. 56 อย่างไรก็ดีตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ก.พ. 56 เป็นต้นมาเงินทุนไหลเข้าประเทศไทยเริ่มชะลอลง ทั้งตลาดตราสารหนี้และตราสารทุนไทย ทำให้ค่าเงินบาทยังทรงตัวอยู่ที่ระดับ 29.8 บาท/ดอลล่าร์สหรัฐ ส่งผลให้ผลกระทบของการแข็งค่าของค่าเงินบาทต่อภาคการส่งออกบรรเทาลง ทั้งนี้สศค.คาดว่าค่าเงินบาทของไทยในปี 56 จะมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 29.7 บาท/ดอลล่าร์สหรัฐ (คาดการณ์ ณ เดือน ธ.ค. 55)
3. ภาวะตลาดหุ้นยุโรป: หุ้นยุโรปปิดลบ หลัง PMI จีน,อังกฤษชะลอตัว
  • ตลาด หุ้นยุโรปปิดลบเมื่อวันศุกร์ เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจโลก หลังจากมีรายงานว่าดัชนีภาคการผลิตของอังกฤษและจีนชะลอตัวลง โดยดัชนี Stoxx 600 ร่วงลง 0.3% ปิดที่ 289.02 จุด ดัชนี DAX ของตลาดหุ้นเยอรมนีปิดลบ 33.54 จุด หรือ 0.43% ดัชนี CAC-40 ของตลาดหุ้นฝรั่งเศสปิดลดลง 23.09 จุด หรือ 0.62% เนื่องจากตลาดหุ้นยุโรปได้รับแรงกดดันจากดัชนี PMI ภาคการผลิตของอังกฤษที่ลดลง 47.9 ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะหดตัว ขณะที่สหพันธ์พลาธิการและการจัดซื้อของจีน (CFLP) เผยดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนก.พ.อยู่ที่ระดับ 50.1 เทียบกับ 50.4 ในเดือนม.ค.
  • สศค.วิเคราะห์ว่าปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดหุ้นยุโรปอ่อนตัวลงเนื่องจากดัชนี PMI ภาคการผลิตของจีนที่ลดลงดังกล่าว สะท้อนความสำคัญที่เพิ่มขึ้นของเศรษฐกิจจีนที่มีต่อยุโรป ทั้งนี้ ปัจจุบันกระแสเงินลงทุนโดยตรง (FDI) ของจีนที่ไปยังสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากมูลค่าต่ำกว่า 1 พันล้าน USD ในช่วงก่อนปี 2551 ได้เพิ่มมาอยู่ที่กว่า 1 หมื่นล้าน USD ในช่วงปี 2554-2555 เนื่อง จากในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจในยุโรปและสหรัฐฯ ส่งผลให้ผู้ประกอบการในยุโรปและสหรัฐฯ ประสบปัญหาสภาพคล่อง ขณะที่เศรษฐกิจจีนและนักธุรกิจจีนยังคงความแข็งแกร่งและความมั่งคั่ง จึงทำการลงทุนในประเทศเหล่านี้เพิ่มขึ้นในรูปแบบต่างๆ อาทิ การควบรวมกิจการ การเข้าซื้อกิจการ รวมถึงการลงทุนในหลักทรัพย์ เป็นต้น

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ