Macro Morning Focus ประจำวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2556
1. "ซีอีโอแอร์เอเชีย" เข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ไทยเป็นฮับโลคอสแอร์ไลน์
2. Moody's ชี้ความเสี่ยงช่วงขาลงของเศรษฐกิจโลกลดลง
3. รองประธานธนาคารกลางสหรัฐสนับสนุนใช้มาตรการ QE ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจต่อไป
Highlight:
- ผู้บริหารสูงสุดของสายการบินแอร์เอเชีย เข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อพูดคุยในเรื่องธุรกิจการบิน โดยจะมีการปรับราคาเพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงสินค้าและซื้อตั๋วเดินทางได้ง่ายขึ้น สามารถขยายเส้นทางได้มากขึ้น โดยจะประสานงานร่วมกับทีโอที กระทรวงคมนาคม ในเรื่องเส้นทางและแนวทางการปรับอัตราค่าโดยสารลง ส่งผลให้มีการเดินทางโดยใช้การบินเชื่อมโยงทางอากาศต่อกันได้กว้างขวางและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และหวังว่าประเทศไทยจะเป็นฮับของโลคอสแอร์ไลน์ได้ในอนาคต
- สศค. วิเคราะห์ว่า ปัจจุบันท่าอากาศยานสุวรรณภูมิสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ปีละ 60 ล้านคน ในขณะที่ท่าอากาศยานดอนเมืองสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ปีละ 36 ล้านคน โดยจากข้อมูลบริษัทท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)เปิดเผยว่า การกลับมาเปิดใช้ท่าอากาศยานดอนเมืองรอบใหม่ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.55 ที่ผ่านมา สามารถสร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 3,000-4,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งนับเป็นรายได้ในระดับที่น่าพอใจ โดยมาจากการบริการเพียง 3 สายการบินคือ นกแอร์ แอร์เอเชีย และโอเรียนท์ไทย ซึ่งแอร์เอเชียถือเป็นสายการบินระหว่างประเทศเพียงสายการบินเดียวจาก 3 สายการบินที่เปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม หากท่าอากาศยานดอนเมืองเปิดใช้บริการเต็มรูปแบบ จะทำให้ช่วยแบ่งเบาความแออัดให้กับท่าอากาศยานสุวรรณภูมิได้ ประกอบกับในปี 58 จะมีการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ซึ่งจะช่วยรองรับความต้องการในการเดินทางทางอากาศของนักท่องเที่ยวได้อย่างเพียงพอ ทั้งนี้ สศค. คาดว่า ในปี 56 นักท่องเที่ยวต่างประเทศที่จะเดินทางเข้าประเทศไทยมีจำนวนประมาณ 24.0 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 8.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
- มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส (Moody's) สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระหว่างประเทศ รายงานว่า ความเสี่ยงในช่วงขาลงของเศรษฐกิจโลกในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ได้ลดลงแล้ว แม้ว่ายังคงมีปัจจัยเสี่ยงจำนวนมากอยู่ก็ตาม โดย Moody's คาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะเป็นไปอย่างซบเซา ในระยะใกล้นี้ประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนใหญ่จะมีการขยายตัวต่ำกว่าระดับแนวโน้ม ส่วนในตลาดเกิดใหม่จะมีอัตราการขยายตัวค่อนข้างอ่อนแอ นอกจากนี้ Moody's ยังได้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของประเทศกลุ่มจี-20 จะมีการขยายตัวที่แท้จริงในปี 56 และ 57 ที่ร้อยละ 2.9 และ 3.3 ตามลำดับ และเศรษฐกิจสหรัฐ จะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของยูโรโซนจะชะงักงัน
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจของหลายประเทศมีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้นเป็นลำดับ เช่น (1) เศรษฐกิจสหรัฐฯ เครื่องชี้ด้านการผลิตมีสัญญาณดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (ISM Mfg PMI) ในเดือน ม.ค. 56 อยู่ระดับสูงสุดในรอบ 1 ปี ที่ระดับ 53.1 จุด ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ (ISM Non-Mfg PMI) อยู่ที่ระดับ 55.2 จุด (2) เศรษฐกิจจีน เครื่องชี้ด้านการผลิตมีสัญญาณดีขึ้นเช่นเดียวกัน สะท้อนจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการที่จัดทำโดย NBS และ HSBC ในเดือน ม.ค. 56 อยู่ที่ระดับ 56.2 จุดและระดับ 54.0 จุด ตามลำดับ ซึ่งสูงสุดในรอบ 4-5 เดือน อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจยูโรโซนยังคงอยู่ในภาวะหดตัว สะท้อนจากเครื่องชี้ด้านการผลิตที่ยังอยู่ระดับต่ำกว่า 50 จุด ซึ่งบ่งชี้ถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจของยูโรโซนยังคงหดตัว โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อยูโรโซนในเดือน ม.ค. 56 อยู่ที่ระดับ 48.6 จุด เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ระดับ 47.2 จุด โดยดัชนีฯ ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการปรับเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 47.9 และ 48.6 จุด ตามลำดับ สำหรับเศรษฐกิจไทยก็ถือว่าเติบโตได้ดีอย่างต่อเนื่องตามทิศทางการเติบโตของเศรษฐกิจโลก จึงน่าจะเป็นปัจจัยที่ Moody's จะใช้พิจารณาประเมินอันดับเครดิตของประเทศไทยในอนาคต ภายหลังจากที่ได้จัดอันดับเครดิตของประเทศไทยล่าสุดไว้เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 53 โดยได้จัดเรตติ้งพันธบัตรไทยระยะยาวสกุลต่างประเทศอยู่ที่ระดับ Baa1
- นางเจเน็ต เยลเลน รองประธานคณะกรรมการผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวว่า นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากเป็นพิเศษของเฟด ถือเป็นสิ่งที่เหมาะสม เมื่อพิจารณาจากตลาดแรงงานสหรัฐที่ยังคงอยู่ในภาวะย่ำแย่ นอกจากนี้ ได้แสดงความผิดหวังต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในสหรัฐที่ยังอยู่ในภาวะต่ำ โดยกล่าวว่าความแตกต่างระหว่างภาวะการจ้างงานสูงสุด และภาวะยากลำบากเป็นอย่างมากที่คนงานเผชิญอยู่ในปัจจุบัน เป็นสิ่งที่อธิบายได้ว่าเพราะเหตุใด ธนาคารกลางสหรัฐจึงต้องรีบเร่งดำเนินความพยายามอย่างต่อเนื่องในการส่งเสริมการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และนโยบายงบประมาณที่ขาดความแน่นอนในสหรัฐ คือปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐอ่อนแอ
- สศค. วิเคราะห์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยไตรมาสที่ 4 ปี 55 ขยายตัวร้อยละ 1.5 ทำให้เศรษฐกิจทั้งปี 55 ขยายตัวร้อยละ 2.2 ส่วนเครื่องชี้ภาคเศรษฐกิจในเดือน ม.ค. 56 บ่งชี้ว่าส่วนภาคการผลิตขยายตัวดีต่อเนื่อง โดย PMI ภาคบริการในเดือน ม.ค. 56 สูงถึง 55.2 และ PMI ภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ 53.1 ขณะที่ อัตราการว่างงานได้ลดลงต่อเนื่อง โดยเดือน ม.ค. 56 อยู่ที่ร้อยละ 7.9 ของกำลังแรงงานรวม นอกจากนี้ ประธานาธิบดีได้นำเสนอนโยบายในหลายด้านซึ่งคาดว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายในประเทศ เช่นการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ การเสนอให้มีการจัดชั้นวัยเรียนสำหรับเด็ก 4 ขวบทั้งประเทศ การเจรจาข้อตกลงการค้ากับสหภาพยุโรป และการใช้จ่ายเงิน 50,000 ล้านดอลลาร์ในโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานที่เร่งด่วน นอกจากนี้ ประเด็นเพดานหนี้สาธารณะ (Debt Ceiling) ที่จะมีการเจรจาในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค. 56 ซึ่งจะกระทบต่อการดำเนินนโยบายการคลังของสหรัฐฯในอนาคต เราจะต้องติดตามข้อตกลงประเด็นดังกล่าวอย่างใกล้ชิดต่อไป ทั้งนี้ สศค. คาดว่า ในปี 56 เศรษฐกิจสหรัฐฯจะขยายตัวร้อยละ 2.2 ในปี 56 คาดการณ์ ณ เดือน ธ.ค. 55
ที่มา: Bureau of Macroeconomic Policy,Fiscal Policy Office, Ministry of Finance
Tel: 02-273-9020 Ext. 3257