รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 21 มีนาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday March 21, 2013 11:34 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 21 มีนาคม 2556

Summary:

1. รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มองหุ้นลงเพราะปัจจัยภายนอกประเทศ

2. บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้สถานการณ์เงินบาทแข็งค่าปี 2556 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

3. อสังหาริมทรัพย์ของอเมริกาฟื้นตัว ยอดสร้างบ้านเดือน ก.พ. 56 ขยายตัวร้อยละ 0.8

Highlight:

1. รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มองหุ้นลงเพราะปัจจัยภายนอกประเทศ
  • รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวยืนยันว่า การปรับตัวลงอย่างหนักของดัชนีในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET Index) อย่างต่อเนื่อง ไม่ได้เกิดจากสาเหตุการเดินหน้าโครงการการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานในวงเงิน 2.2 ล้านล้านบาท แต่อาจเกิดจากปัจจัยภายนอกประเทศมากกว่า ทั้งนี้ นักลงทุนเชื่อว่า มาตรการต่างๆ ในการดูแลของทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีความเพียงพออยู่แล้ว ประกอบกับการดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล จะส่งผลดีให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นในระยะยาวมากขึ้น
  • มีความเชื่อมั่นในระยะยาวมากขึ้น สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจัยภายนอกที่ส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทยปรับตัวลดลงนั้น จากการที่นักลงทุนเกิดความวิตกกังวลเกี่ยวกับวิกฤติการเงินของประเทศไซปรัส ซึ่งถือเป็นครั้งรุนแรงที่สุดในรอบเกือบ 40 ปี ทำให้รัฐบาลไซปรัสต้องมีการเตรียมใช้มาตรการเก็บภาษีเงินฝากของรัฐบาล เพื่อให้ตรงตามเงื่อนไขการกู้ยืมเงินจากสหภาพยุโรป ประกอบกับการที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ส่งสัญญาณถึงวิกฤตหนี้ของกลุ่มยุโรปครั้งใหม่ ทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลในเรื่องดังกล่าวทำให้มีการขายหลักทรัพย์ออกมา ทั้งนี้ มูลค่าการซื้อขายสะสมตั้งแต่ต้นปี 56 - 19 มี.ค. 56 พบว่า นักลงทุนต่างประเทศมีการซื้อขายสุทธิจำนวน 6,540.26 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ดี กลุ่มยูโรและ IMF ได้เสนอแผนการช่วยเหลือให้กับประเทศไซปรัสจำนวน 13,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้
2. บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยชี้สถานการณ์เงินบาทแข็งค่าปี 2556 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย
  • บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทยออกบทวิเคราะห์โดยชี้แจงถึงประเด็นสำคัญ เช่น เงินบาทแข็งค่าขึ้นค่อนข้างรวดเร็วทำสถิติแข็งค่าสุดในรอบ 16 ปี และสะท้อนภาพการแข็งค่าที่ฉีกตัวออกจากทิศทางในภาพรวมของสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชีย การดูแลการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทด้วยเครื่องมือต่างๆ มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทางการไทยคงต้องจัดลำดับความสำคัญของโจทย์เศรษฐกิจที่ต้องดูแล และเลือกเครื่องมือที่เหมาะสมเพื่อลดผลกระทบข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น โดยสรุปศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ระดับเฉลี่ยเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นทุกๆ 1% จะมีผลกระทบต่อจีดีพีปี 2556 ราว 0.1-0.3%
  • สศค. วิเคราะห์ว่าสถานการณ์ความเคลื่อนไหวของเงินบาทนับจากต้นปี 56 เป็นไปในจังหวะที่ค่อนข้างรวดเร็วและเป็นทิศทางที่แตกต่างไปจากหลายสกุลเงินในภูมิภาคเอเชียโดยเงินบาทแข็งค่าซึ่งเป็นระดับที่แข็งค่าสุดในรอบเกือบ 16 ปีโดยแข็งค่าขึ้นมาร้อยละ 5 จากระดับ ณ ปลายปี 55 ตอกย้ำภาพการแข็งค่าที่ฉีกตัวทิ้งห่างทุกสกุลเงินในเอเชีย นอกจากนี้ นักลงทุนต่างชาติมีสถานะซื้อสุทธิสะสมในตลาดพันธบัตรและตลาดหุ้นไทย 2.59 แสนล้านบาท และ 6.54 พันล้านบาทแล้วนับจากต้นปี 56 โดยมีจำนวนน้อยกว่านักลงทุนในประเทศ ทั้งนี้ ควรจะติดตามผลกระทบการแข็งค่าของเงินบาทที่อาจมีความต่อเนื่องในช่วงหลายเดือนข้างหน้าต่อไปอย่างใกล้ชิด เพราะยิ่งระดับเงินบาทแข็งค่าขึ้น ผลกระทบ (ทั้งทางตรงและทางอ้อม) ต่อเศรษฐกิจไทยก็อาจขยายวงกว้างมากขึ้นตามไปด้วยเพราะโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยยังคงพึ่งพาฐานการผลิตภายในประเทศเป็นหลัก
3. อสังหาริมทรัพย์ของอเมริกาฟื้นตัว ยอดสร้างบ้านเดือน ก.พ. 56 ขยายตัวร้อยละ 0.8
  • กระทรวงพาณิชย์สหรัฐอเมริกาเผยว่า ตัวเลขการเริ่มสร้างบ้านในเดือนก.พ. 56 เพิ่มขึ้น 0.8% แตะที่ 917,000 ยูนิต นับเป็นสถิติที่สูงสุดในรอบเกือบ 5 ปี สะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวที่ดีขึ้นของตลาดที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯ ขณะที่ข้อมูลการอนุญาตก่อสร้าง เพิ่มขึ้น 4.6% แตะที่ 946,000 ยูนิต ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมิ.ย. 51
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การที่ยอดการสร้างบ้านของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวดีขึ้น เป็นผลจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ สะท้อนได้จาก GDP ไตรมาส 4 ปี 55 ขยายตัวร้อยละ 1.6 ต่อปี หรือร้อยละ 0.03 จากไตรมาสก่อนหน้า ทำให้ทั้งปี 55 ขยายตัวร้อยละ 2.2 ต่อปี ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน ก.พ. 56 อยู่ที่ระดับสูงถึง 69.6 จุด ปรับตัวสูงขึ้นมากจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 58.4 จุด จากดัชนีแนวโน้มเศรษฐกิจและธุรกิจที่ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับการจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯ ในเดือน ก.พ. 56 เพิ่มขึ้นถึง 236,000 ตำแหน่งจากเดือนก่อนหน้า สูงขึ้นต่อเนื่องจากเดือน ม.ค. 56 ที่เพิ่มขึ้น 119,000 ตำแหน่ง โดยภาคอุตสาหกรรมการผลิตมีตำแหน่งงานเพิ่มขึ้นถึง 14,000 ตำแหน่ง ในขณะที่ภาคค้าปลีกเพิ่มขึ้น 24,000 ตำแหน่ง ทั้งนี้ สศค. คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 56 จะขยายตัวที่ร้อยละ 2.2 (คาดการณ์ ณ เดือนธ.ค. 55)

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ