Macro Morning Focus ประจำวันที่ 22 มีนาคม 2556
1. มิตซูบิชิ มอเตอร์ส" ประกาศเทงบลงทุน 1 พันล้านบาท เพิ่มการผลิตรถยนต์ในไทยเป็น 5.1 แสนคันต่อปี
2. เวียดนามออกแผนปฏิรูปหนี้เสียในภาคธนาคาร
3. มูลค่าการส่งออกญี่ปุ่น เดือน ก.พ. 56 กลับมาหดตัวอีกครั้ง
Highlight:
- นายโอซามุ มาสุโกะ ประธานบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศญี่ปุ่น ระบุว่า มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ได้ขยายการลงทุนในไทยเพิ่มเติม 1,000 ล้านบาท เพื่อขยายการผลิตรถยนต์ในไทยให้ได้ตามเป้าหมาย 5.1แสนคัน ในปี 56 และจากการขยายการส่งออกรถยนต์นั่ง "มิราจ" ทำให้สัดสวนการส่งออกเพิ่มมากขึ้น โดยได้คาดการณ์ว่าในอีก 3-4 ปีข้างหน้า มิตซูบิชิจะบรรลุยอดการส่งออกสะสมจากฐานผลิตไทยครบ 3 ล้านคัน ดังนั้น เพื่อให้ฐานผลิตในไทยมีศักยภาพสูงขึ้น มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ตัดสินใจจะเสริมความแข็งแกร่งของหน่วยงานวิจัยและพัฒนาในประเทศไทย โดยมีจุดประสงค์เพื่อพัฒนาคุณภาพของรถยนต์ ให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวไทยได้อย่างรวดเร็ว เพื่อเพิ่มบทบาทให้ศูนย์วิจัยแห่งนี้สามารถพัฒนารุ่นไมเนอร์เชนจ์ ได้เอง และเพื่อค้นคว้าข้อมูลแนวโน้มการตลาดและเทคโนโลยี ในตลาดกลุ่มอาเซียน รองรับเออีซี
- สศค. วิเคราะห์ว่า ไทยถือเป็นฐานการผลิตด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ที่สำคัญของภูมิภาค โดยมีปัจจัยสนับสนุนทั้งจาก (1) นโยบายส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐ ผ่านการการสร้างแรงจูงใจทางภาษี (2) มีแรงงานที่มีคุณภาพและมีความเชี่ยวชาญ (3) สถานที่ตั้งที่เปรียบเสมือนจุดยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมในการขนส่ง เพื่อกระจายสินค้าไปยังตลาดอื่นๆ ในภูมิภาค และ (4) อุปสงค์ในประเทศที่ยังคงแข็งแกร่ง และยังคงมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง ซึ่งได้รับปัจจัยสนับสนุนหลักจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ สะท้อนจากยอดขายรถยนต์นั่ง และรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือน ก.พ. 56 ที่ยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่องที่ร้อยละ 92.1 และร้อยละ 14.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ ทั้งนี้ การลงทุนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว สะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้น และจะเป็นปัจจัยสนับสนุนอุปสงค์ในประเทศ ทั้งในภาคการผลิต และภาคการจ้างงาน อันจะส่งผลบวกต่อภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในอนาคต ทั้งนี้ สศค. คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 56 จะขยายตัวร้อยละ 5.0 (ช่วงคาดการณ์ร้อยละ 4.5-5.5 คาดการณ์ ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 55)
- รัฐบาลเวียดนามมีแผนปฏิรูประบบธนาคารที่มีหนี้เสีย (Non-Performing Loans: NPLs) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จนอาจเป็นเหตุส่วนหนึ่งให้เศรษฐกิจเวียดนามขยายตัวในระดับต่ำสุดในรอบ 13 ปี ในปี 55 ที่ร้อยละ 5.0 ด้วยการจัดตั้งบริษัทบริหารจัดการสินทรัพย์ประเภทหนี้ ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารกลางเวียดนามก่อนสิ้นเดือน มี.ค. 56 นี้ โดยบริษัทจะทำหน้าที่เข้าซื้อ NPLs จากธนาคารพาณิชย์ผู้ปล่อยสินเชื่อ และออกพันธบัตรเป็นการแลกเปลี่ยน ทั้งนี้ ยังไม่มีการกำหนดมูลค่าวงเงินที่ชัดเจน และกำหนดเป้าหมายปรับโครงสร้างธนาคารพาณิชย์ในเวียดนามภายในปี 58
- สศค. วิเคราะห์ว่า แนวทางการจัดตั้งบริษัทบริหารจัดการสินทรัพย์ประเภทหนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ โดย ในช่วงวิกฤติการเงินเอเชีย (ปี 40-41) มาเลเซีย จีน และไทย ตลอดจนประเทศอื่นๆ ที่ประสบปัญหาหนี้เสียได้เคยจัดตั้งบริษัทในลักษณะเดียวกันมาแล้ว โดยบริษัทฯ ของมาเลเซียจัดตั้งโดยทางการมาเลเซียเองเพื่อเข้าซื้อ NPLs และออกพันธบัตรทดแทน ด้านจีนจัดตั้งหลายบริษัท หนึ่งในนั้นคือ บริษัท บริหารสินทรัพย์ Cinda เพื่อซื้อ NPLs จากธนาคารพาณิชย์ และประสบความสำเร็จในการจัดการหนี้เสีย
- ทั้งนี้ การจัดตั้งบริษัทฯ ดังกล่าวของเวียดนาม เป็นส่วนหนึ่งของแผนแม่บทปฏิรูปเศรษฐกิจ โดยนอกจากการจัดตั้งบริษัทดังกล่าวแล้ว ธนาคารกลางเวียดนามยังมีการกำกับดูแลธนาคารในการปล่อยสินเชื่อ โดยมีทางเลือกให้ธนาคารเหล่านี้ออกแผนการปฏิรูปทางการเงินของตนเอง หรือจะควบรวมกับธนาคารพาณิชย์อื่นๆ อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกออกมาแสดงความเป็นห่วงภาคธนาคารของเวียดนาม เนื่องจากคุณภาพของสินทรัพย์ลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าสัดส่วน NPLs ต่อสินทรัพย์รวมจะลดลงจากร้อยละ 8.0 ณ สิ้นปี 55 มาอยู่ที่ร้อยละ 6.0 ณ สิ้นเดือน ก.พ. 56 แล้วก็ตาม แต่ยังคงอยู่ในระดับสูง อีกทั้งการดำเนินการปรับโครงสร้างฯ เป็นไปอย่างล่าช้า จึงจำเป็นต้องจับตามองว่า ในระยะต่อไปบริษัทฯ ของเวียดนามจะมีวิธีบริหารจัดการ NPLs เพื่อไม่ให้ NPLs ดังกล่าวที่บริษัทฯ เข้าถือครองนี้เกิดปัญหาต่อไป
- มูลค่าการส่งออกญี่ปุ่น เดือน ก.พ. 56 กลับมาหดตัวร้อยละ -2.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ผลจากการส่งออกไปจีนและยูโรโซนที่ยังคงหดตัวร้อยละ -15.8 และ -9.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ตามลำดับ ขณะที่ยอดการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 5.7 ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าในเดือนเดียวกันเร่งขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 11.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนได้รับผลกระทบจากเงินเยนที่อ่อนค่าในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับราคาสินค้าเชื้อเพลิงและพลังงานปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากญี่ปุ่นยังจำเป็นต้องนำเข้าสินค้าดังกล่าวเข้ามาเพื่อทดแทนพลังงานนิวเคลียร์ ส่งผลให้ ดุลการค้าเดือน ก.พ. 56 ขาดดุลคิดเป็นมูลค่า -7.7 แสนล้านเยน (-8.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ)
- สศค. วิเคราะห์ว่า มูลค่าการส่งออกญี่ปุ่นที่กลับมาหดตัวนั้น เนื่องจากปัจจัยสำคัญหลายประการ ได้แก่ 1) ผลกระทบชั่วคราวจากช่วงเทศกาลตรุษจีน ส่งผลให้ยอดการส่งออกไปจีนกลับมาหดตัวอีกครั้ง อีกทั้งยังคงมีความเสี่ยงจากประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างจีนและญี่ปุ่นเรื่องกรรมสิทธิ์การครอบครองหมู่เกาะเซนกากุ/เตียวหยู ซึ่งจำเป็นต้องติดตามในระยะต่อไปเนื่องจากปัญหาดังกล่าวส่งผลต่อการค้าทั้งสองประเทศเนื่องจากจีนเป็นคู่ค้าสำคัญอันดับ 1ของญี่ปุ่น 2) สถานการณ์เศรษฐกิจยูโรโซนที่ยังไม่คลี่คลาย โดยล่าสุดปัญหาทางการเงินของไซปรัสและเสถียรภาพทางการเมืองของอิตาลีอาจสร้างความเสี่ยงแก่ปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะยูโรโซนที่จะยืดเยื้อยาวนานต่อไป สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกไปยูโรโซน(คู่ค้าสำคัญอันดับ 3) ที่หดตัวต่อเนื่องนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 54 มาจนถึงปัจจุบัน
- ทั้งนี้ การบริหารประเทศภายใต้การนำของนายชินโสะ อาเบะ ยังคงมีความพยายามในการออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น ผนวกกับ นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ซึ่งได้รับเลือกให้เป็นผู้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นคนใหม่เมื่อวันที่ 15 มี.ค. 56 จะสามารถทำงานสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันได้เป็นอย่างดี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจญี่ปุ่นให้กลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257