รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 4 มีนาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 4, 2013 11:41 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 4 มีนาคม 2556

Summary:

1. พาณิชย์ระบุเงินเฟ้อเดือน ก.พ. สูงขึ้นร้อยละ 3.23

2. ธปท.จับตาปัจจัยส่งผลเกิดภาวะฟองสบู่ เผยสินเชื่อบุคคล-ครัวเรือนโตแบบร้อนแรง

3. สหรัฐฯ เริ่มตัดงบประมาณ 8.5 พันล้านเหรียญ โอบามาประกาศเตือนผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจ

Highlight:

1. พาณิชย์ระบุเงินเฟ้อเดือน ก.พ. สูงขึ้นร้อยละ 3.23
  • ปลัดกระทรวงพาณิชย์แถลงดัชนีผู้บริโภคทั่วไปของประเทศหรือตัวเลขเงินเฟ้อเดือน ก.พ. 56 ว่าดัชนีมีค่าเท่ากับ 104.66 สูงขึ้นร้อยละ 3.23 เมื่อเทียบกับเดือน ก.พ. 55 และสูงขึ้นร้อยละ 0.21 เทียบกับเดือน ม.ค. 56 ส่งผลให้เงินเฟ้อเฉลี่ย 2 เดือนแรกสูงขึ้นแล้วร้อยละ 3.30 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สาเหตุเป็นผลมาจากหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.06 ส่วนหมวดอื่นๆไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.61 โดยกระทรวงพาณิชย์ยังคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 56 ไว้ที่ร้อยละ 2.8-3.4
  • สศค. วิเคราะห์ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน ก.พ. 56 อยู่ที่ร้อยละ 3.2 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 3.4 โดยเป็นผลมาจากการลดลงของราคาสินค้าจำพวกผักและผลไม้เนื่องจากสภาพอากาศเหมาะสมทำให้มีสินค้าเข้าสู่ตลาดมากขึ้น อย่างไรก็ดี ราคาสินค้าประเภทเนื้อสัตว์มีการปรับตัวสูงขึ้นจากเทศกาลตรุษจีน รวมถึงราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ทั้งนี้ สศค. คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยในปี 56 จะอยู่ที่ร้อยละ 3.0 ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 1.9 (คาดการณ์ ณ ธ.ค. 56)
2. ธปท.จับตาปัจจัยส่งผลเกิดภาวะฟองสบู่ เผยสินเชื่อบุคคล-ครัวเรือนโตแบบร้อนแรง
  • ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวบรรยายพิเศษ เรื่องทิศทางนโยบายการเงินไทยปี 56 ในเวทีสัมมนาวิชาการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ โดยระบุว่าที่ผ่านมา นโยบายทางการเงินภายใต้กรอบอัตราเงินเฟ้อถือว่ามีความยืดหยุ่นเหมาะสมทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพ แต่มีปัจจัยที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ความร้อนแรงของหนี้สินภาคครัวเรือนการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์และปัจจัยผลกระทบจากการไหลเข้าของเงินทุนโดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลที่ขยายตัวเร็วมาก
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การเติบโตของสินเชื่อภาคเอกชนในช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจในประเทศ และการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจในภูมิภาค โดยเฉพาะหัวเมืองเศรษฐกิจหลักและเมืองเศรษฐกิจเกิดใหม่ ทั้งนี้จากตัวเลขเชิงประจักษ์ พบว่า ในเดือน ม.ค. 56 สินเชื่อยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า โดยขยายตัวได้ที่ร้อยละ 15.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นการขยายของสินเชื่อสถาบันการเงินเฉพาะกิจและสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะสินเชื่อผู้บริโภค ซึ่งขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 1.4 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) สอดคล้องกับการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน ที่ได้ปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายรถคันแรก อย่างไรก็ตาม ควรจับตามองปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกซึ่งอาจส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต
3. สหรัฐฯ เริ่มตัดงบประมาณ 8.5 พันล้านเหรียญ โอบามาประกาศเตือนผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจ
  • สำนักงบประมาณของสหรัฐฯ (the Office of Management and Budget, OMB) ได้มีมติในการตัดงบประมาณอัตโนมัติ (Sequestration) เป็นปีแรก โดยมีมูลค่าในครั้งนี้ทั้งสิ้น 8.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามเงื่อนไขที่สภาคองเกรสไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการลดระดับการขาดดุลการคลังให้อยู่ในระดับที่กำหนดไว้ตามกฎหมาย Budget Control Act of 2011 ได้ การตัดงบประมาณครั้งนี้จะกระทบต่องบของรัฐในหลายๆด้าน ตั้งแต่งบของการสร้างและซ่อมแซมดูแลสาธารณูปโภค งบค่าใช้จ่ายด้านวัฒนธรรม รวมถึงงบประมาณของกองทัพที่ถูกกระทบมากที่สุด การตัดงบดังกล่าวจะเกิดขึ้นติดต่อกัน 9 ปี (56-64) มีมูลค่ารวม 1.2 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ด้าน ปธน.บารัก โอบามา กล่าวถึงความกังวลต่อผลกระทบที่จะเกิดจากการตัดงบประมาณในปีนี้ที่อาจทำให้สูญเสียการจ้างงานราว 7 แสน 5 หมื่นตำแหน่ง และลดอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ลง ร้อยละ 0.5
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การตัดงบประมาณอัตโนมัติจะส่งผลกระทบอย่างมากต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ปัจจุบันยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ จากปัญหาการว่างงานและการบริโภคและลงทุนที่อาจหดตัวลง รวมไปถึงความสามารถในการเติบโตระยะยาวที่ถูกบั่นทอนจากการดำเนินงานภาครัฐ เช่น ด้านพลังงาน ด้านการขนส่ง ที่จะด้อยประสิทธิภาพลงจากงบประมาณสนับสนุนที่ลดลง ภายใต้สภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจในลักษณะนี้ประกอบกับข้อจำกัดด้านนโยบายการคลังและนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายชัดเจนในการอุ้มภาคเศรษฐกิจจริง สหรัฐฯจึงมีแนวโน้มที่จะพึ่งพิง QE มากขึ้นกว่าเดิม ทำให้คาดได้ว่ามาตรการ QE จะดำเนินไปนานกว่าที่หลายฝ่ายเคยคาดการณ์ ส่งผลให้เงินจะออกท่วมระบบในเวลาที่นานขึ้น นัยยะสำหรับประเทศไทย คือ 1) สหรัฐฯจะมีความน่าสนใจลดลงอีกในฐานะตลาดส่งออก และ 2) การแข็งค่าของเงินบาทและเงินทุนไหลเข้าจะไม่ใช่เพียงปรากฎการณ์ระยะสั้นอีกต่อไป

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ