รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 28 มีนาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 28, 2013 11:37 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 28 มีนาคม 2556

Summary:

1. กระทรวงพาณิชย์ชี้บาทแข็งยังไม่ฉุดส่งออกไตรมาส 1

2. พลัส พร็อพเพอร์ตี้ เผยผลสำรวจภาพรวมการลงทุนคอนโดมิเนียม ชี้เติบโตต่อเนื่อง

3. เศรษฐกิจเวียดนาม ไตรมาสที่ 1 ของปี 56 ขยายตัวร้อยละ 4.9

Highlight:

1. กระทรวงพาณิชย์ชี้บาทแข็งยังไม่ฉุดส่งออกไตรมาส 1
  • นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า เงินบาทที่แข็งค่าขึ้นถึงร้อยละ 5 ยังไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในช่วงไตรมาสแรก อย่างไรก็ดี กระทรวงพาณิชย์จะติดตามผลกระทบอย่างใกล้ชิด และจะทบทวนเป้าหมายการส่งออกอีกครั้งในเดือน พ.ค. 56 โดยจะประชุมร่วมกันระหว่างผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและทูตพาณิชย์ทั่วโลก ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ ยังคงยืนยันเป้าหมายมูลค่าการส่งออกของไทยในปี 56 ที่ 2.47-2.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 8-9
  • สศค. วิเคราะห์ว่า สถานการณ์ค่าเงินบาทเฉลี่ยของไทยในปี 55 อยู่ที่ 31.06 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าจากปี 54 ร้อยละ 3.0 ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยในปี 55 สามารถขยายตัวร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ดี สถานการณ์ค่าเงินบาทในปี 56 ยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 55 โดยล่าสุด ค่าเงินบาทณ วันที่ 27 มี.ค. 56 อยู่ที่ 29.3 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นการปรับตัวแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องนับจากต้นปี 56 ถึงร้อยละ 4.2 และส่งผลให้ค่าเงินบาทเฉลี่ยในปี 56 อยู่ที่ 29.8 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ สำหรับภาคการส่งออกของไทยล่าสุดในเดือน ม.ค. 56 พบว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าอยู่ที่ 18.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 16.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งการขยายตัวในระดับสูงส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัจจัยฐานต่ำในช่วงปีก่อนหน้าที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติน้ำท่วม และเมื่อขจัดผลทางฤดูกาล(m-o-m SA) ขยายตัวร้อยละ 5.3 สะท้อนสัญญาณที่ดีของภาคการส่งออก ขณะที่มูลค่าการนำเข้าสินค้าอยู่ที่ 23.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 40.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเมื่อหักการนำเข้าทองและน้ำมันดิบออกก็พบว่ายังขยายตัวได้ร้อยละ 32.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไร ก็ดี สถานการณ์ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องจะส่งผลต่อภาคการส่งออกของไทยหรือไม่นั้นเป็นประเด็นที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป ทั้งนี้ สศค. คาดว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าในปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 10.0 โดยมีช่วงคาดการณ์ร้อยละ 9.0-11.0 (คาดการณ์ ณ เดือน ธ.ค. 55) และจะมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจครั้งต่อไปในวันที่ 29 มี.ค. 56
2. พลัส พร็อพเพอร์ตี้ เผยผลสำรวจภาพรวมการลงทุนคอนโดมิเนียม ชี้เติบโตต่อเนื่อง
  • ฝ่ายวิจัยและพัฒนา บริษัท พลัส พร็อพเพอร์ตี้ เปิดเผยว่าสถานการณ์ตลาดคอนโดมิเนียมในปี 2555 และทิศทางการเติบโตในปี 2556 ในย่านเขตธุรกิจและใจกลางเมือง ยังคงเติบโตต่อเนื่อง จากสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัว โดยคาดว่ามีโครงการใหม่เตรียมเข้าสู่ตลาดไม่น้อยกว่า 90 โครงการ หรือราว 6 หมื่นยูนิต จากผลสำรวจตลาดคอนโดมิเนียมปี 2555 ใน 8 พื้นที่ (ยกเว้นพื้นที่รอบนอก เช่น พื้นที่ นนทบุรี, มีนบุรี, รามคำแหง) พบมีการเปิดใหม่สูงขึ้นถึงร้อยละ 24 อยู่ที่ 59,009 ยูนิต โดยพื้นที่ที่ขยายตัวได้ดีจะอยู่บริเวณแนวรถไฟฟ้าเป็นหลัก แต่หากมองในภาพรวม ตลาดคอนโดมิเนียมปี 2555 นับเป็นปีทองของตลาดคอนโดมิเนียม โดยมีห้องชุดเข้าสู่ตลาดรวม 64,835 ยูนิต เพิ่มขึ้นถึง 45% จากปี 2554 ส่วนยอดขายพบว่ามีการตอบรับสูงถึง 37,127 ยูนิต เพิ่มขึ้นถึง 47% จากปี 2554 นับเป็นการทำยอดขายที่มีสถิติสูงสุดในรอบ 8 ปี ที่พลัสพร็อพเพอร์ตี้ได้ทำการสำรวจ แสดงให้เห็นถึงการเติบโตของตลาดคอนโดมิเนียม และเทรนด์ที่พักอาศัยแนวสูงซึ่งกำลังเป็นที่ต้องการ ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ทำให้กำลังซื้อปรับตัวสูงขึ้น
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการลงทุนคอนโดมิเนียมส่งผลมาจากการขยายตัวอย่างตัวเนื่องของเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2555 นอกจากนี้ เครื่องชี้ทางการลงทุนซึ่งแสดงได้จากปริมาณจำหน่ายปูนซิเมนต์ภายในประเทศในเดือนก.พ. 56 ขยายตัวร้อยละ 14.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากตลาดอสังหาริมทรัพย์ยังคงขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง โดยตลาดที่อยู่อาศัยในเขตหัวเมืองใหญ่สามารถขยายตัวได้ดีและจำนวนที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ในต่างจังหวัดเร่งขึ้นค่อนข้างมาก ในส่วนของภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมในเดือน ก.พ. 56 ขยายตัวร้อยละ 25.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากความต้องการที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงความต้องการที่อยู่อาศัยในต่างจังหวัดโดยเฉพาะหัวเมืองใหญ่ที่มีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีแผนเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยใหม่อย่างต่อเนื่อง ทำให้คาดว่าภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์รวมจะยังคงขยายตัวต่อเนื่อง
3. เศรษฐกิจเวียดนาม ไตรมาสที่ 1 ของปี 56 ขยายตัวร้อยละ 4.9
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติเวียดนาม รายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ขยายตัวร้อยละ 4.9 ในไตรมาสที่ 1 ของปี 56 จากเดิมร้อยละ 5.4 ในไตรมาส 4 ของปี 55 โดยระบุว่า ปัญหาการประกอบการในภาคเอกชนและอัตราดอกเบี้ยสูง เป็นปัจจัยซ้ำเติมให้เศรษฐกิจซบเซายิ่งขึ้น สถานการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ภาวะเศรษฐกิจเวียดนามในไตรมาส 2 และตลอดทั้งปี 56 จะเผชิญกับความท้าทายอย่างยิ่ง ก่อนหน้านี้ เวียดนามขึ้นอัตราดอกเบี้ยหลายครั้งในปี 55 เพื่อสกัดเศรษฐกิจไม่ให้ร้อนแรงเกินไปและควบคุมตัวเลขเงินเฟ้อ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจเวียดนามในไตรมาสแรกของปี 56 ขยายตัวในอัตราชะลง ต่อเนื่องจากไตรมาส 4 ปี 55 ส่วนหนึ่งเนื่องจากอัตราหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเป็นเหตุให้ธนาคารพาณิชย์ในเวียดนามชะลอการปล่อยสินเชื่อ อาจเป็นแรงผลักดันให้รัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในภาคธนาคาร ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจเวียดนามในปี 56 ขยายตัวร้อยละ 6.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ประมาณการ ณ เดือนธ.ค.55)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ