รายงานภาวะเศรษฐกิจรายวันประจำวันที่ 19 มีนาคม 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 19, 2013 11:22 —กระทรวงการคลัง

Macro Morning Focus ประจำวันที่ 19 มีนาคม 2556

Summary:

1. กระทรวงเกษตรชูลดต้นทุนผลิตข้าวร้อยละ 30 รับนโยบายโซนนิ่ง

2. แบงค์กรุงไทยตั้งเป้าสินเชื่อปีนี้โตร้อยละ 8.0-10.ล้านล้าน 2 หวังอานิสงค์โครงการ

3. ธนาคารกลางเยอรมนีเผยเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มฟื้นตัว แม้ออกตัวแผ่วต้นปี 56

Highlight:

1. กระทรวงเกษตรชูลดต้นทุนผลิตข้าวร้อยละ 30 รับนโยบายโซนนิ่ง
  • ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เผยว่าได้แต่งตั้งคณะทำงานจัดทำมาตรการลดต้นทุนสินค้าเกษตรโดยทำหน้าที่ประมวลวิเคราะห์และกำหนดมาตรการในการลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อให้เป็นกลไกในการขับเคลื่อนการลดต้นทุนการผลิตในแต่ละรายสินค้าทั้งในกลุ่มของพืชประมงและปศุสัตว์ โดยที่ผ่านมาได้มีการศึกษาทดลองและจัดทำเทคโนโลยีในการลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรมาอย่างต่อเนื่องเกือบทุกชนิดสินค้าโดยเฉพาะข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และมันสำปะหลัง ซึ่งมีเกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศเกี่ยวข้องมากกว่า 4 ล้านครัวเรือน ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงและสอดคล้องกับมาตรการการกำหนดเขตเศรษฐกิจรายสินค้า (Zoning)
  • สศค. วิเคราะห์ว่า การลดต้นทุนในการผลิตพืชโดยการ Zoning ดังกล่าวจะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรและจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจใน 2 ด้านคือ 1) ช่วยเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้เพาะปลูก เนื่องจากเมื่อต้นทุนในการผลิตลดลง แต่ราคาขายสินค้าเกษตรอยู่ในระดับเดิมจะทำให้เกษตรกรมีกำไรจากการขายเพิ่มขึ้น รายได้เกษตกรที่เพิ่มขึ้นจะสนับสนุนให้เกิดการบริโภคในสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆมากขึ้น 2) ลดการพึ่งพาสินค้านำเข้าโดยเฉพาะปุ๋ยเคมี และยาปราบศัตรูพืช โดยการปรับปรุงระบบการผลิตให้หันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตได้ในประเทศและมีต้นทุนถูกกว่า รวมถึงการนำเทคโนโลยีเครื่องจักรการเกษตรสมัยใหม่มาใช้ ซึ่งการนำเข้าในส่วนนี้ที่ลดลงจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เพิ่มขึ้นในอนาคต
2. แบงค์กรุงไทยตั้งเป้าสินเชื่อปีนี้โตร้อยละ 8.0-10.ล้านล้าน2 หวังอานิสงค์โครงการ
  • กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย (KTB) เปิดเผยว่า ในปี 56 ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อรวมเติบโตร้อยะ 8.0 -10.0 หรือคิดเป็น 1.5 เท่าของ GDP ที่คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวในอัตราร้อยละ 4.5 - 5.5 ซึ่งแนวโน้มไตรมาส 1/56 พบว่าการปล่อยสินเชื่อเติบโตได้ดียังสอดคล้องกับการเติบโตเศรษฐกิจไทย สำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลตาม พ.ร.บ. โครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 2 ล้านล้านบาทนั้น ยอมรับว่า ธนาคารหวังว่าจะได้รับส่วนในการสนับสนุนสินเชื่อ โดยเฉพาะสินเชื่อในภาคการก่อสร้าง
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจัยการเติบโตของสินเชื่อในช่วงที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจในประเทศ โดยข้อมูลล่าสุด ณ เดือน ม.ค. 56 สินเชื่อรวมขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 15.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวต่อเนื่องทั้งจากปริมาณสินเชื่อของสถาบันการเงินเฉพาะกิจและสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะสินเชื่อผู้บริโภค ซึ่งขยายตัวเร่งขึ้นร้อยละ 1.4 จากเดือนก่อนหน้า (ขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) ซึ่งสอดคล้องกับการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน โดยเฉพาะปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายรถคันแรก ทั้งนี้ อุปสงค์ในประเทศที่คาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่อง จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของสินเชื่อในระยะต่อไป
3. ธนาคารกลางเยอรมนีเผยเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มฟื้นตัว แม้ออกตัวแผ่วต้นปี 56
  • ธนาคารกลางเยอรมนี (บุนเดสแบงก์) เปิดเผยรายงานรายเดือนในวันนี้ว่า การปรับตัวที่อ่อนแรงของเศรษฐกิจเยอรมนี ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดของยุโรปในช่วงต้นปี 56 จะไม่ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัว แม้ว่าคำสั่งซื้อและผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีลดลงผิดคาดในเดือน ม.ค. แต่ธนาคารกลางเยอรมนีระบุว่าเศรษฐกิจยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัว โดยคาดว่าเศรษฐกิจเยอรมนีจะขยายตัวร้อยละ 0.4 ในปี 56 ซึ่งได้รับแรงหนุนจากตลาดการเงินที่ผันผวนน้อยลงและความเชื่อมั่นที่ปรับตัวดีขึ้นของบริษัทต่างๆ
  • สศค. วิเคราะห์ว่า ถึงแม้ว่าเศรษฐกิจในหลายประเทศในยุโรปจะยังคงประสบปัญหา โดยเมื่อพิจารณาจากอัตราการว่างงานโดยเฉลี่ยของยูโรโซน ณ ม.ค. 56 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ 11.9 ตลอดจน GDP ไตรมาส 4 ปี 55 ที่หดตัวร้อยละ -0.9 ต่อปี หรือหดตัวต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 3 ที่ร้อยละ -0.6 จากไตรมาสก่อนหน้า (หลังขจัดปัจจัยทางฤดูกาลแล้ว) บ่งชี้ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ที่ส่งผลให้ทั้งปี 55 GDP ของยูโรโซนหดตัวร้อยละ -0.5 อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจของเยอรมนีกลับมีทิศทางที่ดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจของเยอรมนีเดือนก.พ.เพิ่มขึ้นกว่า 3 จุด ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นมากที่สุดนับแต่เดือนก.ค.53 นอกจากนี้ อัตราว่างงานของเยอรมนีในเดือนก.พ.ลดลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน โดยอยู่ที่ร้อยละ 6.9 ซึ่งต่ำกว่าอัตราว่างงานโดยเฉลี่ยของยูโรโซนที่อยู่ที่ร้อยละ 11.9 ดังกล่าว

ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance

Tel: 02-273-9020 Ext. 3257


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ